ทัพ “EV –แบตเตอรี่” จีนบุกไทย ขอส่งเสริมทะลักแสนล้าน

17 เม.ย. 2567 | 06:05 น.

สึนามิลงทุนจีนทะลักไทย บีโอไอไฟเขียวอนุมัติส่งเสริมแล้วกว่าแสนล้าน ลุยดึงบิ๊กอีวี-7 ค่ายใหญ่แบตเตอรี่ปักฐานเพิ่ม ดันผงาดฮับยานยนต์แห่งอนาคต Great Wall Motor-NETA นำร่องผลิตแล้ว MG-BYD-AION ไล่ตามเริ่มปีนี้ วงการคาด 10 แบรนด์ใหญ่ทำตลาดไทยปีนี้ไม่ต่ำ 1 แสนคัน

บีโอไอระบุในการเดินทางโรดโชว์ 14 ประเทศของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ประเมินเม็ดเงินลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตรวมกว่า 558,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้คาดจะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า(EV) และชิ้นส่วนราว 210,000 ล้านบาท

ขณะที่นายเศรษฐา ประกาศกลางเวทีศึกอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ของพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า ตัวเลข 5.5 แสนล้านบาทเป็นตัวเลขจริงขอให้อดใจรอในอีก 2 ปีข้างหน้าจะเห็นเม็ดเงินลงทุนเข้าไทยอย่างมหาศาล หรือ “สึนามิแห่งการลงทุน”

ยักษ์ EV จีนแข่งปักฐาน

นายนฤตม์  เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบความสำเร็จในการช่วงชิงความเป็นผู้นำด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า(EV) เป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค จากข้อมูลสถิติการให้ส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 มีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนแล้วจำนวน 17 โครงการ มูลค่าการลงทุน 38,792 ล้านบาท กำลังการผลิตรวมกว่า 364,000 คัน

ทั้งนี้มีบริษัทจีนที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริม เช่น BYD, Changan Motor, SAIC-CP (MG), AION, NETA, Great Wall Motor เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) จำนวน 7 โครงการ มูลค่าการลงทุน 9,263 ล้านบาท กำลังการผลิต 159,600 คัน รถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (HEV) จำนวน 6 โครงการ มูลค่าการลงทุน 30,224 ล้านบาท คิดเป็นกำลังการผลิต 305,900 คัน

นฤตม์  เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

“ปัจจุบันผู้ลงทุนหลายรายได้เริ่มผลิตรถยนต์ BEV ในประเทศไทยแล้ว ตามข้อกำหนดจากมาตรการ EV3 เช่น Great Wall Motor และ NETA ขณะที่ MG, BYD และ GAC-AION ก็จะเริ่มผลิตภายในปี 2567 นี้ ส่วน CHANGAN อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานและคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในไตรมาสแรกของปี 2568”

ขณะที่ในส่วนของแบตเตอรี่สำหรับรถ EV ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 มีโครงการได้รับอนุมัติส่งเสริมลงทุนแล้ว 41 โครงการ เงินลงทุน 25,638 ล้านบาท หากรวมทั้งหมด 71 โครงการที่กล่าวมา จะมีมูลค่าเงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท (103,907 ล้านบาท) ยังไม่รวมสถานีชาร์จไฟฟ้า (EV Charging Station) ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมแล้ว 15 โครงการ เงินลงทุนรวม 4,403 ล้านบาท จำนวนหัวจ่ายประจุไฟฟ้ารวมกัน 18,223 หัวจ่าย

ทัพ “EV –แบตเตอรี่” จีนบุกไทย ขอส่งเสริมทะลักแสนล้าน

ดึง 7 ยักษ์แบตเตอรี่เข้าไทย

ล่าสุดระหว่างวันที่ 7-10 เมษายน บีโอไอได้จัดคณะเดินทางโรดโชว์มณฑลกวางตุ้ง และมณฑลฝูเจี้ยน ของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีเป้าหมายมุ่งเจาะกลุ่มบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับโลกจากจีน เพื่อดึงให้เข้ามาตั้งฐานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นนํ้าสำคัญที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดที่ต้องใช้แบตเตอรี่ในระบบกักเก็บพลังงาน

