อานิสงส์ทัวริสต์จีนทะลัก ดันท่องเที่ยวเอเชียคึกคักจ่อแตะระดับก่อนโควิด

22 ก.พ. 2567 | 06:10 น.

คลื่นนักท่องเที่ยวจีนหลั่งไหลออกนอกประเทศนับตั้งแต่เทศกาลตรุษจีน หนุนบรรยากาศการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียสุดคึกคัก คาดยอดจองเที่ยวบินพุ่งแตะระดับช่วงก่อนโควิดได้สำเร็จในปีนี้

 

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เปิดเผยวานนี้ (21 ก.พ.) ว่า อุปสงค์การเดินทาง ของ ภูมิภาคเอเชีย ในเดือนธันวาคม 2566 เพิ่มขึ้นแตะเกือบๆ 83% ของระดับในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว เมื่อเทียบกับเพียง 57% ในเดือนม.ค. ที่ผ่านมา โดยตัวเลขนี้คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อไปอีก

"สภาพแวดล้อมในขณะนี้ ยังคงเป็นบวกสำหรับสายการบินส่วนใหญ่" วิลลี วอลช์ ผู้อำนวยการใหญ่ IATA กล่าว

 นอกจากนี้ ยังระบุว่า ภาคการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กำลังมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยคาดว่าอุปสงค์เที่ยวบินจะแตะระดับก่อนเกิดโควิด-19 ได้ภายในปีนี้ (2567) โดยสาเหตุปัจจัยหลักที่หนุนแนวโน้มเชิงบวกนี้มาจากนักท่องเที่ยวชาวจีน

นาย วอล์ช ในฐานะผู้อำนวยการ IATA ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซีเอ็นบีซี สื่อใหญ่ของสหรัฐว่า ความต้องการเดินทางทางอากาศในภูมิภาคเอเชียเวลานี้ ถือว่าต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโควิด-19 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่คาดว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวภายในปี 2567 นี้ โดยเชื่อว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย อยู่ในจุดหมายปลายทางยอดนิยม 10 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวจีน (ภาพข่าวซินหัว)

ผลการวิจัยจากซิตี้ (Citi) ระบุว่า ในช่วงวันหยุดยาวตรุษจีน 8 วัน (10-17 ก.พ.) ที่ผ่านมา ยอดรวมของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนขาออกแตะ 3.6 ล้านราย โดยส่วนใหญ่เดินทางไปประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยม 10 อันดับแรก

ส่วนนอกภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นักท่องเที่ยวชาวจีนมุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทางอย่าง สหรัฐอมริกา อังกฤษ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ที่พวกเขามองว่าเป็นสถานที่พักผ่อนยอดนิยม

นายเจมส์ ซัลลิแวน หัวหน้าฝ่ายวิจัยหุ้นของเจพีมอร์แกน ระบุว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนมีความต้องการเดินทางท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในเดือนม.ค.ปีนี้

นโยบาย “ฟรีวีซ่า” ระหว่างไทยและจีน นับเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยหนุนการท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองประเทศ

ด้านสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นโยบาย “ฟรีวีซ่า” ระหว่างไทยและจีน นับเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยหนุนการท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองประเทศ นายหวังเซวียนอวี่ วัย 36 ปี เป็นหนึ่งในนักท่องเที่ยวจากกรุงปักกิ่งที่เลือกเดินทางมาใช้เวลาวันหยุดตรุษจีนในไทย เขากล่าวว่า พื้นที่ในถนนเยาวราชจัดสารพัดกิจกรรมสำหรับเทศกาลตรุษจีน ทำให้สัมผัสได้ถึงบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองและเป็นมงคล ขณะที่การเดินทางก็นับว่า สะดวกมากและขั้นตอนการเข้าเมืองก็ราบรื่นมากเช่นกัน

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย.2566 รัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบายฟรีวีซ่าแก่พลเมืองจีนชั่วคราวเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากนั้นเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา จีนและไทยได้ลงนามข้อตกลงยกเว้นวีซ่าซึ่งกันและกัน และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. เป็นต้นไป ซึ่งการลงนามข้อตกลงยกเว้นวีซ่านี้ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเยือนไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทยคาดการณ์ว่าในปีนี้ (2567) นักท่องเที่ยวชาวจีนราว 8 ล้านคนจะเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย และจะสร้างรายได้ราว 3.2 แสนล้านบาท นางสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ คาดว่าในช่วงวันที่ 7-15 ก.พ. ที่ผ่านมา ไทยจะต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเกือบ 1 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ราว 180,000 คนมาจากจีน

ผู้จัดการโรงแรมในหัวหินคนหนึ่งเปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวของจีนว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเตรียมพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีนแล้ว โดยการลงนามข้อตกลงดังกล่าวทำให้ทางโรงแรมได้รับการติดต่อสอบถามจากแขกชาวจีนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเพิ่มมากขึ้นด้วย

ด้านนายชนะพันธ์ แก้วกล้าไชยวุฒิ อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสัมพันธ์ไทย-จีน กล่าวกับซินหัวว่า การยกเว้นวีซ่าซึ่งกันและกันได้ลดกฎเกณฑ์และต้นทุนด้านการท่องเที่ยว เกื้อหนุนการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนสองประเทศ และอัดฉีดแรงผลักดันที่แข็งแกร่งสู่การฟื้นตัวและความเจริญรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย

เขายังเสริมด้วยว่า ทรัพยากรการท่องเที่ยวของไทยและจีนนั้นส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยจีนเป็นหนึ่งในจุดหมายการท่องเที่ยวน้ำแข็งและหิมะที่ใกล้ที่สุดสำหรับคนไทย ซึ่งการลงนามข้อตกลงยกเว้นวีซ่าดังกล่าวจะส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปยังจีนเพิ่มขึ้นในอนาคต อีกทั้งมั่นใจว่า จะมีส่วนส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างไทย-จีนอย่างแน่นอน

ข้อมูลอ้างอิง