"ริงกิต" ดิ่งต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง มาเลย์ยังอั้นไม่ขึ้นดอกเบี้ย

22 ก.พ. 2567 | 04:13 น.

ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียดิ่งต่ำสุดในรอบ 26 ปี นับตั้งแต่วิกฤตการเงินเอเชียในปี 2541 โดยตั้งแต่ต้นปีนี้ ริงกิตอ่อนค่าลงแล้วกว่า 4% ล่าสุดดิ่งเกือบแตะระดับ 4.8 ริงกิตต่อดอลลาร์ ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว รัฐบาลยัน ยังไม่ใช่เวลาขึ้นดอกเบี้ยหวั่นกระทบประชาชน

 

ค่าเงินริงกิต ของ มาเลเซีย ดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 26 ปีเมื่อวันอังคาร (20 ก.พ.) หรือนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินเอเชียที่รู้จักกันในนาม "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ปี พ.ศ.2541 โดย เงินริงกิตทรุดตัวลงราว 0.3% เกือบแตะระดับ 4.8 ริงกิตต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายเมื่อวันอังคาร ถือเป็นการปรับตัวลง “มากที่สุด” นับตั้งแต่ดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 4.8850 ริงกิตเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐในเดือนม.ค.2541 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินเอเชีย

หากนับตั้งแต่ต้นปี 2567 ริงกิตได้อ่อนค่าลงมากกว่า 4% แล้วเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐ โดยได้รับผลกระทบจากการส่งออกของมาเลเซียที่ซบเซา อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอ รวมทั้งการที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นโดยได้แรงหนุนจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

อย่างไรก็ตาม นายฟาห์มี ฟาดซิล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสาร โฆษกรัฐบาลมาเลเซีย กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายข้ามคืน (OPR) เพื่อพยุงค่าเงินริงกิตไม่ใช่การดำเนินการที่เหมาะสมในขณะนี้ เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบต่อประชาชน

ค่าเงินริงกิตของมาเลเซีย ดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 26 ปีเมื่อวันอังคาร (20 ก.พ.67)

"ผมไม่ทราบว่ามีฝ่ายใดต้องการให้ธนาคารกลางมาเลเซียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย OPR หรือไม่ แต่ผมเชื่อว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่จะช่วยประชาชนในขณะนี้" นายฟาดซิลยังกล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซียมีความกังวลในเรื่องนี้ และโดยส่วนตัว เขาไม่คิดว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นเรื่องที่ดีที่จะทำในช่วงเวลานี้ แต่สิ่งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของธนาคารกลางมาเลเซีย

ด้านนายอับดุล ราชีด กาฟโฟร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซีย ให้ความเห็นว่า การอ่อนค่าของริงกิตแตะระดับต่ำสุดในรอบ 26 ปีในช่วงเวลานี้ มีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอก และไม่ได้สะท้อนถึงเศรษฐกิจของมาเลเซียที่มีแนวโน้มแข็งแกร่งแต่อย่างใด

“ค่าเงินริงกิตได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอก เช่น การคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ความกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีน”

มาเลเซียยังไม่ต้องการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงเวลานี้ หวั่นกระทบค่าครองชีพประชาชน

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติมาเลเซีย คาดการณ์ว่า มี หลายเหตุปัจจัยที่จะช่วยให้เงินริงกิตแข็งค่าขึ้นในปีนี้ ซึ่งได้แก่

  • การส่งออกที่จะเพิ่มมากขึ้น
  • การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว
  • การเพิ่มขึ้นของการลงทุน
  • รวมทั้งการที่รัฐบาลทำการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ

สอดคล้องกับความคิดเห็นของนายอาเมียร์ ฮัมซาห์ อาซีซาน รัฐมนตรีคลังคนที่สองของมาเลเซีย ที่มองว่า เงินริงกิตจะแข็งค่าขึ้นในปี 2567 จากสิ่งบ่งชี้ที่ว่า ธนารกลางสหรัฐ หรือ เฟด จะระงับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้