โดยบีโอไอได้พบและหารือกับผู้บริหารระดับสูงของ 7 บริษัทแบตเตอรี่ยักษ์ใหญ่ของจีน ได้แก่ บริษัท Contemporary Amperex Technology (CATL), China Aviation Lithium Battery (CALB), Inpow Battery Technology (IBT), Eve Energy, Gotion High-tech, Sunwoda และ SVOLT Energy Technology โดยได้นำเสนอศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยที่จะรองรับการลงทุนการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์

โชว์ 5 จุดแข็งไทยเอื้อลงทุน

ทั้งนี้ได้ชูจุดแข็งไทย 5 ด้าน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ผลิตแบตเตอรี่ใช้ในการพิจารณาตัดสินใจลงทุน ได้แก่

1.ศักยภาพของตลาด โดยเฉพาะการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) กว่า 22,000 คัน คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 15 ของการจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ทั้งหมด และในปีนี้ ค่ายรถยนต์ต่าง ๆ จะเริ่มผลิตรถยนต์ BEV ไม่ว่าจะเป็น Great Wall Motor, NETA, MG, BYD จะทำให้มีความต้องการแบตเตอรี่อีกเป็นจำนวนมาก

2.ปัจจัยพื้นฐานที่ดี ทั้งสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ความสัมพันธ์ที่ดีกับนานาประเทศ มิใช่ประเทศคู่ขัดแย้ง (Conflict-free zone) และโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ ทั้งสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา ระบบโลจิสติกส์ ท่าเรือ สนามบิน นิคมอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมและมีพื้นที่เหลือรองรับการลงทุนได้อีกกว่า 20,000 ไร่ ทั่วประเทศ

3.บุคลากรที่มีคุณภาพ ทั้งในระดับวิศวกร ช่างเทคนิค รวมทั้งยังมีมาตรการอำนวยความสะดวกในการนำเข้าผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรทักษะสูงจากต่างประเทศ ผ่าน Long-term Resident Visa (LTR Visa) และศูนย์บริการ One Stop Service ด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน

4.พลังงานสะอาด เป็นที่ต้องการของบริษัทแบตเตอรี่ชั้นนำ ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้พลังงานหมุนเวียนในกิจการให้มากที่สุด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็นโรงงาน Zero Carbon โดยประเทศไทยมีศักยภาพที่จะผลิตพลังงานสะอาดและป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรมผ่านกลไก Utility Green Tariff (UGT) ของกระทรวงพลังงาน

5. นโยบายรัฐบาลที่เปิดรับการลงทุนครั้งใหญ่ มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ และสิทธิประโยชน์ของบีโอไอ โดยเฉพาะ “มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS)”

“คาดว่าผู้ผลิตรายใหญ่อย่างน้อย 2 ราย จะมีความชัดเจนในการเข้ามาลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในไทย โดยแต่ละรายจะมีขนาดกำลังการผลิตในเฟสแรกประมาณ 6-10 GWh มูลค่าเงินลงทุนเฟสแรกรวมกันกว่า 30,000 ล้านบาท สำหรับรายอื่น ๆ บางส่วนกำลังเจรจาธุรกิจกับผู้ร่วมทุนฝั่งไทย และบางรายอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากเดิมวางแผนลงทุนผลิตเฉพาะโมดูลและแพ็ค แต่เมื่อทราบว่าประเทศไทยออกมาตรการพิเศษเพื่อส่งเสริมการผลิตเซลล์ จึงให้ความสนใจและจะพิจารณาแผนการลงทุนใหม่ ซึ่งบีโอไอจะติดตามอย่างใกล้ชิด”นายนฤตม์ เผยหลังเดินทางโรดโชว์จีน

