สหรัฐจับมือไทย ประชุมทางไกล14 ชาติความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก

14 มี.ค. 2567 | 09:39 น.

รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐ ย้ำสถานะไทยเป็น "หุ้นส่วน" ที่สำคัญอย่างยิ่งของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการค้าหรือการลงทุน พร้อมเป็นเจ้าภาพร่วมจัดประชุมทางไกล14 ชาติความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หวังเห็นความร่วมมือที่แน่นแฟ้นมากขึ้นโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

นางจีนา เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ กล่าวระหว่างการเข้าพบหารือนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่กระทรวงการต่างประเทศ บ่ายวันนี้ (14 มี.ค.) ว่า รู้สึกยินดีที่ได้พบกับรองนายกฯปานปรีย์เป็นครั้งที่สอง หลังจากที่ได้พบกันครั้งแรกที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ในโอกาสนี้ รมว.พาณิชย์สหรัฐกล่าวว่า ยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมทำงานกับประเทศไทยซึ่งมีบทบาทนำอย่างสร้างสรรค์ก่อให้เกิดความคืบหน้าอย่างมากใน กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หรือ IPEF ซึ่งมีสมาชิก 14 ประเทศรวมทั้งไทยและสหรัฐอเมริกา

นอกจากนั้นในวันนี้ ไทยและสหรัฐได้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี 14 ประเทศสมาชิกของ IPEF ด้วย โดยเป็นการประชุมทางไกล

สำหรับมาชิก IPEF จำนวน 14 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไทย นิวซีแลนด์ บรูไน ฟิลิปปินส์ ฟิจิ มาเลเซีย เวียดนาม สหรัฐ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย อินเดีย และอินโดนีเซีย ซึ่งมีมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมกันคิดเป็นสัดส่วน 40% ของGDPทั่วโลก

รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐนำคณะสภาผู้ส่งออกฯ (PEC) เข้าพบหารือรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศวันนี้ (14 มี.ค.67) สหรัฐจับมือไทย ประชุมทางไกล14 ชาติความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก

นอกจากนี้ ยังย้ำว่า ไทยและสหรัฐมีความเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งและมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจมายาวนาน ไทยเป็นประเทศเดียวในปีนี้ ที่ทาง สภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือ President's Export Council (PEC) ตัดสินใจนำคณะเดินทางมาเยือน เนื่องจากความสำคัญของไทยทั้งในแง่ความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและเป็นข้อต่อสำคัญในซัพพลายเชน

ทั้งนี้ คณะสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (PEC) เป็นผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชนและองค์กรชั้นนำของสหรัฐฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดี ในการให้ข้อเสนอแนะทางนโยบาย และโครงการที่เกี่ยวข้องกับการค้าการลงทุน

"การมาเยือนไทยของ PEC ครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งแรก เป็นการเข้ามาหาข้อมูลและศึกษาว่าจะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสหรัฐและไทยให้แข็งแรงและยั่งยืนต่อไปได้อย่างไร จะมีแนวทางเพิ่มการค้า การลงทุน และความร่วมมือต่อไปอย่างไรในอนาคต เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน เติบโตทางเศรษฐกิจไปด้วยกัน และมีความมั่นคงในด้านซัพพลายเชน" 

ขณะที่รองนายกฯปานปรีย์กล่าวว่า คณะของรัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐตอกย้ำถึงความสัมพันธ์ฉันมิตรของไทย-สหรัฐที่ยั่งยืนยาวนานเกือบ 2 ศตวรรษ และเชื่อว่าการยกระดับความเป็นหุ้นส่วนนี้จะแข็งแรงและยั่งยืนต่อไปในอุตสาหกรรมใหม่ๆที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสนใจ เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) พลังงานสะอาด นวัตกรรมอัจฉริยะ ยานยนต์ไฟฟ้า และเซมิคอนดัคเตอร์ 

ในโอกาสที่ทางคณะมาเยือนไทยระหว่างวันที่ 12-15 มี.ค.นี้ นางเรมอนโดยังได้พบปะหารือกับสมาชิกของหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (AMCHAM) เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งในเวทีดังกล่าวก็เป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐกล่าวย้ำว่า ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในฐานะประเทศคู่ค้าของสหรัฐอเมริกา และเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียที่สหรัฐมีพันธกิจมุ่งมั่นที่จะเพิ่มความร่วมมือให้ยิ่งๆขึ้นไป

เว็บไซต์ของ AMCHAM เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ระบุว่า นางสาวอรกัญญา พิบูลธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารแห่งอเมริกา เมอร์ริล ลินช์ สาขาประเทศไทย ประธานหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย กล่าวถึงการพบปะหารือระหว่างสมาชิกของหอการค้า และคณะของรัฐมนตรีพาณิชย์ของสหรัฐ รวมทั้งตัวแทนจากสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่า มุ่งเน้นไปที่การสร้างความร่วมมือในการเพิ่มพูนการค้าและเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีระหว่างกัน และร่วมกันสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนระหว่างไทย-สหรัฐ

ขณะที่นางเรมอนโดเองก็แสดงความยินดีในความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-สหรัฐที่ก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะความร่วมมือในซัพพลายเชนอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญ    

รายงานข่าวระบุ สหรัฐจะผลักดันการลงทุนเพิ่มเติมในกลุ่มประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) 14 ประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงด้านการผลิต โดยเฉพาะการลงทุนด้านการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ โดยบริษัทอเมริกันพร้อมที่จะเร่งการลงทุนในไทย เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีอุปสงค์สูงมากที่สุดในโลก จากการเติบโตของธุรกิจฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เศรษฐกิจดิจิทัล และการเติบโตของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการที่สหรัฐดำเนินการกระจายความเสี่ยงด้านการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ด้วยการเข้ามาลงทุนในไทย