หมื่นตึกเสี่ยงเลี่ยงตรวจอาคาร มหาดไทยสั่งเชือด-ปรับ-จำคุก

05 ต.ค. 2559 | 03:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

เส้นตาย 30 กันยายน 2559 ที่ กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรุงเทพมหานคร(กทม.)กำหนดให้ อาคาร 9 ประเภททั่วประเทศ ต้องมีใบร.1 หรือ ใบรับรองความปลอดภายต่อการใช้อาคารมาแสดง และต้องส่งถึงมือพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.1) อย่างไม่ขาดตกบกพร่องภายในกำหนด

 จับตาหมื่นตึกเสี่ยง

จากการตรวจสอบพบว่าทั่วประเทศ มีอาคารประมาณ 1หมื่นอาคารที่เจ้าของอาคาร ไม่เคยว่าจ้างบริษัทผู้ตรวจสอบอาคารหรือวิศวกร ตรวจสอบความปลอดภัยนับตั้งแต่ กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ตรวจสอบอาคาร 9 ประเภท ปี 2548 ประกาศใช้และให้มีผลในทางปฏิบัติจริงปี 2550 ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522

โดย กทม. มากสุด 4,000 อาคาร จาก 1.5 หมื่นอาคาร ขณะที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า มีกว่า 5,000 อาคาร จาก 2 หมื่นอาคารที่เลี่ยงตรวจสอบ อย่างไรก็ดี ประเมินว่า เส้นตายที่กำหนดนี้น่าจะออกใบร.1 ไม่ครบทั้ง 1 หมื่นอาคาร เพราะขั้นตอนค่อนข้างมาก นับตั้งแต่การจัดหาบริษัทผู้ตรวจสอบ ขณะที่วิศวกรเอง ไม่มีใครกล้าเซ็นรับรองง่ายๆหากอาคารไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน โดยเฉพาะอาคารเก่าที่สำคัญการออกใบร.1 หากวิศวกรพบว่า มีจุดบกพร่องในอาคาร เช่น ระบบหัวจ่ายนํ้าดับเพลิงไม่ทำงาน บันไดหนีไฟชำรุด โครงสร้างไม่มั่นคงแข็งแรงฯลฯ จะต้องสั่งให้เจ้าของอาคารแก้ไขทันที ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องใช้ระยะเวลา แต่ถ้าเป็นอาคารใหม่ที่เพิ่งเปิดใช้อาคาร 1 ปี - 2 ปี ถือว่า ไม่น่าจะมีปัญหา ซึ่งส่วนใหญ่อาคารที่ไม่ยินยอมตรวจสอบทางสำนักงานเขตของกทม. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่างระบุตรงกันว่าเจ้าของอาคารเข้าใจว่าอาคารยังมีความใหม่น่าจะมั่นคงแข็งแรง แม้กฎหมายกำหนดว่าอาคารที่เปิดใช้ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปต้องเข้าสู่ระบบการตรวจสอบ แต่มุมกลับกันแม้จะเป็นอาคารใหม่แต่หากเจ้าของอาคารไม่จัดระบบดับเพลิงให้พร้อมใช้งานหรือเป็นอาคารใหม่ที่สร้างผิดไปจากแบบ ก็ถือว่ามีความเสี่ยงได้เช่นกัน

 สั่งเชือดทันที

ขณะเดียวกัน หากพบอาคารเลี่ยงตรวจสอบ เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะต้องแจ้งความดำเนินคดีทันที คือปรับ 6 หมื่นบาท จำคุก 3 เดือนหรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละ 1 หมื่นบาทจนกว่าจะจัดหาผู้ตรวจสอบอาคารและใบร.1มาแสดงต่อเจ้าพนักงาน ซึ่งที่ผ่านมากรมโยธาได้มีหนังสือแจ้งต่อกทม.และ อปท. ให้ดำเนินคดี โดยเฉพาะ 76 จังหวัด 5,000 อาคาร ซึ่งกรมโยธาระบุว่า ส่วนใหญ่เจ้าพนักงานท้องถิ่นรายงานว่าได้แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมดแล้ว และได้เร่งนำอาคารเหล่านั้นเข้าสู่ระบบความปลอดภัยนับตั้งแต่วันที่ 30กันยายน 2559 เป็นต้นไป