ดันเต็มที่ฮับยานยนต์อนาคต

“การออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับรถ EV และระบบกักเก็บพลังงานในครั้งนี้ แสดงถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะสร้างฐานการผลิตวัตถุดิบต้นนํ้าของแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาดให้เกิดขึ้นในประเทศไทยให้ได้ โดยเฉพาะการดึงดูดการลงทุนจากผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำของโลก เพื่อทำให้ไทยเป็o Hub ของการผลิตแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร และเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกหลักของภูมิภาค”

นอกจากนี้ ในการเดินทางเยือนประเทศจีนครั้งนี้ บีโอไอยังได้พบหารือกับบริษัท XPeng Motor ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่อันดับ 11 ของจีน และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของจีนที่โดดเด่นด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงและมีการเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดรายหนึ่ง โดยในปี 2566 Xpeng ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าได้ 141,601 คัน เพิ่มขึ้นถึง 17% จากปี 2565 ล่าสุด Xpeng เพิ่งเปิดตัวในประเทศไทยในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมาและการพบบีโอไอในครั้งนี้ ได้มีการหารือแผนการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในระยะต่อไปด้วย ทั้งนี้บีโอไอจะได้ติดตามและประสานงานอย่างใกล้ชิดกับบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ 7 รายใหญ่ของจีน และค่ายรถ XPeng เพื่อดึงลงทุนไทยต่อไป

EV ทำยอดปีนี้เกินแสนคัน

แหล่งข่าววงการรถยนต์ เผยว่า ปี 2567 ค่ายรถยนต์จีนกว่า 10 แบรนด์พร้อมลุยตลาดในไทย และคาดจะทำยอดขาย EV รวมกันเกิน 1 แสนคัน ขณะเดียวกันบริษัทรถกลุ่มแรกๆ ที่เข้าโครงการ EV 3.0 ยังเริ่มขึ้นไลน์ประกอบ EV ในไทยตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้กับภาครัฐ หลังจากนำเข้ามาขายไปก่อนหน้านี้ (นำเข้า 1 คัน ต้องผลิตในประเทศคืน 1 คัน)

โดยช่วงครึ่งปีแรก ค่ายเกรท วอลล์ มอเตอร์ พร้อมผลิต ORA Good Cat ที่ปรับสเปกแบตเตอรี่ใหม่ รวมถึงเอ็มจี กับแฮตช์แบ็กพลังงานไฟฟ้า MG4 และเนต้า ในรุ่น Neta V-II

NETA-BYD-AION เปิดสายผลิต

นายชู กังจื้อ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เนเต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด เผยว่า บริษัทฯ เปิดสายพานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เริ่มจาก NETA V-II เป็นรุ่นแรก ซึ่งรถจะทยอยส่งมอบให้ลูกค้าชาวไทย ได้ตั้งแต่เดือนเมษายนนี้

“โรงงานประกอบรถยนต์ของ NETA ในไทยเป็นความร่วมมือระหว่าง NETA กับ บริษัท บางชันเยนเนอเรลเอเซมบลี จำกัด นับเป็นโรงงานผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า100% แห่งแรกของ NETA ที่ตั้งอยู่นอกประเทศจีน อีกทั้งยังเป็นโรงงานผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแห่งแรกที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดอากร พระนครฟรีโซน นิคมอุตสาหกรรมบางชัน พื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร” นายชู กังจื้อ กล่าว

นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังยังมี ค่ายรถจีนที่เตรียมคลอด EV ออกมาจากสายการผลิตในไทย อย่าง บีวายดี ในเดือนมิถุนายน รวมถึง จีเอซี ไอออน และ เชอรี่ กับแบรนด์ OMODA&JAECOO ในช่วงไตรมาส 3 ในส่วน บริษัท บีวายดี (ประเทศไทย) ลงทุนตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม WHA จังหวัดระยอง เตรียมขึ้นไลน์ประกอบ EV BYD DOLPHIN เป็นรุ่นแรก และมีแผนประกอบรถปลั๊ก-อินไฮบริด ด้วยเช่นกัน

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3984 วันที่ 18 -20 เมษายน พ.ศ. 2567