"ฮูตี" ดีเดือด ลั่นยกระดับโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดงด้วยอาวุธใต้น้ำผลิตเอง

22 ก.พ. 2567 | 18:54 น.

กลุ่มฮูตีในเยเมนประกาศว่า จะยกระดับการโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดงด้วยการใช้ "อาวุธใต้น้ำ" โดยจะโจมตีเรือสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอิสราเอล สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับชาวปาเลสไตน์ในกาซา

 

นายอับดุลมาลิก อัล ฮูตี ซึ่งเป็น ผู้นำกลุ่มฮูตีในเยเมน กล่าววานนี้ (22 ก.พ.) ว่า ปฏิบัติการของกลุ่มฮูตีในทะเลแดง ทะเลอาหรับ ช่องแคบบับเอลมันเดบ และอ่าวเอเดน จะยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น และจะเป็นการโจมตีที่มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือ ทางกลุ่มจะยกระดับ การโจมตีเรือสินค้า ในทะเลแดงด้วยการใช้อาวุธใต้น้ำ โดยฮูตีจะโจมตีเรือสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอิสราเอลและพันธมิตร เช่น สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาที่กำลังถูกถล่มโจมตีโดยกองทัพอิสราเอล

อย่างไรก็ดี นายอัล ฮูตีไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับ “อาวุธใต้น้ำ" ที่กล่าวถึงแต่อย่างใด

ทั้งนี้ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (UNCTAD) รายงานว่า ปริมาณการเดินเรือขนส่งสินค้ารายสัปดาห์ผ่านทางคลองสุเอซได้ลดลงถึง 67% เมื่อเทียบกับระดับที่เคยมีการสัญจรหนาแน่นที่สุด โดยได้รับผลกระทบจากการโจมตีของกลุ่มฮูตีในทะเลแดง

การโจมตีของกลุมฮูตี ส่งผลให้เรือบรรทุกสินค้าพากันเลี่ยงการใช้เส้นทางทะเลแดงแม้ต้องใช้เส้นทางอ้อม และต้นทุนสูงขึ้น

การโจมตีดังกล่าวส่งผลให้เรือบรรทุกสินค้าพากันเลี่ยงการใช้เส้นทางทะเลแดงด้วยการอ้อมแหลมกู้ดโฮปของแอฟริกา ทำให้อียิปต์สูญเสียรายได้จากการเรียกเก็บค่าผ่านทางในคลองสุเอซมากถึง 42% นอกจากนี้ ยังกระทบต่อจิบูตี เคนยา และแทนซาเนีย ซึ่งมีรายได้จากการขนส่งสินค้าในคลองดังกล่าว

บทเรียนวิกฤตทะเลแดง เอเชียเร่งจัดหาระบบป้องกันขีปนาวุธ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ด้านอุตสาหกรรมอาวุธ เห็นว่าการใช้ขีปนาวุธต่อต้านเรือ (ASBM) ในทะเลแดง ส่งผลให้หลายชาติในเอเชียให้ความสนใจกับระบบป้องกันขีปนาวุธต่อต้านเรือกันมากยิ่งขึ้น

ในงาน Singapore Airshow ซึ่งจัดขึ้นที่สิงคโปร์เมื่อเร็วๆนี้ แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัทด้านกลาโหมของสหรัฐที่ไม่ประสงค์ออกนาม เปิดเผยว่า การป้องกันทางอากาศในทะเลแดงและยูเครน ได้ดึงดูดความสนใจของลูกค้าในฝั่งเอเชียบ้างแล้ว โดยระบบป้องกันที่ในประเทศในเอเชียหมายตา จะเป็นระบบป้องกันทางอากาศแบบรวมศูนย์ ทั้งระบบเซนเซอร์ที่ตรวจจับเป้าหมาย อาวุธที่ยิงสกัดขีปนาวุธ และระบบควบคุมและสั่งการขีปนาวุธได้ในตัว

ขณะที่บริษัท Saab ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาวุธจากสวีเดน ระบุในงานเดียวกันว่า ลูกค้าฝั่งเอเชียไม่เพียงสนใจระบบต่อต้านขีปนาวุธเท่านั้น แต่ยังสนใจโดรนต้นทุนต่ำที่ใช้ในการโจมตีในทะเลแดงอีกด้วย

การยิงขีปนาวุธส่วนใหญ่มาจากกลุ่มฮูตีในพื้นที่ดังกล่าว โดยทางกลุ่มฮูตีอ้างว่า เป็นฝ่ายผลิตขีปนาวุธทั้งหมด

ทั้งนี้ กองบัญชาการสหรัฐภาคพื้นตะวันออกกลางและเอเชียกลาง หรือ CENTCOM เผยข้อมูลในช่วงวันที่ 27 พฤศจิกายนถึง 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งมีการบันทึกการใช้ขีปนาวุธต่อต้านเรือครั้งแรก พบว่า มีการใช้ขีปนาวุธต่อต้านเรือทั้งสิ้น 48 ครั้ง และมีการยิงสกัดขีปนาวุธชนิดนี้ 12 ครั้งในทะเลแดง อย่างไรก็ตาม การยิงขีปนาวุธส่วนใหญ่มาจากกลุ่มฮูตีในพื้นที่ดังกล่าว โดยทางกลุ่มฮูตีอ้างว่า เป็นฝ่ายผลิตขีปนาวุธทั้งหมด ขณะที่กองทัพสหรัฐ และหน่วยข่าวกรองของกระทรวงกลาโหมสหรัฐชี้ว่า อิหร่านให้ความช่วยเหลือกลุ่มติดอาวุธกลุ่มนี้อยู่ แม้ว่าจะไม่ใช่การจัดหาอาวุธให้โดยตรงก็ตามที

พลเรือเอกมาร์ค เมลสัน ผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจของกองทัพเรือสหรัฐฯ ในแปซิฟิกตะวันตก กล่าวในงาน Singapore Airshow ว่า กองทัพสหรัฐกำลังศึกษาบทเรียนในทะเลแดง ซึ่งอาจนำมาปรับใช้ได้กับกรณีในฝั่งเอเชียหรือพื้นที่อื่น ๆ ในโลกด้วย