สหรัฐฯ ภายใต้การนำของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการใหม่ เขย่าอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกอีกครั้ง ด้วยการเตรียม ขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์เป็น 25% โดยอ้างเป้าหมายเพื่อผลักดันการผลิตภายในประเทศ สร้างการจ้างงาน และเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ
ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทเมื่อคืนที่ผ่านมาตามเวลาไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ Dow Jones Industrial Average ลดลง 155.09 จุด หรือ 0.37% ปิดที่ 42,299.70 จุด ดัชนี S&P 500 ลดลง 0.33% ปิดที่ 5,693.31 จุด และดัชนี Nasdaq Composite ลดลง 0.53% ปิดที่ 17,804.03 จุด เนื่องจากนักลงทุนกำลังจับตาดูข่าวล่าสุดเกี่ยวกับภาษีศุลกากรจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
นักวิเคราะห์ทั่วโลก แสดงความกังวลว่า มาตรการดังกล่าวอาจนำไปสู่ผลกระทบเชิงลบ ไม่เพียงแค่ภายในสหรัฐฯ แต่จะลุกลามกลายเป็น สงครามการค้ารอบใหม่ ที่รุนแรงยิ่งกว่าเดิม
การจัดเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 2 เมษายนนี้ ส่วนชิ้นส่วนรถยนต์คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ในช่วงพฤษภาคมหรือหลังจากนั้น ยกเว้นเฉพาะแคนาดาและเม็กซิโกที่จะไม่ถูกเก็บภาษีในรอบนี้
ทรัมป์ยังเน้นว่า มาตรการนี้เป็นมาตรการถาวรและจะไม่เปลี่ยนใจ ยกเว้นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ย้ายฐานการผลิตเข้าสหรัฐฯ จึงจะไม่ถูกเรียกเก็บภาษี
นักวิเคราะห์เตือนว่า นโยบายนี้อาจทำให้ต้นทุนการผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นทันที โดยเฉพาะรถที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่จากต่างประเทศ ซึ่งอาจเพิ่มต้นทุนหลายพันดอลลาร์ต่อคัน ส่งผลให้ราคารถยนต์ปรับขึ้น และสายการผลิตบางส่วนอาจต้องชะลอชั่วคราว
สหรัฐฯ นำเข้ารถยนต์กว่า 8 ล้านคันในปี 2024 คิดเป็นมูลค่ากว่า 240,000 ล้านดอลลาร์ ประเทศผู้ส่งออกรถยนต์มายังสหรัฐฯ มากที่สุดได้แก่ เม็กซิโก เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น แคนาดา เยอรมนี
หลังประกาศดังกล่าว หุ้นกลุ่มยานยนต์ทั่วโลกตกฮวบทันที General Motors ร่วง 3% Ford Toyota Nissan Honda ล้วนมีแรงขายในตลาดหลักทรัพย์โตเกียวชวงเช้า
สำหรับไทยมีอะไรให้กังวล เมื่อพิจารณาตามรายงานจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (ก.พ. 2567) ระบุว่า ไทยส่งออกรถยนต์ไปสหรัฐฯ
อันดับที่ 16 ของโลก ประเภทรถยนต์นั่ง 0.3% ของยอดนำเข้าสหรัฐฯ รถเพื่อการพาณิชย์/กระบะ 0.03 กลุ่มที่เสี่ยงได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก (ต่ำกว่า 1,500 CC) ที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ปีที่แล้วกว่า 42,000 คัน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า สหรัฐฯ จะหันไปเร่งผลิตในประเทศแทน นำมาสู่ยอดส่งออกของไทยที่อาจหดตัวลง
ส่วนกลุ่มรถเพื่อการพาณิชย์อาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะปริมาณการส่งออกไปสหรัฐฯ มีสัดส่วนน้อย และไม่ใช่รุ่นที่สหรัฐฯ นิยมใช้อยู่แล้ว
ชาติพันธมิตรต่างออกมาแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อการที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์อย่างครอบคลุม โดยพันธมิตรที่แน่นแฟ้นที่สุดของสหรัฐฯ หลายประเทศเริ่มขู่ว่าจะมีมาตรการตอบโต้กลับ
ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่ามาตรการนี้จะส่งผลกระทบต่อการผลิต ทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น และอาจจุดชนวนให้เกิดสงครามการค้าในระดับโลก
ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ นำเข้ารถยนต์มูลค่ารวมเกือบ 475,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 367,000 ล้านปอนด์) ส่วนใหญ่มาจากเม็กซิโก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา และเยอรมนี โดยเฉพาะผู้ผลิตรถยนต์จากยุโรป ขายรถยนต์ให้ลูกค้าในอเมริกาไปแล้วกว่า 750,000 คัน
เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวว่า ได้บอกกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ แล้วว่า การขึ้นภาษีเป็นความคิดที่ไม่ดี เพราะบั่นทอนห่วงโซ่คุณค่า สร้างแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และทำลายการจ้างงาน เป็นผลเสียทั้งต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรป
เขาระบุว่าฝรั่งเศสจะทำงานร่วมกับคณะกรรมาธิการยุโรปเพื่อหามาตรการที่ทำให้ทรัมป์กลับมาทบทวนอีกครั้ง
รัฐบาลเยอรมนี ก็เห็นสอดคล้องกัน โดยย้ำว่าคณะกรรมาธิการยุโรปจะปกป้องเสรีทางการค้าในฐานะรากฐานสำคัญของความมั่งคั่งของสหภาพยุโรป
โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่าการตัดสินใจของทรัมป์คือความผิดพลาดอย่างยิ่ง และกล่าวว่าสหรัฐฯ กำลังเลือกเส้นทางที่ไม่มีใครชนะ เพราะทั้งมาตรการภาษีและแนวทางแยกตัว จะส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งของทุกประเทศ
เอริก ลอมบาร์ด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของฝรั่งเศส กล่าวว่า แผนของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คือข่าวร้ายมากและสหภาพยุโรปจำเป็นต้องขึ้นภาษีตอบโต้
โรเบิร์ต ฮาเบค รัฐมนตรีเศรษฐกิจเยอรมนี ยืนยันว่า จะไม่ยอมอยู่เฉย ๆ อย่างแน่นอน
โดนัลด์ ทุสก์ นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ กล่าวว่า ยุโรปจะเข้าหาสหรัฐฯ ด้วยเหตุและผล แต่ไม่ใช่ด้วยการคุกเข่า
เขายังเสริมว่า ความสัมพันธ์ข้ามแอตแลนติกคือ เรื่องยุทธศาสตร์ ที่ต้องดำรงอยู่ได้มากกว่าผู้นำหนึ่งคน
อูร์ซูลา ฟอน เดอร์ ไลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า มาตรการนี้ไม่ดีต่อธุรกิจ และแย่ยิ่งกว่าสำหรับผู้บริโภค โดยระบุว่า สหภาพยุโรปจะยังคงพยายามเจรจาเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม พร้อมปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตน
เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร กล่าวว่า มาตรการภาษีของสหรัฐฯ เป็นเรื่องน่ากังวลมากและรัฐบาลจะตอบสนองอย่างชัดเจนและใช้เหตุผล
เราไม่ต้องการสงครามการค้า แต่ก็ต้องเตรียมพร้อมสำหรับทุกทางเลือก
มาร์ก คาร์นีย์ นายกรัฐมนตรีแคนาดา โพสต์ในโซเชียลมีเดียว่า จะผ่านวิกฤตนี้ไปได้ และสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นยิ่งกว่าเดิม คาร์นีย์กล่าวเพิ่มเติมในการแถลงข่าวว่า รัฐบาลจะรอจนถึงสัปดาห์หน้าเพื่อกำหนดมาตรการตอบโต้ และทุกตัวเลือกยังคงอยู่บนโต๊ะ โดยจะหารือกับผู้ว่าการรัฐและภาคธุรกิจในวันศุกร์เพื่อหามาตรการร่วมกันที่มีเอกภาพ
ไม่มีเหตุผลที่จะตอบโต้ทุกมาตรการที่สหรัฐฯ ประกาศแบบต่อเนื่อง เราน่าจะรู้สถานการณ์ทั้งหมดชัดเจนขึ้นในอีก 1 สัปดาห์ แล้วจึงจะตัดสินใจ ไม่มีสิ่งใดที่เราตัดทิ้ง เราจะปกป้องแรงงานและประเทศของเราให้ดีที่สุด
หนึ่งในทางเลือกของแคนาดาคือการเก็บภาษีสินค้าออก เช่น น้ำมัน โพแทช และสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ
คาร์นีย์กล่าว พร้อมย้ำว่า ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างแคนาดากับสหรัฐฯ แบบเดิมได้จบลงแล้ว
เกาหลีใต้ ประกาศว่าจะจัดตั้งมาตรการฉุกเฉินเพื่อตอบโต้การเก็บภาษีของทรัมป์ให้ทันภายในเดือนเมษายน
กระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุว่า วิธีการของสหรัฐฯ ขัดต่อกฎขององค์การการค้าโลก (WTO) และไม่ช่วยให้สหรัฐฯ แก้ปัญหาภายในของตนเองได้ โดยโฆษกกระทรวง กัว เจียคุน กล่าวเสริมว่า ไม่มีประเทศใดที่จะเติบโตหรือล่มสลายเพราะมาตรการภาษี
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ลงทุนในสหรัฐฯ มากที่สุด เราจึงตั้งคำถามว่ามันสมเหตุสมผลไหมที่สหรัฐฯ จะใช้มาตรการภาษีแบบเดียวกันกับทุกประเทศ