จารจารึกมังกรสุพรรณ บรรหาร ศิลปอาชา

22 พ.ค. 2559 | 03:00 น.
รู้หรือไม่คะว่า “หลงจู๊” คืออะไร คำถามเปิดการอภิปรายทางวิชาการ “ประเทศไทยหลังยุคบรรหาร: เศรษฐกิจ การเมือง เครือข่ายอุปถัมภ์ ในสุพรรณบุรี และอนาคตพรรคขนาดกลาง” ของ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือปฐมบทการเริ่มต้นเรื่องราวของชายเชื้อสายจีน ผู้เกิดในครอบครัวพ่อค้าประกอบอาชีพค้าฝิ่นโดยถูกต้องตามกฎหมาย อาศัยอยู่ในตลาดเมืองสุพรรณบุรี ชายคนเดียวกับผู้ครองความนิยมในจังหวัดบ้านเกิดตนเอง ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรีถึง 11 สมัย ชายผู้ที่มีลายเซ็นของตนเองในธนบัตรทุกใบเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ชายผู้ปกป้องรักษาพรรคการเมืองแรกที่เขาเข้ามาในฐานะสมาชิกพรรค เลขาฯพรรค และหัวหน้าพรรค จนวันสุดท้ายของชีวิต และก็เป็นชายคนเดียวกันกับผู้ที่ผลักดันตนเองจนก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้บริหารสูงสุดในประเทศ โดยการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ของไทย “บรรหาร ศิลปอาชา”

[caption id="attachment_54913" align="aligncenter" width="391"] บรรหาร ศิลปอาชา บรรหาร ศิลปอาชา[/caption]

ผศ.ดร.โยชิโนริ นิชิซากิ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ อาจารย์ผู้ศึกษาเส้นทางการครองอำนาจของคุณบรรหาร ศิลปอาชา แบบเจาะลึกตลอดหลายปีที่ผ่านมาจนเกิดเป็นงานวิชาการสำคัญถึง 2 เล่มด้วยกันคือ “Political Authority and Provincial Identity in Thailand: The Making of Banharn-buri” และ “The King and Banharn: Towards and elaboration of network monarchy in Thailand” เริ่มต้นเล่าถึงคุณบรรหารว่าเขาคือ “A man of contrasts and paradoxes” นักปกครองที่คนในกรุงเทพฯ อาจไม่ชอบนัก แต่คนสุพรรณ (บุรี) รักและเทิดทูนเขาดุจผู้นำทางจิตวิญญาณ เหตุเพราะคุณบรรหารได้เปลี่ยนความรู้สึกของคนสุพรรณจากการเป็นเมืองที่ดูล้าหลัง (Backward) สู่การเป็นเมืองที่คนพูดถึงทั้งประเทศในฐานะเมืองต้นแบบที่คนทั้งประเทศอยากมีและอยากเห็น ความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้นได้สร้างความรู้สึก “จังหวัดนิยม” ขึ้นอย่างชัดเจน คุณบรรหารคือนักปกครองยุคเดิมที่เข้าถึงคนยุคใหม่ด้วยการทำให้ระบบอุปถัมภ์เข้าไปทำงานถึงในระดับจิตใจ เป็น “บรรหารบารมี” อย่างแท้จริง

ไม่ว่าจะขับรถมาจากถนนเส้นใด เมื่อเข้าถึงสุพรรณบุรีสิ่งที่ทุกคนสัมผัสได้ทันทีคือถนนที่ราบเรียบไร้ที่ติ เสาไฟสูงตระหง่านสว่างไสว ต้นไม้ถูกตัดแต่งอย่างสวยงามทั้งบนเกาะกลางถนนและ 2 ข้างทาง

คุณนิกร จำนง สมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา กุนซือผู้อยู่เคียงข้างมังกร สะท้อนภาพ “งาน” ผ่านคำพูดที่คุณบรรหารเคยกล่าวไว้ว่า “ถนนที่สุพรรณ ผมทำมาทั้งชีวิต” ถนนที่สุพรรณคือภาพสะท้อนของการทำงานที่ทุ่มสุดตัวของคุณบรรหาร ในฐานะผู้ปกครองท่านต้องการทำให้สุพรรณคือเมืองต้นแบบ ให้ทุกคนเห็นภาพสะท้อนความต้องการผ่านนโยบายทางการเมืองทำให้ประเทศไทยมีความเข้มแข็ง ได้รับการพัฒนาเฉกเช่นเดียวกับเมืองสุพรรณ