 กทม.-โยธางัดข้อ

ขณะที่มุมของกทม. กลับมองว่า ท้องถิ่นสามารถผ่อนผันได้ โดยอาศัยอำนาจของท้องถิ่นเอง โดยในระยะ60 วัน จะต้องให้โอกาสเจ้าของอาคารที่พร้อมจะปรับตัว เส้นตายวันที่ 30 กันยายน ไม่มีใบร.1 มาแสดง ถึงจะเข้าสู่โหมดลงโทษ คือ ปรับ 6 หมื่นบาท ปรับวันละ 1 หมื่นบาท แต่เรื่องจำคุก 3 เดือน กทม.จะยังไม่นำมาใช้ โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจาก เป็นกฎหมายใหม่ที่ อ่อนประชาสัมพันธ์ และเจ้าของอาคารไม่ทราบข้อเท็จจริงอยู่ในข่ายไม่เจตนาหลบเลี่ยง แม้กระทั่งท้องถิ่นอย่างสำนักงานเขต ต่างเข้าใจคนละทิศละทางว่า การตรวจสอบอาคาร 9 ประเภทที่อยู่ในข่ายตรวจสอบ จะต้องเป็นอาคารที่ต่อเติมดัดแปลงผิดไปจากแบบ เท่านั้น

ซีกกรมโยธาธิการและผังเมืองสะท้อนกลับว่า ที่ผ่านมาได้มีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และ ท้องถิ่นในฐานะผู้ปฏิบัติจะต้องเข้าใจข้อกฎหมาย ที่สำคัญไม่ควรผ่อนผัน เนื่องจากกทม.เป็นมหานครใหญ่ที่ถือว่ามีอาคารเสี่ยงเกิดขึ้นมากที่สุดและมีผู้คนใช้สอยอาคารมากที่สุดจะต้องคำนึงถึงชีวิตและความปลอดภัย หากผ่อนผันอนาคตอาจเกิดโศกนาฏกรรมขึ้นได้ ซึ่ง ที่ผ่านมา 9 ปีนับจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ ที่อาคารเหล่านั้นหลุดรอดสายตามาได้ ประเมินว่า เจ้าพนักงานท้องถิ่นและเจ้าของอาคารจงใจละเลยและขาดความรับผิดชอบเสียมากกว่า

 ย้อนรอยตรวจตึกเสี่ยง

ปฏิบัติการไล่ล่าตึกเสี่ยง 9ประเภท มีชนวนใหญ่มาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรง กว่า 2 ปีที่ผ่านมาที่จังหวัดเชียงราย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ส่งผลทำให้อาคารบ้านเรือนพังพาบเป็นบริเวณกว้าง ทิ้งช่วงมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2559 เกิดโศกนาฏกรรมเพลิงไหม้ใหญ่หอพักนักเรียนหญิงที่โรงเรียนกินนอนแห่งหนึ่งในอำเภอเวียงป่าเป้าจังหวัดเชียงราย มีนักเรียนเสียชีวิต 17 ราย ตามด้วยความโกลาหล จากเหตุโรงภาพยนตร์เมเจอร์สาขาปิ่นเกล้าในเขตกรุงเทพมหานคร สร้างความแตกตื่นท่ามกลางผู้เข้าใช้อาคารและโรงภาพยนตร์เป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา

 สแกนยิบทั่วไทย

3 เหตุการณ์ใหญ่ ส่งผลให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.1) มีคำสั่งด่วนเป็นระยะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมโยธาธิการและผังเมือง ในฐานะผู้ออกกฎ กรุงเทพมหานคร และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ทั่วประเทศ อาทิ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ในฐานะผู้นำกฎไปปฏิบัติ ลงพื้นที่ตรวจสอบยิบ โดยเฉพาะอาคารที่อยู่ในข่าย9 ประเภท ที่มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากมีผู้ใช้สอยอาคารมากที่สุด ประกอบด้วย 1.อาคารสูง 2.อาคารขนาดใหญ่พิเศษ 3.โรงมหรสพ 4.โรงงาน 5.ป้าย 6.โรงแรม 7.อาคารชุมนุนคน 8. สถานบันเทิง และ9.อาคารอยู่อาศัยรวม ที่ทุกอาคารนับตั้งแต่เปิดใช้อาคารนับตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป เจ้าของอาคารต้องจ้างบริษัทผู้ตรวจสอบหรือวิศวกรตรวจสอบ ความปลอดภัยพร้อมทั้งเช็นรับรองเพื่อออกใบร.1 หรือ ใบรับรองความปลอดภัยอาคาร มาแสดง ขณะเดียวกันก็ไม่มองข้ามอาคารเล็กที่มีความเสี่ยงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

คอนโด-หอพัก-รร.มากสุด

จากตัวเลขที่ปรากฏ พบว่าคอนโดมิเนียม หอพัก อพาร์ตเมนต์โรงแรมขนาดเล็ก ป้าย เสี่ยงมากสุด โดยต่างจังหวัดที่พบมากจะเป็นหัวเมืองใหญ่อาทิ เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ ชะอำหัวหิน พัทยา เป็นต้น หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าปล่อยผ่านมาได้อย่างไร เหตุใดท้องถิ่นจึงเพิกเฉย ซึ่งเรื่องนี้ทุกฝ่ายควรระดมสมอง และเพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงตัวเจ้าของอาคารมากขึ้น

 ทางออกรื้อใหญ่กม.

แม้จะมีเส้นตายว่าทุกอาคารที่เลี่ยงต้องมีใบร.1 ตามกำหนด แต่ อนาคต อาจจะเกิดเหตุการณ์ หลบเลี่ยงขึ้นอีก หรือ เจ้าของอาคาร อาจใช่อิทธิพลบีบบังคับบริษัทตรวจสอบอาคารเซ็นรับรองความปลอดภัยอาคารให้ หากไม่ เซ็นก็ไม่จ่ายเงินและจ้างบริษัทรายใหม่ ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ต่างกับการ หาบริษัทตรวจเซ็คสภาพรถ ที่จะต้องหาบริษัทที่ เข้าข้าง ทางออก กรมโยธา เตรียมแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร ปี 2548 โดยมีสาระสำคัญคือ ทุกอาคารที่อยู่ในข่ายอาคาร 9 ประเภท กรมโยธาหรือ ท้องถิ่นจะเป็นผู้จัดหาบริษัท ตรวจสอบอาคารที่ขึ้นทะเบียนอยู่ในขณะนี้ ออกไปตรวจสอบให้ แทนที่จะเปิดช่องให้เอกชนจัดหาบริษัทตรวจสอบอาคารมาตรวจสอบอาคารของตนเองเอง คาดว่า มาตรการนี้ จะเข้าสู่คณะกรรมการควบคุมอาคาร ที่มีอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นประธานในเดือนตุลาคมนี้

รวมถึงการขยายอาคาร 9 ประเภทออกไปให้ครอบคลุมถึงความปลอดภัยมากขึ้นนั้นคือ โรงเรียนกวดวิชาที่แอบซุกอยู่ในอาคารพาณิชย์ บ้านพักคนชรา โรงพยาบาล สถานศึกษา เป็นต้น

คงต้องจับตากันต่อ สำหรับหลังเส้นตาย 30 กันยายนนี้ จะมีอาคารเสี่ยงเข้าสู่ประตูตรวจสอบทุกปีครบถ้วนหรือไม่หรือมีอาคารไหนที่ต้องถูกกาหัวห้ามใช้อาคาร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่ากฎหมายจะออกมาดีแค่ไหน หาก ผู้ปฏิบัติ ไม่นำไปใช้ในทางที่ถูกที่ควร ไม่มีจิตสำนึก ก็ยากที่จะควบคุมได้เช่นกัน !!!!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,197 วันที่ 2 - 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559