สกว.ถอดบทเรียนธรณีพิบัติอิตาลี-เมียนมา

25 ส.ค. 2559 | 11:33 น.
รศ.ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ รองผู้อำนวยการด้านการสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานเปิดการแถลงข่าวแผ่นดินไหวอิตาลี-เมียนมา: ผลกระทบต่อตึกสูง-โบราณสถานในประเทศไทย” เพื่อวิเคราะห์เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศอิตาลีและเมียนมา ด้วยองค์ความรู้และประสบการณ์ของนักวิชาการชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. เพื่อนำมาเป็นบทเรียนและปรับใช้ในการจัดการภัยพิบัติแผ่นดินไหว และการบูรณะโบราณสถานของประเทศไทยต่อไป

ผศ. ดร.ภาสกร ปนานนท์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เหตุธรณีพิบัติที่อิตาลีเกิดจากการชนและมุดตัวกันกันของแผ่นธรณีหลายแผ่นบริเวณแนวเทือกเขาตอนกลางของอิตาลี เกิดเป็นเทือกเขายาวตรงกลางขนานไปเกือบทั้งประเทศอิตาลี นอกจากนี้ทางด้านบนของอิตาลียังเป็นแนวชนกันของแผ่นทวีปแอฟริกากับแผ่นทวีปยูเรเซีย ทำให้มีลักษณะธรณีวิทยาที่ซับซ้อนมาก และมีแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง 5-6 มาโดยตลอด เมื่อมีการสะสมพลังงานจนถึงจุดที่ทนไม่ไหวและเกิดแผ่นดินไหวขึ้น ส่วนการช่วยเหลือของทางการเนื่องจากอยู่ในหุบเขาทำให้การคมนาคมไม่สะดวก การช่วยเหลือจึงมีอุปสรรค และเป็นบทเรียนที่ไทยจะต้องศึกษา

ส่วนการเกิดแผ่นดินไหวที่เมียนมาอยู่ในระดับลึก 84 กม. ประชาชนอาศัยไม่หนาแน่นทำให้ความเสียหายไม่ปรากฏชัดเท่าการเกิดในตัวเมืองมากนัก สาเหตุเกิดจากแผ่นเปลือกโลกอินเดียเคลื่อนที่ทางเหนือชนกับเปลือกโลกยูเรเชียเช่นเดียวกับที่เนปาล การมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกลงข้างล่างและเกิดการสะสมพลังงานจำนวนมากจนแตกหักในที่สุด หลังจากนี้คาดว่าจะเกิดอาฟเตอร์ช็อคจำนวนมาก แต่ทำนายไม่ได้ว่าจะมีขนาดเท่าใด และเป็นที่กังวลว่าหากในอนาคตเกิดแผ่นดินไหวในขนาดระดับนี้ในชุมชนจะสร้างความเสียหายมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้จุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากประเทศไทยค่อนข้างมากจึงไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยได้ อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังมีความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวจากหลักฐานที่ชัดเจนว่าเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดปานกลางประมาณ 10 ครั้ง แต่โชคดีที่ห่างไกลจากชุมชนจึงไม่เกิดความเสียหายมากนัก

ด้าน ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าแผ่นดินไหวระดับตื้นที่อิตาลีทำให้อาคารบางส่วนที่เป็นอาคารเก่าสร้างมานานและไม่ได้เสริมกำลังจึงมีผู้เสียชีวิตบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ขณะที่แผ่นดินไหวระดับลึกในเมียนมามีความพิเศษ คือ เป็นคลื่นขนาดใหญ่ที่สามารถส่งกระจายพลังงานไปได้ไกลจึงรู้สึกได้ถึงประเทศข้างเคียงรวมถึงไทยด้วย อาคารโบราณสถานที่ไม่ได้สร้างตามหลักวิศวกรรมจึงมีความเสี่ยงอยู่แล้ว เมื่อเกิดแผ่นดินไหวจึงได้รับความเสียหายอย่างมาก