“การทำงานคุณบรรหารมักจะสอนคนใกล้ตัวเสมอว่า มองคนที่อยู่ใกล้งานมากที่สุดแล้วให้เขาทำ งานนั้นจะเสร็จไว”

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทั้งชีวิตของคุณบรรหารนับตั้งแต่เด็กชายอายุ 17 ขอเลือกเดินตามเส้นทางของตัวเอง สร้างฐานะจากการเปิดร้านขายกาแฟจนมีธุรกิจเป็นของตัวเอง สร้างเครือข่าย สร้างความเชื่อมั่นและได้รับการยอมรับจนสามารถกลับมาแทนคุณแผ่นดินเกิดจนเต็มความสามารถ ใครๆ ต่างก็คิดว่าคุณบรรหารคงมีคฤหาสน์หลังโตที่สุพรรณ แต่ไม่ใช่เลย “สุพรรณบุรีคือบ้านทั้งหลังของคุณบรรหารต่างหาก”

การเป็นเจ้าเมือง เป็นผู้ปกครอง ที่รักและหวงแหนบ้านของตนเอง สุพรรณบุรีจึงยังคงเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ของทุ่งนาและผืนดินเพื่อทำการเกษตร เมืองที่ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม เมืองที่ไม่เห็นขยะรกสายตา เมืองที่ยังคงความภูมิใจในสำเนียงเสียงเหน่อสไตล์สุพรรณบุรี เช่นเดียวกับ “พรรคชาติไทยพัฒนา” ที่คุณบรรหารใช้ทั้งชีวิตในการวางรากฐาน กำหนดนโยบาย สร้างภาพลักษณ์ที่เด่นชัดในฐานะพรรคการเมืองขนาดกลางที่มีความสำคัญในรัฐสภาเสมอมา คุณนิกรกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “พรรคชาติไทยพัฒนามีจิตวิญญาณเดียวคือพรรคชาติไทย กรอบโละชื่อชาติไทยพัฒนานั้นหุ้มอยู่บนแผ่นหินอ่อนสลักคำว่าชาติไทย เพราะฉะนั้นไม่ว่าวันพรุ่งนี้จะเป็นเช่นไร สิ่งที่คุณบรรหารสร้างไว้ทำให้ความเป็นพรรคไม่ได้ตายไปพร้อมกับคุณบรรหาร”

งานอภิปรายทางวิชาการนี้ไม่ได้จบลงเพียงการย้อนระลึกและมองทางออกของทิศทางการเมืองเมื่อไร้คุณบรรหาร ศิลปอาชา แต่ยังฉายภาพทิศทางการก่อให้เกิดอำนาจและมุมมองทางรัฐศาสตร์โดย รศ.สุชาย ตรีรัตน์ และ ผศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อีกด้วย

หากเป็นไปตามที่คุณนิกรพูดวันนี้ร่างของคุณบรรหาร คงได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากคนบ้านเดียวกันแบบเต็มกอด พร้อมเร่งตระเตรียมสร้างอนุสาวรีย์ไว้ ณ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ที่แรก ที่คุณบรรหารให้สัตย์อธิษฐานกลับมาแทนคุณบ้านเกิด เส้นทางความสำเร็จของชายที่ชื่อว่า บรรหาร ศิลปอาชา กับการบริหารแบบ“หลงจู๊” ที่เข้าถึง เข้าใจ งานทุกอย่างแบบถึงลูกถึงคน ตรวจสอบทุกกระเบียดนิ้ว สร้างความจดจำให้กับทุกคนในประเทศไทยแม้ในวันที่ชายผู้นี้จากไป ตำแหน่งอดีตนายกรัฐมนตรีอาจค่อยๆ เลือนลางและจางหาย แต่ในฐานะผู้ปกครองที่เข้าถึงจิตวิญญาณสุพรรณบุรีจะคงอยู่ตลอดกาล

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,159 วันที่ 22 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559