การต่อสู้ของสำนักพิมพ์

14 ตุลาคม 2559
ในยุคที่คนไทยไม่ค่อยอ่านหนังสือด้วยหนังสือ เอาแต่ก้มหน้าก้มตาอยู่กับหน้าจอสมาร์ทโฟนหรือแท็บเลต ก็ทำให้บรรดาสิ่งพิมพ์ย่ำแย่ เพราะตัวเลขยอดขายและรายได้ค่าโฆษณา นับวันผ่านไปมีแต่ลดลงๆ แล้วก็ลดลง โงหัวไม่ขึ้นเหมือนคนจับจ้องอยู่กับสมาร์ทโฟนอย่างนั้นแหละ ที่ไม่ค่อยจะละสายตาไปมองสิ่งที่อยู่รอบตัว

แต่บรรดาสำนักพิมพ์ต่างๆ ตอนนี้ยังเจอวิบากกรรมซ้ำอีกลูก เมื่อมีข่าวว่าสายส่งรายใหญ่รายหนึ่งขอขึ้น "ค่าจัดจำหน่าย" จาก 40% มาเป็น 42% และล่าสุดก็คือ 45% โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะยอดขายหน้าร้านหนังสือลดลงทำให้ขาดทุนจึงจำเป็นต้องขอขึ้นค่าจัดจำหน่าย จริงอยู่ที่ส่วนนี้เป็นเงินที่ถ้าหนังสือขายได้ก็จะหักเปอร์เซ็นต์ดังกล่าวไป ถ้าขายไม่ได้ก็ไม่หัก แต่ก็ถือว่าเยอะมากสำหรับสนพ.โดยเฉพาะสนพ.เล็กๆ

สถานการณ์ที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างนี้ ก็น่าเป็นห่วงว่าจะมีใครไม่ใคร ต้องหายหน้าไปจากแผงหนังสืออีก ก่อนหน้านิตยสารก็พาเหรดกันปิดตัวลงกันเป็นทิวแถวไปแล้ว เรียกได้ว่า มีข่าวให้เห็นกันเป็นระยะๆ และเชื่อว่าไม่ได้จบลงแค่นี้หรอก

งานมหกรรมหนังสือ ที่เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำรายได้เพิ่ม ที่จัดมาถึงครั้งที่ 21 แล้ว โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 13-24 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดยมีสำนักพิมพ์ไทยตอบรับเข้าร่วมงาน 406 ราย รวมทั้งสิ้น 934 บูธ บนพื้นที่ประมาณ 2.1 หมื่นตารางเมตร พร้อมร่วมลดราคาหนังสือสุดๆตั้งแต่ 15-80 % ไม่รู้ว่าจะกอบกู้สถานการณ์ให้บรรดาสนพ.ใหญ่-เล็กได้แค่ไหน

การขายหนังสือจากงานที่ได้มาเป็นเงินสด จึงถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญมากที่จะช่วยหมุนเวียนเงินทุนของสนพ. โดยมีการปรับตัวในการผลิตหนังสือเพื่อลดความเสี่ยง

นี่คงเป็นอีกเวทีหนึ่งที่บรรดาสนพ. จะลุกขึ้นมาต่อสู้ เพื่อต่อลมหายใจและหล่อเลี้ยงชีวิตสนพ. ให้คงอยู่ต่อไป แม้สถิติคนไทยจะอ่านหนังสือที่เป็นหนังสือจริงๆ น้อยลงก็ตาม แต่เวทีของธุรกิจการแข่งขันและการเอาตัวรอดเป็นเรื่องที่ต้องเผชิญและฝ่าฟันไปให้ได้ ก็ได้แต่หวังว่าทุกสื่อสิ่งพิมพ์จะต่อสู้แล้วได้มาซึ่ง "ชัยชนะ" ทุกคน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,200 วันที่ 13 - 15 ตุลาคม พ.ศ. 2559