ส่งออกมกราคม เขย่าขวัญ รายสินค้าลุ้นทั้งปีพลิกบวก

08 มี.ค. 2559 | 05:00 น.
จากตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนมกราคมประเดิมเดือนแรกของปี 2559 ยังติดลบหนักถึง 8.9 % โดยมีมูลค่าการส่งออกเพียง 1.57 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นมูลค่า และอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 4 ปี 2 เดือน (นับจากเดือนพฤศจิกายน 2554) และการติดลบดังกล่าวถือเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ขณะที่ภาพรวมการส่งออกของไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2556-2558)ยังติดลบต่อเนื่องเช่นกันโดยติดลบ -0.26, -0.43 และ -5.78% ตามลำดับ

[caption id="attachment_36291" align="aligncenter" width="700"] ตลาดส่งออกสินค้าไทย 5 อันดับแรกในทุกสินค้า ตลาดส่งออกสินค้าไทย 5 อันดับแรกในทุกสินค้า[/caption]

แน่นอนว่าตัวเลขการส่งออกซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศเมื่อลดลงยอมส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง คำถามจากนี้คือ ภาคการส่งออกจะยังเป็นที่พึ่งของประเทศได้หรือไม่ และสถานการณ์ทิศทาง และแนวโน้มนับจากนี้จะเป็นอย่างไร จะสามารถขยายตัวได้ถึง 5% ตามที่กระทรวงพาณิชย์ ได้ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ ซึ่ง "ฐานเศรษฐกิจ"ได้ตรวจสอบผู้ประกอบการตัวจริง เสียงจริง พบส่วนใหญ่ตั้งความหวังในเดือนที่เหลือของปีนี้การส่งออกจะปรับตัวดีขึ้น ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่มีอยู่มาก และเป็นปัจจัยที่ไม่แตกต่างไปจากในปีที่ผ่านมามากนัก
-รถยนต์ลุ้นทั้งปี 1.25 ล้านคัน

โดยในกลุ่มสินค้ารถยนต์ สินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทย นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า แม้การส่งออกในหลายสินค้าในเดือนมกราคม 2559 จะติดลบ แต่ในสินค้ารถยนต์ ยอดการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ยังขยายตัวเป็นบวกที่ 4% และจำนวนคันก็เพิ่มขึ้น 1.3% เป็นผลจากไทยส่งออกรถปิกอัพหลังค่ายต่างๆ มีการเปลี่ยนรุ่น รวมถึงส่งออกรถ PPV (รถปิกอัพดัดแปลง)ที่มีมูลค่าสูงกว่ารถอีคาร์ได้มากขึ้น ซึ่งในภาพรวมไตรมาสแรกรวมถึงการส่งออกรถยนต์ทั้งปีนี้คาดจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยทางกลุ่มตั้งเป้าหมายการส่งออกไว้ที่ 1.22-1.25 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีการส่งออก 1.20 ล้านคัน

อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบที่ต้องเฝ้าระวัง ที่สำคัญคือกรณีที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้จาก 3.6% ลงเหลือ 3.4% ราคาน้ำมันจะปรับลดลงอีกหรือไม่ เพราะมีผลต่อรายได้ของกลุ่มประเทศตะวันออกหนึ่งในตลาดหลักที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันมีรายได้ลดลง ขณะที่เศรษฐกิจ และค่าเงินรูเบิลของรัสเซียอีกหนึ่งตลาดยังน่าเป็นห่วง หากเศรษฐกิจยังชะลอตัว ค่าเงินรูเบิลอ่อนจะมีผลต่อการนำเข้าสินค้า รวมถึงการสงครามระหว่างประเทศ และการก่อการร้าย และอื่นๆ

 อัญมณียังหวังโตได้5%

ในสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าส่งออกอันดับ 3 ของไทย นางประพีร์ สรไกรกิติกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าในเดือนแรกของปีนี้ แม้การส่งออกสินค้าอัญมณี จะติดลบถึง 26.9% แต่ถ้าหากหักลบการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูป (ทองคำแท่ง)ที่ซื้อมาขายไปเพื่อเก็งกำไรแล้ว การส่งออกเครื่องประดับอัญมณีของไทยที่มาจากการผลิตของโรงงาน การส่งออกติดลบเพียง 3% ซึ่งทั้งปีนี้การส่งออกเครื่องประดับอัญมณี(ไม่รวมทองคำ)น่าจะขยายตัวได้ที่ 5% โดยมีปัจจัยบวก

จากเศรษฐกิจของยุโรปถึงจุดต่ำสุดแล้วน่าจะปรับตัวดีขึ้น เศรษฐกิจสหรัฐฯอยู่ในภาวะทรงตัว และเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยจากที่คุยกับลูกค้าญี่ปุ่นถึงยอดขายช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมาปรับตัวดีขึ้น และจากที่ได้ไปออกงานแสดงสินค้าอัญมณีฯที่ญี่ปุ่นเมื่อมกราคมที่ผ่านมา ผู้แสดงสินค้า ผู้เข้าชม และผู้ซื้อก็มีความคึกคักมากขึ้น ขณะที่ปัจจัยลบคือตลาดตะวันออกกลางกำลังซื้อลดลงตามราคาน้ำมัน

