สถาบันในอียูเสนอเก็บภาษีอภิมหาเศรษฐีทั่วโลก เพิ่มรายได้หลักแสนล้านดอลล์

25 ต.ค. 2566 | 04:59 น.

รายงานฉบับล่าสุดที่จัดทำโดยสถาบันคลังสมองของสหภาพยุโรป (อียู) เสนอแหล่งรายได้ใหม่สำหรับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ นั่นก็คือ การเก็บภาษีบรรดามหาเศรษฐีระดับพันล้านที่มีอยู่ทั่วโลก จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

รายงานของ สถาบัน EU Tax Observatory ที่มีชื่อหัวข้อว่า 2024 Global Tax Evasion Report ชี้ว่า รัฐบาลทั่วโลกควรร่วมมือกันป้องกันการหลบเลี่ยงภาษี และจัดทำอัตราภาษีขั้นต่ำสากลสำหรับมหาเศรษฐีพันล้าน(ดอลลาร์)ขึ้นไป ซึ่งคาดว่าด้วยวิธีการนี้จะช่วยสร้างเงินรายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้นถึง 250,000 ล้านดอลลาร์ทั่วโลกในแต่ละปี

อัตราภาษีใหม่นี้คำนวณจากสัดส่วนราว 2% ของมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดเกือบ 13 ล้านล้านดอลลาร์ของมหาเศรษฐีพันล้านทั่วโลกจำนวนประมาณ 2,700 คน ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมากแก่รัฐบาลต่าง ๆ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงรายงานชิ้นนี้ว่า ที่ผ่านมามหาเศรษฐีพันล้านมักเสียภาษีในอัตราต่ำกว่าประชาชนทั่วไป เนื่องจากคนรวยเหล่านั้นมีช่องทางเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถนำเงินไปเก็บไว้กับบริษัทตัวแทน หรือในบัญชีในต่างประเทศ เพื่อเลี่ยงการจ่ายภาษีในประเทศของตัวเอง

ทั้งนี้ สถาบัน EU Tax Observatory ระบุว่า ปัจจุบันอัตราภาษีที่บรรดามหาเศรษฐีต้องจ่ายนั้นอยู่ที่ระดับประมาณ 0.5% ในสหรัฐอเมริกา และเกือบ 0% ในฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐบาลหลายประเทศพยายามหาวิธีเก็บภาษีคนร่ำรวยเพิ่มขึ้น เช่นกรณีของสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เสนอเก็บภาษีขั้นต่ำ 25% สำหรับคนอเมริกันที่ร่ำรวยที่สุด 0.01% แรก แต่คาดว่าข้อเสนอดังกล่าวจะไม่ผ่านความเห็นชอบของจากสภาคองเกรส

สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐรายงานว่า สองปีที่ผ่านมา (2021) นายรอน ไวเดน ประธานกรรมาธิการด้านการเงินวุฒิสภาสหรัฐ สังกัดพรรคเดโมแครต ได้นำเสนอแผนนโยบายจัดเก็บภาษีจากผู้มีฐานะร่ำรวยระดับอภิมหาเศรษฐีในสหรัฐ เพื่อหวังนำรายได้มาช่วยสนับสนุนร่างกฎหมายพัฒนาสังคมและแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงของประธานาธิบดี โจ ไบเดน โดยแผนดังกล่าวซึ่งมีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า “ภาษีสำหรับอภิมหาเศรษฐี” เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ด้านนิติบัญญัติแบบคู่ขนาน ที่รวมถึง ข้อเสนอการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำที่อัตรา 15% สำหรับบริษัทสัญชาติอเมริกันที่ทำกำไรได้เป็นอันดับต้นๆ

ข้อเสนอกฎหมายภาษีทั้งสองนี้ มีจุดประสงค์เพื่อมาช่วยอุดช่องว่างการหลบเลี่ยงภาษีของภาคธุรกิจและผู้มีฐานะร่ำรวยทั้งหลาย ทั้งยังจะช่วยให้รัฐบาลสหรัฐ สามารถจัดเก็บรายได้เป็นมูลค่านับแสนล้านดอลลาร์ ซึ่งสามารถนำมาใช้สนับสนุนกฎหมาย “Build Back Better” ของ ปธน.ไบเดน ที่เคยมีการประเมินว่าจะต้องใช้เงินราว 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ ถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์

แม้ว่า ทำเนียบขาวจะแสดงจุดยืนสนับสนุนการตั้งอัตราขั้นต่ำภาษีนิติบุคคล ที่จะนำมาใช้งานประกบแผนจัดเก็บภาษีนิติบุคคลทั่วโลก ที่รัฐบาลจาก 136 ประเทศเพิ่งตกลงรับมาดำเนินการเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งตั้งเป้าไปที่บรรดาธุรกิจข้ามชาติต่างๆ ที่ไม่ได้จ่ายภาษี หรือจ่ายภาษีเพียงน้อยนิดด้วยการอาศัยช่องโหว่ของระบบภาษีสากล แต่กระนั้นก็ตาม “ภาษีสำหรับอภิมหาเศรษฐี” ยังคงได้รับการคัดค้านจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคเดโมแครต ที่ต้องการเห็นการปรับขึ้นภาษีแบบตรงไปตรงมา สำหรับทั้งภาคธุรกิจและผู้มีฐานะร่ำรวย เพื่อนำรายได้มาสนับสนุนวาระนโยบายของปธน.ไบเดน มากกว่า

ทั้งนี้ ในระดับทั่วโลก เมื่อปี 2021 ผู้แทนจาก 140 ประเทศบรรลุข้อตกลงกำหนดภาษีขั้นต่ำ 15% สำหรับบริษัทต่าง ๆ เพื่อจำกัดความสามารถของบรรดาบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ใช้วิธีโยกย้ายผลประกอบการไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่าเพื่อให้เสียภาษีน้อยลง

นายเกเบรียล ซัคแมน นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ผู้อำนวยการของสถาบัน EU Tax Observatory กล่าวให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า "สิ่งที่คนจำนวนมากมองว่าเป็นไปไม่ได้ อาจสามารถกลายเป็นความจริงขึ้นมาได้" โดยขั้นต่อไป คือการนำแนวคิดนี้ไปใช้กับมหาเศรษฐีในประเทศต่าง ๆ ไม่ใช่แค่กับบริษัทข้ามชาติเท่านั้น