บทบาทสหรัฐในสงครามอิสราเอล-ฮามาส สร้างสันติภาพหรือเติมเชื้อไฟ

16 ต.ค. 2566 | 03:54 น.

ปธน.ไบเดน เรียกร้องสภาคองเกรส เพิ่มความช่วยเหลือทางทหารแก่อิสราเอล พร้อมส่งเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สองเข้าสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนพร้อมเสริมกำลังหนุน ท่ามกลางกระแสชุมนุมประท้วงสงครามในหลายประเทศ ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งโต๊ะเจรจาสันติภาพ

 

ทำเนียบขาว ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ (15 ต.ค.) ที่ผ่านมาว่า จะพยายามขอการรับรองจาก รัฐสภาสหรัฐ ภายในสัปดาห์นี้ สำหรับ ความช่วยเหลือด้านอาวุธ ที่จะส่งให้แก่สองชาติพันธมิตรสหรัฐที่กำลังอยู่ในภาวะสงคราม ได้แก่ ยูเครนและ อิสราเอล มูลค่าความช่วยเหลือรวมกันราว 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 72,500 ล้านบาท

โปรยความช่วยเหลือด้านอาวุธ-สนับสนุนภารกิจทางทหาร

นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงทำเนียบขาว กล่าวในรายการ Face the Nation ของสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะล็อบบี้รัฐสภาอเมริกันถึงความจำเป็นในการจัดส่งความช่วยเหลือด้านอาวุธให้แก่ยูเครนที่กำลังทำสงครามยืดเยื้อกับรัสเซีย และให้แก่อิสราเอลที่กำลังจะบุกโจมตีภาคพื้นดินใส่กลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา

คาดว่าไบเดนยังจะเรียกร้องขอความสนับสนุนให้แก่ไต้หวัน และมาตรการควบคุมผู้อพยพตามแนวชายแดนทางภาคใต้ของสหรัฐที่ติดกับเม็กซิโกด้วย

ชาวปาเลสไตน์นับล้านที่อาศัยในเขตฉนวนกาซาตอนเหนือ กำลังอพยพมุ่งลงทางใต้ตามคำเตือนของอิสราเอล

เนื่องจากการสู้รบภาคพื้นดินกำลังจะเริ่มขึ้น โดยอิสราเอลประกาศกวาดล้างกลุ่มฮามาสให้สิ้นซาก

ด้านนายชัค ชูเมอร์ ผู้นำพรรคเดโมแครตในวุฒิสภาสหรัฐ กล่าวขณะเยือนนครเยรูซาเล็ม ประเทศอิสราเอล เมื่อวันอาทิตย์(15 ต.ค.)ว่า วุฒิสภาจะรับรองความช่วยเหลือที่ให้แก่อิสราเอลอย่างรวดเร็วที่สุด โดยความช่วยเหลือที่ว่านี้รวมถึง จรวดสำหรับระบบป้องกันการโจมตีด้วยขีปนาวุธ ไอรอน โดม (Iron Dome) ของกองทัพอิสราเอล ซึ่งทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อยิงสกัดจรวดที่ยิงมาจากกลุ่มฮามาสในกาซา รวมทั้งกระสุนต่าง ๆ

ที่ผ่านมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐบางส่วน โดยเฉพาะกลุ่มขวาจัดในพรรครีพับลิกัน ต่างปฏิเสธที่จะสนับสนุนความช่วยเหลือแก่ยูเครนเพิ่มเติม ทำให้รัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนต้องรวมความช่วยเหลือที่ให้แก่อิสราเอลเอาไว้กับส่วนที่จะให้แก่ยูเครน เพื่อหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกพรรครีพับลิกันกลุ่มดังกล่าว

สหรัฐพร้อมสนับสนุนอิสราเอลด้านจรวดสำหรับระบบป้องกันการโจมตีด้วยขีปนาวุธ (Iron Dome) เพื่อสกัดจรวดที่ยิงมาจากกลุ่มฮามาสในกาซา

