"บิล เกตส์" เปิดมุมมองใหม่ "AI เปลี่ยนแปลงโลก" ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว

18 ม.ค. 2567 | 23:50 น.

"บิล เกตส์" มหาเศรษฐีโลก ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ เชื่อว่า AI ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เขาเปิดมุมมองใหม่ในการประชุม WEF 2024 ที่ดาวอส ว่า แม้ AI จะเข้ามาแย่งงานบางส่วนของมนุษย์ แต่นี่คือเทคโนโลยีที่ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนหมอและครูในแอฟริกา ได้อย่างเยี่ยมยอดที่สุด

 

บิล เกตส์ มหาเศรษฐีระดับโลกชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้ง บริษัทไมโครซอฟท์ เชื่อว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence: AI) จะมีบทบาทอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงโลกของเราในระยะ 5 ปีข้างหน้า และเขามองเรื่องนี้ในเชิงบวก 

แม้จะมีกระแสเชิงลบเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI ออกมาไม่มากก็น้อยในระยะที่ผ่านมา เช่น ล่าสุดต้นสัปดาห์นี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกรายงานระบุว่า AI จะเข้ามาแทนที่งานของมนุษย์ประมาณ 40% ของที่มีอยู่ทั่วโลก แต่บิล เกตส์ ซึ่งปัจจุบันหันมาทำงานด้านสาธารณกุศลผ่านทางมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ ก็ยังเชื่อเสมอว่า ทุกครั้งที่เทคโนโลยีใหม่ๆก่อกำเนิดขึ้น ผู้คนจะมีความหวาดวิตก แต่ขณะเดียวกันนั้น โอกาสใหม่ๆก็จะเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

เกตส์ยกตัวอย่างการเริ่มนำเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิตมาใช้ในช่วงปีค.ศ. 1900 ในช่วงเวลานั้น ผู้คนโดยเฉพาะแรงงานในภาคการเกษตรต่างก็มีความวิตกและตั้งคำถามว่า เทคโนโลยีกำลังจะเข้ามาทำให้พวกเขาตกงานใช่หรือไม่ แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว แม้จะมีบางภาคส่วนของแรงงานที่ได้รับผลกระทบ แต่โอกาสงานใหม่ๆก็เปิดกว้างออกเช่นกัน และการทำการเกษตรก็มีความก้าวหน้าขึ้นมาก ซึ่งเป็นเรื่องดีสำหรับทุกคน ดังนั้น เขามองว่า เทคโนโลยี AI ก็จะเป็นเช่นเดียวกัน

บิล เกตส์ ร่วมงานประชุม WEF 2024 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

เกตส์ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว CNN ในระหว่างเข้าร่วมงานประชุมเวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม ประจำปี 2024 (WEF 2024) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า เขาเชื่อและคาดหมายว่า

  • เทคโนโลยี AI จะเข้ามาทำให้ชีวิตของทุกๆคนสะดวกสบายมากขึ้น เช่นช่วยให้บุคลากรการแพทย์ทำงานด้านเอกสารได้อย่างสะดวกง่ายดายและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้พวกเขามีเวลามากขึ้นสำหรับงานด้านอื่นที่สำคัญกว่า
  • นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยี AI ยังไม่จำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เพิ่มเติมมากนัก มนุษย์จึงสามารถเข้าถึง AI ได้ง่ายๆผ่านการใช้โทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่มีอยู่แล้ว เชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่แล้วเช่นกัน
  • เกตส์ยังมองว่า พัฒนาการและความก้าวหน้าของ AI อย่าง ChatGPT-4 ของบริษัทโอเพ่นเอไอ (OpenAI) ยังก้าวล้ำอย่างน่าประทับใจ สามารถช่วยมนุษย์อ่านและเขียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงคล้ายกับมีคนเก่งๆระดับมืออาชีพที่มีทักษะ มาเป็นที่ปรึกษา เป็นครูพิเศษ คอยช่วยเราทำงาน ช่วยเขียนรหัส หรือช่วยเหลือทางด้านเทคนิค
  • ดังนั้น เชื่อว่าการนำเทคโนโลยี AI เหล่านี้มาช่วยในงานด้านการศึกษาและด้านการแพทย์ จะเป็นเรื่องที่เกิดประโยชน์อย่างเยี่ยมยอด

