จับตาผลกระทบหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ จากกำแพงภาษีถึงภูมิรัฐศาสตร์

02 พ.ย. 2567 | 00:30 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ย. 2567 | 05:09 น.

วิเคราะห์ผลกระทบหลังเลือกตั้งสหรัฐ2024 ที่จะส่งถึงเศรษฐกิจโลกและประเทศไทยที่ต้องเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้

ในขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024 กำลังเข้าสู่โค้งสุดท้าย ความท้าทายที่รออยู่เบื้องหน้าอาจไม่ใช่แค่ผลการเลือกตั้ง แต่เป็นคลื่นผลกระทบที่จะส่งถึงเศรษฐกิจโลกและประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย "กำแพงภาษี" ที่อาจสูงถึง 60%

สำหรับสินค้าจากจีน การปรับเปลี่ยนด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไปจนถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเปลี่ยนโฉมหน้าการลงทุนทั่วโลก ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้อย่างไร 

 

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศและด้านความมั่นคง วิเคราะห์ว่า แม้การเลือกตั้งครั้งนี้ดูเหมือนจะเน้นไปที่ตัวบุคคลและความกลัวของประชาชนในเรื่องการอพยพมากกว่านโยบายหลัก แต่หากพิจารณาถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศและด้านความมั่นคง

ทรัมป์ยังคงเสนอแนวคิดการเพิ่ม “กำแพงภาษี” เพื่อส่งเสริมการจ้างงานในประเทศ เช่น การเก็บภาษี 10% กับสินค้านำเข้าทุกประเภท และการเพิ่มภาษีสินค้าจากจีนอีก 60% ซึ่งนโยบายนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยตรง รวมถึง “ประเทศไทย” ที่ค้าขายกับจีนอย่างใกล้ชิด ขณะที่แฮร์ริสเองก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการขึ้นภาษีเช่นกัน แต่ไม่ได้ให้ตัวเลขที่ชัดเจนเท่าทรัมป์ โดยในกรณีของภาษีการค้า ทั้งสองฝ่ายยังมีแนวโน้มที่จะคงนโยบายกีดกันการค้ากับจีนอยู่

ไทยควรเดินหน้าเจรจา แสดงจุดยืนการทำงานร่วมกันในเรื่องการค้า เพราะไทยกระทบแน่นอน โดยเจรจาในในฐานะเป็นประเทศแรกๆ ที่ลงนามสนธิสัญญาการค้าและประเทศที่ใกล้ชิด รวมทั้งหารือกับภาคเอกชนให้เตรียมรับมือจากแรงกระเพื่อมในหลายเรื่อง รวมทั้งใช้ประโยชน์จากการประชุมเอปค

“ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม” ก็เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจในครั้งนี้เช่นกัน โดยพรรคเดโมแครตสนับสนุนแนวคิดการลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล และผลักดันนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าฝ่ายรีพับลิกัน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎหมายและแนวทางการลงทุนใหม่ๆ

โดนทุกประเทศที่ค้ากับสหรัฐฯ โดยเฉพาะประเทศไทยและอีกหลาย 10 ประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ จะเดือดร้อนพอสมควรก็จะต้องรีบเข้าสู่กระบวนการเตรียมตัวเจรจา ถ้าทรัมป์มาก็จะหนัก ถ้าเดโมแครตจะไม่ต่างจากไบเดนมากนักแต่มีความซับซ้อน

การเมืองโลกอาจมีความเปลี่ยนแปลง 

หากทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการเมืองโลกอาจมีความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในด้านภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจภายในอาจมีความท้าทายมากขึ้น แต่ในระดับโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์บางประเด็นอาจผ่อนคลายลงในมุมมองที่แตกต่างจากพรรคเดโมแครต

การตัดสินใจเพิ่มงบประมาณทางทหารถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้งบประมาณทางทหารที่ประมาณ 3% ของ GDP เทียบกับยุคสงครามเวียดนามที่สูงถึง 10%

ทั้งนี้ ทั้งสองพรรคต่างเห็นพ้องว่า การแข่งขันกับจีนและรัสเซียจำเป็นต้องมีการเพิ่มงบประมาณด้านนี้ โดยคาดว่าการใช้จ่ายเพื่อความมั่นคงอาจพุ่งถึง 5% ของ GDP ซึ่งต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา

จุดยืนของทรัมป์ต่อ NATO และยูเครน

ทรัมป์แสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะลดการสนับสนุนทางการเงินต่อ NATO และลดความช่วยเหลือต่อยูเครน เพื่อเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ นอกจากนี้ ทรัมป์ยังเสนอให้ NATO รับผิดชอบค่าใช้จ่ายมากขึ้น ในทางกลับกัน พรรคเดโมแครตต้องการรักษานโยบายปัจจุบันในการสนับสนุน NATO และยูเครน โดยอาจจะดำเนินนโยบายใกล้เคียงกับที่ประธานาธิบดีไบเดนดำเนินอยู่

มุมมองต่ออิหร่านและตะวันออกกลาง

ทั้งสองพรรคยังคงเห็นอิหร่านเป็นภัยคุกคามสำคัญในด้านนิวเคลียร์ และมีจุดยืนที่คล้ายคลึงกันในการสนับสนุนอิสราเอล รวมถึงการควบคุมไม่ให้เกิดวิกฤตมนุษยธรรมเพิ่มเติมในภูมิภาคนี้ แม้ว่าทั้งสองพรรคจะไม่มีแผนการเจรจาที่แน่ชัดเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ แต่ต่างมีท่าทีที่ตรงกันในการป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งขยายตัวจนกลายเป็นวิกฤตระดับภูมิภาค

ความสัมพันธ์กับจีนและการค้าเทคโนโลยี

ในส่วนของจีนและปัญหาความสัมพันธ์การค้า เทคโนโลยี และไต้หวัน พรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตมีนโยบายที่ใกล้เคียงกันในด้านการแข่งขันกับจีน โดยมุ่งควบคุมการเข้าถึงเทคโนโลยีไฮเทคอย่างเซมิคอนดักเตอร์และสนับสนุนการขายอาวุธให้กับไต้หวัน

อย่างไรก็ตาม นโยบายของทรัมป์ต่อจีนนั้นค่อนข้างชัดเจนกว่า แม้จะมีการชื่นชมผู้นำจีนอย่างสีจิ้นผิง ทรัมป์ก็ยังสนับสนุนแนวทางการลดการพึ่งพาจีนและการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีแรงงานต้นทุนต่ำ เช่น อินเดียหรือไทย ซึ่งการลดความพึ่งพาจีนนี้อาจจะกลายเป็นแนวทางที่ขยายออกไปในระยะยาว

ฃการกลับมาของทรัมป์อาจนำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์หลายด้านทั้งในประเทศและในระดับโลก ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจต้องรับภาระงบประมาณด้านความมั่นคงที่เพิ่มขึ้น การลดบทบาทในการสนับสนุนพันธมิตรอย่าง NATO อาจสร้างแรงกดดันให้พันธมิตรยุโรปต้องรับผิดชอบมากขึ้น ในขณะที่การลดพึ่งพาจีนอาจเป็นแนวทางที่สหรัฐฯ พยายามผลักดัน