สำหรับผลกระทบต่อโบราณสถานนั้น รศ. ดร.นคร ภู่วโรดม จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า จุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวที่เมียนมาอยู่ใกล้บริเวณเมืองพุกาม และมีการรับรู้เป็นวงกว้างจนถึงประเทศบังกลาเทศ อินเดีย และไทย สิ่งที่คล้ายกันในเมืองเหล่านี้คือเป็นเมืองใหญ่ที่ตั้งอยู่บนที่ลุ่มแม่น้ำใหญ่ หรือที่ราบลุ่มน้ำท่วม ชั้นดินใต้ของเมืองเหล่านี้เป็นดินอ่อนและสามารถขยายคลื่นให้รุนแรงมากกว่าชั้นดินที่แข็งแรง ทั้งนี้ในปี 2546 เคยเกิดแผ่นดินไหวปานกลาง 6.5 ที่เมียนมาที่มีตำแหน่งใกล้เคียงกับครั้งนี้ ซึ่งรับรู้ได้ถึงกรุงเทพมหานครและเชียงใหม่จนเกิดความรู้สึกอย่างรุนแรง ผู้คนแตกตื่น อาคารแตกร้าว การก่อสร้างอาคารในแอ่งดินอ่อนจึงต้องครอบคลุมมาตรฐานการออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหวด้วย ผลการศึกษาจากทุนวิจัยของ สกว. พบว่าดินอ่อนที่แอ่งเมืองเชียงใหม่อยู่บริเวณร่องแม่น้ำปิง นักวิจัยให้ข้อสังเกตว่าจะต้องศึกษาให้เข้าใจกลไกการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงของแอ่งดินดังกล่าว รวมถึงคุณสมบัติของชั้นดินในกรุงเทพฯที่เป็นดินประเภทอ่อนมากและต้องระมัดระวังในการออกแบบ ซึ่งนักวิจัยจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้เป็นมาตรฐานการออกแบบเพื่อรับมือแผ่นดินไหวต่อไป

ทั้งนี้พุกามเป็นเมืองแห่งทะเลเจดีย์หรือดินแดนแห่งเจดีย์สี่พันองค์ มีอายุกว่า 700 ปี เทียบเคียงสมัยล้านนาหรือสุโขทัยของไทย การเสียหายที่เกิดขึ้นคาดว่าเกิดจากคุณสมบัติเชิงวิศวกรรมของวัสดุมีการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา โดยประมาณคือคุณสมบัติด้านความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของอิฐและวัสดุประสานโบราณอาจมีค่าต่ำกว่าค่าของวัสดุคอนกรีตปัจจุบันกว่าหลายสิบเท่าตัว และมีรูปทรงที่ไม่สามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้ ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรง

ปัญหาด้านการอนุรักษ์โบราณสถานให้มั่นคง ได้แก่ ขาดข้อมูลในการตัดสินใจและวางแผน ทั้งข้อมูลสภาพปัจจุบันของโครงสร้างโบราณสถานด้านต่าง ๆ เช่น ขนาด รูปทรง ลักษณะของรอยร้าว การเอียงตัว รวมถึงข้อมูลด้านคุณสมบัติวัสดุ ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อความมั่นคง กำลังและสมรรถนะของโครงสร้างที่สามารถรับแรงรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนขาดการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่ทันสมัยและเหมาะสม และที่สำคัญคือขาดบุคลากร งบประมาณ และความต่อเนื่องในการแก้ปัญหา ทั้งนี้ปัจจุบันนักวิจัยได้รับการสนับสนุนจาก สกว. ในการทำวิจัยโครงการ “อนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานด้วยหลักวิศวกรรม” ซึ่งหวังว่าจะถ่ายทอดสู่ผู้ปฏิบัติโดยเฉพาะกรมศิลปากรได้อย่างยั่งยืน โดยจะรวบรวมข้อมูลพื้นฐานของโครงสร้างโบราณสถานและพัฒนากระบวนการจัดทำฐานข้อมูลทางวิศวกรรมของโบราณสถาน พัฒนาแนวทางการประเมินความมั่นคงของโครงสร้างโบราณสถาน เสนอวิธีซ่อมแซมและเสริมความมั่นคงแข็งแรงให้แก่โครงสร้าง รวมถึงสำรวจธรณีฟิสิกส์เพื่อสนับสนุนการบูรณปฏิสังขรณ์และการขุดค้นทางโบราณคดี เช่น เมืองโบราณใต้ดิน

  ผศ.ดร.ฉัตรพันธ์ จินตนาภักดี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความเสียหายของอาคารจากเหตุแผ่นดินไหวในอิตาลี และการเทียบเคียงผลกระทบต่ออาคารสูงในประเทศไทยว่า อาคารส่วนใหญ่ไม่สูงมากเพราะอยู่ในเมืองเล็ก อ่อนแอและมีน้ำหนักมาก ใช้อิฐก่อหรือหินก่อที่ไม่มีการเสริมเหล็ก ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบมากในต่างประเทศแต่ไม่ค่อยพบในประเทศไทย และการเสียชีวิตมักเกิดจากซากวัสดุถล่มทับ จากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นบทเรียนว่าเหตุการณ์รุนแรงเช่นนี้อาจเกิดขึ้นได้อีกในภาคเหนือของไทยและความเสียหายอาจมากกว่าครั้งก่อนที่เชียงรายหากเกิดใกล้กับตัวเมือง