ผ่าผลงานรัฐบาลดึง 30 ค่ายรถยนต์ EV ทั่วโลก ปักธงลงทุนไทย

28 มี.ค. 2567 | 07:09 น.

ผ่าผลงานรัฐบาล 6 เดือน นายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” บิน เยือน 14 ต่างประทศพบปะหารือกับบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกกว่า 60 แห่ง พร้อมดึง 30 ค่ายรถยนต์ EV ทั่วโลก เช็ครายชื่อบริษัทต่าง ๆ ที่เตรียมปักฐานลงทุนในไทย

ภายหลังรัฐบาลตั้งโต๊ะแถลงผลการเดินทางเยือน 14 ต่างประทศ ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ของนายกรัฐมนตรี "เศรษฐา ทวีสิน" และคณะ ซึ่งได้เดินทางพบปะหารือกับบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกกว่า 60 แห่ง โดยหนึ่งอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ และเป็นเป้าหมายสำคัญของประเทศไทย นั่นคือ การดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรม ยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและประธานผู้แทนการค้าไทย และ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ผู้นำเสนอข้อมูลการดึงดูดนักลงทุน ระบุว่า การเดินทางของนายกฯ และคณะเน้นไปที่การดึงดูดการลงทุนใน 4 อุตสาหกรรม คือ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ Data Center และ Cloud Service รวมถึงกิจการสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarters) ซึ่งได้เสียงตอบรับที่ดี

โดยการดึงดูดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า บีโอไอ เห็นว่าเป็นอนาคตที่สำคัญของโลก รัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญในการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปภายใน (ICE) ไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จึงดำเนินมาตรการสนับสนุนหลากหลายรูปแบบ ทั้งดึงดูดผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหม่เข้ามาลงทุน และสนับสนุนผู้ผลิตรายเดิมให้สามารถปรับตัวได้

 

รัฐบาลตั้งโต๊ะแถลงผลการเดินทางเยือน 14 ต่างประทศ ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ของนายกรัฐมนตรี "เศรษฐา ทวีสิน" และคณะ

เมื่อเจาะลึกลงไปในรายละเอียดเกี่ยวกับการดึงดูดบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ EV เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ฐานเศรษฐกิจตรวจสอบข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีค่ายรถยนต์ EV มากกว่า 30 บริษัท ทั้งในรายที่เข้ามาลงทุนแล้ว กำลังเตรียมตัวเข้ามาลงทุน และอยู่ระหว่างการชักจูงเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แบ่งออกเป็นกลุ่ม ๆ ดังนี้

ค่ายรถยนต์ EV จีน

  • บริษัทเป้าหมาย/อยู่ระหว่างการหารือ : Xiaomi และกำลังหารืออีก 2 บริษัท 
  • จัดตั้งสำนักงานขาย/ทำตลาดในไทยแล้ว : Chery, X-Peng, Geely, Wuling, Nolt
  • ยื่นคำขอ BOI และอนุมัติโครงการแล้ว :BYD, Aion, Changan, MG, Foton
  • เริ่มผลิต BEV แล้ว : GWM, Neta

 

ค่ายรถยนต์ EV ญี่ปุ่น

  • ยื่นคำขอ BOI และอนุมัติโครงการแล้ว : Mitsubishi, Isuzu, Nissan
  • เริ่มผลิต BEV แล้ว : Toyota, Honda, Fomm, Takano

 

ค่ายรถยนต์ EV ประเทศอื่น ๆ

  • บริษัทเป้าหมาย/อยู่ระหว่างการหารือ : Volkswagen, Stellantis และกำลังหารืออีก 2 บริษัท 
  • จัดตั้งสำนักงานขาย/ทำตลาดในไทยแล้ว : BMW, Tesla, Vinfast, Hyundai, Kia
  • ยื่นคำขอ BOI และอนุมัติโครงการแล้ว : Horizon Plus
  • เริ่มผลิต BEV แล้ว : Mercedes-Benz, MINE Mobility

ทั้งนี้หากนับเฉพาะค่ายรถยนต์จากประเทศต่าง ๆ ที่ผลิตรถยนต์ EV ซึ่งนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ได้มีโอกาสเข้าพบนั้นมีด้วยกัน 13 บริษัท ประกอบด้วย Xiaomi, Geely, Mitsubishi, Isuzu, Nissan, Volkswagen, Stellantis, BMW, Tesla และ  Mercedes-Benz

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า ผลจากการเดินทางดึงดดูดการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้บริษัทผู้ผลิตจากจีนหลายรายในระดับท็อป 10 ของโลก เช่น BYD, Aion, Changan, GWM, MG เลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก 

 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

 

ทั้งนี้จากการเจรจาครั้งสำคัญเมื่อปีที่แล้วที่กรุงโตเกียว ทำให้ 4 ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นชั้นนำ มีแผนการขยายการลงทุนรวมกว่า 1.5 แสนล้านบาทภายใน 5 ปี สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสสำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานในการปรับตัวไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต และการรักษาธุรกิจ ICE ในปัจจุบัน ขณะที่รัฐบาลยังคงเดินหน้าเจรจากับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากยุโรปและอเมริกาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามบีโอไอ ประเมินเงินลงทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากกิจกรรม Roadshow และมาตรการสนับสนุนของรัฐบาล จาก 4 อุตสาหกรรมหลัก รวมแล้วประมาณ 558,000 ล้านบาท แบ่งเป็น อุตสาหกรรมดิจิทัล 250,000 ล้านบาท, อุตสาหกรรม EV และชิ้นส่วน 210,000 ล้านบาท, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเซมีคอนดักเตอร์ 95,000 ล้านบาท และอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น โลจิสติกส์ 3,000 ล้านบาท