อย่างไรก็ตาม ส.ส.พรรครีพับลิกันบางคนบอกปัดข้อเสนอรวมความช่วยเหลือแก่สองประเทศนี้แล้ว ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมืองภายในของสหรัฐเอง หลังจากที่ ส.ส.เควิน แมคคาร์ธีย์ เพิ่งถูกปลดจากตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ในขณะที่พรรครีพับลิกันยังไม่สามารถหาตัวแทนประธานสภาล่างคนใหม่ได้ ซึ่งการที่สหรัฐยังไม่มีประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่นี้ หมายความว่า รัฐสภาจะยังไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายใด ๆ ได้ในเวลานี้

การชุมนุมในกรุงวอชิงตัน เรียกร้องรัฐบาลสหรัฐยุติการนำเงินภาษีประชาชนไปสนับสนุนด้านอาวุธแก่อิสราเอล

เหตุผลที่ต้องสนับสนุนอิสราเอลเต็มสูบ

นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว กล่าวในรายการ State of the Union ของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นว่า “ภารกิจสำคัญที่สุดของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในขณะนี้ คือการค้นหาและช่วยเหลือตัวประกันชาวอเมริกันที่เชื่อว่าถูกกลุ่มฮามาสจับกุมตัวไว้ แม้จะยังไม่ทราบว่าพวกเขาเป็นใครและอยู่ที่ไหน”

ก่อนหน้านี้ นายซัลลิแวน กล่าวในรายการ This Week ของสถานีเอบีซีว่า ชาวอเมริกันบางคนอาจถูกสังหารแล้วก็เป็นได้ และว่า สหรัฐกำลังพยายามทำงานร่วมกับอีกหลายประเทศเพื่อให้มีการปล่อยตัวประกันออกมา แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดเพิ่มเติม

ทั้งนี้ สำนักข่าวเอเอฟพีของฝรั่งเศสรายงานว่า สหรัฐอเมริกา เป็นชาติที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส โดยมีพลเมืองอเมริกันอย่างน้อย 30 ราย เสียชีวิตนับตั้งแต่พวกฮามาสลงมือโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา และสูญหาย 13 คน นอกจากนี้้ยังมีพลเมืองสหรัฐอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัด ที่เชื่อว่าถูกลักพาตัว

บ้านเรือนในเขตฉนวนกาซาราบเป็นหน้ากลองหลังการโจมตีของอิสราเอล ขณะที่ความปลอดภัยของผู้ถูกจับเป็นตัวประกันยังไม่ทราบชะตากรรม

ประเทศที่สูญเสียรองลงมาได้แก่ประเทศไทย ซึ่งเอเอฟพีรายงานอ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศของไทย ระบุว่ามีชาวไทยเสียชีวิตแล้ว 28 ราย และเชื่อว่าถูกลักพาตัวอีก 17 คน ขณะที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 16 ราย ส่วนฝรั่งเศส ตามมาเป็นอันดับ 3 คือเสียชีวิต 9 รายและสูญหาย 13 คน ด้านรัสเซีย มาเป็นอันดับ 4 คือมีพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 16 รายและสูญหาย 8 คน ท่ามกลางความเป็นไปได้ว่าอย่างน้อย 1 ในนั้น อาจถูกกลุ่มฮามาสจับไปเป็นตัวประกัน

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (14 ต.ค.) นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า สหรัฐได้ตัดสินใจส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สอง คือ ยูเอสเอส ไอเซนฮาวเออร์ (USS Eisenhower) ไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียนฝั่งตะวันออกแล้ว โดยเรือดังกล่าวจะเข้าร่วมสมทบกับกองเรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส เจอร์รัลด์ อาร์.ฟอร์ด (USS Gerald R. Ford) ซึ่งเดินทางไปถึงก่อนหน้าหลายวันที่ผ่านมา

เรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส ไอเซนฮาวเออร์ (USS Eisenhower) ของสหรัฐกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก

ด้านนานาประเทศ กำลังพยายามหาทางออกให้กับการสู้รบครั้งนี้ โดยทางด้านรัสเซียได้มีคำขอไปถึงคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ให้มีการลงมติในวันจันทร์นี้ (16 ต.ค.) เรื่องร่างมติว่าด้วยการจัดทำข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าถึงพื้นที่ความขัดแย้งได้ รวมทั้งขอให้มีการประณามการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนและการกระทำที่เข้าข่ายก่อการร้ายทุกกรณีด้วย