 ข้าวลุ้นเป้า 9 ล้านตัน

ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สถานการณ์ส่งออกข้าวในเดือนมกราคมส่งออกได้ 1 ล้านตันเศษ สูงกว่าปกติเนื่องจากส่วนหนึ่งมีการส่งมอบข้าวที่ซื้อขายกับรัฐบาลจีนแบบรัฐต่อรัฐ(ข้าวจีทูจีเซ็นสัญญาสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 ล้านตัน) แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมคาดการส่งออกข้าวจะลดลงเหลือเฉลี่ยเดือนละประมาณ 7 แสนตันเพราะไม่มีการส่งมอบข้าวจีทูจี โดยใน 1 แสนตันสุดท้ายยังไม่ตกลงราคา อย่างไรก็ดีเวลานี้ตลาดซื้อขายข้าวค่อนข้างเงียบมากซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมันที่ตกต่ำทำให้ลูกค้าหลายประเทศชะลอการสั่งซื้อ แต่ทั้งปีนี้สมาคมยังตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวไว้ที่ 9 ล้านตันลดลงจากปี 2558 ที่ส่งออกได้ 9.7 ล้านตัน ซึ่งคงต้องลุ้นเหนื่อยแน่นอน

 ยางหวังครึ่งหลังกระเตื้อง

ส่วนในสินค้ายางพารา นายหลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า การส่งออกยางในปีนี้น่าจะทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา จากปี 2558 ไทยส่งออกยางพารา 3.7 ล้านตันมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาท โดยคาดในครึ่งปีแรกการส่งออกน่าจะยังไม่ค่อยดีตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังซบเซา แต่ครึ่งหลังน่าจะปรับตัวดีขึ้นตามความต้องการของตลาดจีนซึ่งเป็นผู้ใช้ยางรายใหญ่คาดจะฟื้นตัวดีขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐที่มีขนาดใหญ่สุดของโลกน่าจะฟื้นตัวอย่างชัดเจน

 ไก่แข่งเดือดชิงตลาดอียู

ในสินค้าไก่ นางฉวีวรรณ คำพา ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทในเครือฉวีวรรณให้ความเห็นว่า การส่งออกไก่แปรรูป และไก่สดแช่แข็งของไทยน่าจะยังไปได้ดี(จากปี 2558 สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยระบุไทยมีการส่งออกสินค้าไก่ 6.7 แสนตัน มูลค่า 8.8 หมื่นล้านบาท) ซึ่งใน 2 ตลาดหลักได้แก่ ญี่ปุ่น ไทยจะส่งออกได้เพิ่มจากญี่ปุ่นเพิ่มการนำเข้าไก่สด ส่วนในตลาดยุโรปน่าจะยังส่งออกได้ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แต่คงต้องแข่งขันด้านราคากับสินค้าไก่จากบราซิล และจากประเทศในยุโรปตะวันออก

 ส่งออกอาหารเล็งโต 5.8%

ขณะที่ 3 องค์กรประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันอาหาร และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยคาดการส่งออกสินค้าอาหารของไทยในปี 2559 จะเพิ่มขึ้นเป็น 9.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีการส่งออก 8.9 แสนล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.8% โดยในสินค้าไก่ ปลาทูน่ากระป๋อง กุ้ง เครื่องปรุงรส และสับปะรดกระป๋อง มีแนวโน้มเติบโตดี สินค้ากลุ่มผลไม้สด เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำผักผลไม้ กะทิสำเร็จรูป นมพร้อมดื่ม บิสกิต/วาฟเฟิล/เวเฟอร์ จะขยายตัวแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะในตลาดอาเซียนและ CLMV

ชี้เป้าพาณิชย์โต 5% ยาก

อย่างไรก็ตามนายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)หรือสภาผู้ส่งออกมองว่า การส่งออกทั้งปี 2559 ที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกขยายตัวที่ 5% มูลค่าประมาณ 2.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คงเป็นไปได้ยากมาก เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกอยู่มาก ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของโลก การเติบโตของเศรษฐกิจจีนและการลดค่าเงินหยวน ค่าเงินบาท ราคาน้ำมัน ภัยแล้ง การเมืองระหว่างประเทศ ภัยก่อการร้าย รวมถึงกฎระเบียบทางการค้าใหม่ๆ ของประเทศคู่ค้าที่จะออกมากีดกัน ดังนั้นเบื้องต้นทาง สรท.ยังคงเป้าส่งออกปีนี้ขยายตัวดีสุดที่ 2%

สอดคล้องกับนายวัลลภ วิตนากร รองประธาน สภาผู้ส่งออก ที่คาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยในปี 2559 จะขยายตัวได้ที่ 0-1% เท่านั้น เพราะวิเคราะห์แล้วการส่งออกในไตรมาสแรกคาดจะติดลบที่ 4.5-5% แต่หากจะให้ขยายตัวเป็นบวก ในเดือนที่เหลือของปีนี้ต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ยที่ 1.85 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน แต่หากต่ำกว่านี้ส่งออกไทยปี 2559 จะติดลบแน่นอน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135 วันที่ 6 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2559