เกตส์เชื่อว่า AI จะมีบทบาทอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงโลกของเราในระยะ 5 ปีข้างหน้า

อาจจะมองได้ว่า ส่วนหนึ่งที่เกตส์ออกมาให้ความสนับสนุนเทคโนโลยี AI อย่างแข็งขันนี้ เพราะปัจจุบัน เขายังคงเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของไมโครซอฟท์ และไมโครซอฟท์ก็มีการลงทุนและเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับโอเพ่นเอไอ แต่เกตส์ก็มีเหตุผลทางด้านมนุษยธรรมมาสนับสนุนความคิดเห็นของเขาด้วยเช่นกัน

โดยในฐานะผู้บริหาร มูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ หรือที่รู้จักในนาม “มูลนิธิเกตส์” ซึ่งเป็นมูลนิธิเอกชนหรือส่วนบุคคลที่ใหญ่ที่สุดในโลก เขามองว่า AI จะเข้ามาตอบโจทย์เป้าหมายของมูลนิธิได้เป็นอย่างดีในการช่วยเหลือประเทศยากจนที่ด้อยโอกาส ให้สามารถเข้าถึงประโยชน์บางอย่างเฉกเช่นประเทศร่ำรวยและพัฒนาแล้ว ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี AI สามารถตอบโจทย์ความต้องการบางอย่างที่ประเทศยากจนในแอฟริกากำลังเผชิญอยู่ เช่นการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ การขาดแคลนหมอ ขาดแคลนครู ซึ่งปัญหาแบบนี้ ประเทศในโลกตะวันตก ไม่ค่อยได้พบเจอแล้ว 

ดังนั้น ในมุมมองของเกตส์ เทคโนโลยี AI อาจเข้ามาแทนที่งานบางส่วนของมนุษย์ในบางพื้นที่หรือบางประเทศ แต่ในพื้นที่ขาดแคลนอย่างเช่นในแอฟริกา ที่ซึ่งยังขาดทั้งหมอและครู เทคโนโลยี AI สามารถเข้ามาเติมเต็มช่องว่างและทำงานแทนมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตั้งใจบริจาคทั้งหมดที่มีอยู่ใน 20 ปี

บิล เกตส์ ซึ่งปัจจุบันมีทรัพย์สินส่วนตัวราว 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นมหาเศรษฐีที่มีความร่ำรวยเป็นอันดับ4 ของโลกในทำเนียบ Bloomberg’s Billionaires Index ยังกล่าวในช่วงหนึ่งของการให้สัมภาษณ์กับ CNN เกี่ยวกับเรื่องความร่ำรวยว่า ทุกวันนี้ เขามีกินมีใช้มากเกินความจำเป็นอยู่มากแล้ว จึงบริจาคเงินส่วนเกินที่ว่านี้ให้โครงการสาธารณะกุศลที่ทำอยู่โดยไม่เคยกลัวว่าจะทำให้รวยน้อยลง หรือทำให้อันดับบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกของเขาต้องปรับลดลงมา

“ผมทำให้อันดับของตัวเองลดลงมา และจะภูมิใจมากเลยนะถ้าชื่อของผมไม่ได้ติดอยู่ในทำเนียบมหาเศรษฐีโลกน่ะ”

เกตส์และเมลินดา ซึ่งปัจจุบันเป็นอดีตภรรยา (ทั้งคู่หย่าร้างกันในปี 2564) ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิการกุศลขึ้นมาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดยทั้งคู่มุ่งมั่นที่จะบริจาคทรัพย์สินส่วนใหญ่ที่ถือครองอยู่เพื่องานสาธารณะกุศล

ในปี 2565 เกตส์ประกาศว่ามูลนิธิของเขามีความตั้งใจที่จะบริจาคเงินปีละ 9,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2569 ซึ่งการบริจาคเงินรายปีในอัตราดังกล่าว จะทำให้เขาจะบริจาคเงินทั้งหมดที่มีอยู่ได้หมด ภายในเวลาประมาณ 20 ปี