IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 67 เป็น 3.2%

16 เม.ย. 2567 | 23:59 น.
อัพเดตล่าสุด :17 เม.ย. 2567 | 00:12 น.

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 2567 เป็น 3.2% เพิ่มจากระดับ 3.1% ที่คาดการณ์ไว้ในเดือนม.ค. ตามรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) ฉบับล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (16 เม.ย.)

นายปิแอร์-โอลิวิเยร์ กูแรงชาส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)  และผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย กล่าวในการแถลงข่าวระหว่างการประชุมฤดูใบไม้ผลิประจำปี 2567 ของ IMF และธนาคารโลกว่า แม้จะมีการคาดการณ์ที่เลวร้าย เศรษฐกิจโลกก็ยังคงมีความเข้มแข็งอย่างน่าทึ่ง โดยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงเร็วเกือบเท่ากับที่เพิ่มขึ้น "ตัวชี้วัดส่วนใหญ่ยังคงชี้ไปที่การชะลอตัวแบบไม่รุนแรง (Soft landing)"

นายกูแรงชาส์กล่าวว่า แม้จะมีแผลเป็นทางเศรษฐกิจน้อยลงจากวิกฤตต่าง ๆ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แต่ IMF ประเมินว่าประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำจะมีแผลเป็นมากขึ้น โดยหลายประเทศในกลุ่มนี้ยังคงดิ้นรนเพื่อฟื้นตัวจากโควิด-19 และวิกฤตค่าครองชีพ
 

แม้จะมีพัฒนาการที่น่ายินดีเหล่านี้ แต่นายกูแรงชาส์ก็ตั้งข้อสังเกตว่ายังคงมีอุปสรรคอีกมากมาย และจำเป็นต้องมีการดำเนินการที่เด็ดขาด

สำนักข่าวซินหัวระบุว่า รายงาน WEO แสดงให้เห็นว่าประมาณการล่าสุดสำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในอีก 5 ปีข้างหน้าที่ 3.1% นั้น ถือว่าอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ

IMF ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั่วโลกคาดว่าจะลดลงจากค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ 6.8% ในปี 2566 เป็น 5.9% ในปี 2567 และ 4.5% ในปี 2568 โดยประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วจะกลับสู่เป้าหมายเงินเฟ้อได้เร็วกว่าประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา

นายกูแรงชาส์ชี้ให้เห็นว่า ที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และเงินเฟ้อในภาคบริการยังคงอยู่ในระดับสูง

 

รายงานชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงด้านลบหลายประการ อาทิ ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งอันเนื่องมาจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงวิกฤตการณ์ในยูเครนและความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-กาซา ควบคู่ไปกับเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังคงอยู่ในระดับสูงในตลาดแรงงานที่ยังคงตึงตัว อาจทำให้เกิดความคาดหมายว่าอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นและราคาสินทรัพย์ลดลง

รายงานระบุว่า การลดเงินเฟ้อที่เร็ว-ช้าต่างกันในหมู่ประเทศเศรษฐกิจหลักอาจส่งผลต่อความเคลื่อนไหวของสกุลเงิน ซึ่งทำให้ภาคการเงินตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน

รายงานกล่าวเสริมว่า อัตราดอกเบี้ยสูงอาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากการปรับอัตราดอกเบี้ยใหม่ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยประเภทอัตราดอกเบี้ยคงที่และครัวเรือนต้องเผชิญกับภาระหนี้สินที่สูง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเครียดทางการเงิน