‘ธนารักษ์’เล็งหารือคมนาคมสางปมร.ฟ.ท. เคาะความชัดเจนแผนพัฒนาที่ดินมักกะสัน

05 ธ.ค. 2559 | 05:35 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ธนารักษ์เล็งบุกคมนาคมจับเข่าหารือ “ออมสิน” เคลียร์ปมเจ้าภาพบริหารที่ดินมักกะสันเผยแนวโน้มร.ฟ.ท.มีโอกาสบริหารเองและเจ้ากระทรวงการคลังหนุนเต็มที่ ชี้ต้องเร่งปลดล็อกมติคนร.ให้แล้วเสร็จก่อน

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความชัดเจนของโครงการพัฒนาที่ดินแปลงมักกะสันว่าจะมีการหารือร่วมกับนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ในเร็วๆนี้ เพื่อเคาะความชัดเจน โดยก่อนหน้านี้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้แนะนำให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)เสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการ ร.ฟ.ท.ได้เลย แต่เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเคยมีมติคณะกรรมการนโยบายการลงทุนภาครัฐ(คนร.) ให้ร.ฟ.ท.เร่งโอนที่ดินแปลงมักกะสันให้กระทรวงการคลังโดยเร็วดังนั้นจึงต้องมีการปรับแก้มติดังกล่าวให้แล้วเสร็จก่อน

“นายอภิศักดิ์มองว่าหากกระทรวงการคลังรับโอนที่ดินมักกะสันมา ก็จะต้องไปว่าจ้างหน่วยงานอื่นบริหารจัดการเช่นเดียวกัน ดังนั้น ถ้า ร.ฟ.ท.รับไปดำเนินการเองจะเหมาะสมกว่า ซึ่งการรถไฟฯก็ยืนยันว่ามีความพร้อมดำเนินการอีกทั้งยังได้เคยศึกษาและจัดทำแผนการพัฒนารองรับไว้แล้ว เบื้องต้นสมัยพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังแบ่งพื้นที่สวนสาธารณะรองรับไว้ราว 100 ไร่ ให้บึงมักกะสันมีความสวยงาม ดังนั้นหากให้ร.ฟ.ท.ดำเนินการก็พร้อมต่อยอดผลการศึกษาได้ทันที”

ส่วนแผนการพัฒนาพื้นที่แปลงอื่นๆของร.ฟ.ท. ที่จะนำเข้าสู่ขั้นตอนการปฏิบัติตามพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ล่าสุดได้เสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)พิจารณาแปลงสถานีแม่น้ำ และสถานีกลางบางซื่อ แปลง A ดังนั้นหากจะดำเนินการแปลงมักกะสันก็จะต้องนำเสนอสคร.พิจารณาต่อไป

นายออมสินยังกล่าวถึงความคืบหน้าแผนการร่วมลงทุนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ส่วนต่อขยายช่วงพญาไท-บางซื่อ และบางซื่อ-ดอนเมือง ว่า รูปแบบการร่วมลงทุนจะเป็นแบบ Net Cost โดยมูลค่าทั้งโครงการกว่า 4 หมื่นล้านบาทซึ่งเอกชนจะร่วมลงทุนมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาทเศษ ส่วนภาครัฐลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาทเศษ

“ช่วงที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมก็ได้เคยปฏิบัติมาแบบนี้โดยรัฐจะลงทุนงานโยธาทั้งหมด ส่วนเอกชนจะเดินรถและจัดซื้อขบวนรถ ระบบอาณัติสัญญาณและอื่นๆ แต่ในช่วงที่มีการเปิดรับฟังความเห็นนักลงทุน(มาร์เก็ตซาวดิ้ง)เอกชนมีข้อเสนอว่ารัฐควรจะการันตีปริมาณผู้โดยสารที่ชัดเจน จึงได้เสนอให้ตัดประเด็นดังกล่าวนี้ออกไป เนื่องจากช่วงพญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิรัฐได้ลงทุนไปครบทั้งหมดแล้ว เอกชนจึงไม่ควรมีข้อเสนออื่นๆเข้ามาเพิ่มเติมได้อีก”

ทั้งนี้ในส่วนการร่วมลงทุนพีพีพีนั้นจะให้ครอบคลุมช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ ช่วงพญาไท-บางซื่อ และบางซื่อ-สุวรรณภูมิด้วยหรือไม่นั้นจะต้องรอให้สคร.พิจารณาความชัดเจน โดยแนวคิดควรจะต้องดำเนินการในส่วนตั้งแต่พญาไท-บางซื่อก่อนเพราะจะดำเนินการไปพร้อมกับการก่อสร้างรถไฟสายสีแดงอ่อนช่วงมิสซิ่งลิงค์ในบริเวณพื้นที่สถานีสามเสนที่จะเป็นช่วงคลองแห้งจะต้องก่อสร้างไปพร้อมกันเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบตามมาในภายหลังได้อีก

“ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพงจะมีการเว้นพื้นที่เอาไว้ให้ก่อสร้างแอร์พอร์ตลิงค์ส่วนต่อขยายนี้แล้ว ดังนั้นแอร์พอร์ตลิงค์ช่วงบางซื่อ-พญาไทควรจะดำเนินการไปก่อน เช่นเดียวกับช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองที่จะมีการแชร์เส้นทางวิ่งก็หารือให้ชัดเจนเพื่อจะดำเนินการต่อเนื่องกันไป ดังนั้นสคร.น่าจะเคาะออพชันดำเนินการให้ชัดเจนได้ อาทิ จะให้เอกชนลงทุนทั้งหมด หรือรัฐลงทุนบางส่วน ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการเตรียมส่งเรื่องดังกล่าวให้สคร.พิจารณา”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,215 วันที่ 4 - 7 ธันวาคม 2559