ถอดบทเรียนวิกฤตอิสราเอล-ปาเลสไตน์ สิ่งที่คนไทยและรัฐไทยควรทำ-ไม่ควรทำ

10 ต.ค. 2566 | 02:55 น.

ถอดบทเรียนวิกฤตอิสราเอล-ปาเลสไตน์ สิ่งที่คนไทยและรัฐไทยควรทำและไม่ควรทำ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วิกฤตอิสราเอล-ปาเลสไตน์ กำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเน้นไปที่การถอดบทเรียนจากวิกฤตนี้ รวมทั้งคำแนะนำสำหรับรัฐบาลเเละคนไทย

"ก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจ และขอเป็นกำลังใจให้กับคนไทยและประชาคมนานาชาติ โดยเฉพาะกับครอบครัว ญาติ มิตร ของผู้สูญเสีย ทั้งชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้สูญเสียทรัพย์สิน และผู้สูญเสียโอกาสในการทำงาน รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งขอเรียกร้องให้มีการทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจ และยุติการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะความรุนแรงต่อประชาชน"

อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาสิ่งหนึ่งซึ่งสะท้อนจากการติดตามสถานการณ์ คือ พวกเราชาวไทยดูเหมือนจะมีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตนในภาวะวิกฤตที่ยังคลาดเคลื่อนอยู่มาก ทั้งประชาชนทั่วไป และผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาล ดังนั้นจึงขออนุญาตใช้พื้นที่นี้ ถอดบทเรียนและกล่าวถึงสิ่งที่คนไทยและรัฐไทยควรทำและไม่ควรทำ

สำหรับประชาชนทั่วไป

1.โทรหาสถานทูตไทยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศ การตรวจสอบดูว่าประเทศที่ไป หรือเมืองที่จะไป มีสถานทูตไทย หรือสถานกงสุลไทยที่อยู่ใกล้ที่สุด ตั้งอยู่ที่ใด และช่องทางติดต่อกับสถานทูตสามารถทำได้อย่างไร เพราะในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะมาในรูปแบบภัยธรรมชาติ ภัยก่อการร้าย ภัยสงคราม หรือ ปัญหาส่วนบุคคล อาทิ ถูกหลอกลวง ถูกขโมย ถูกทำร้าย ช่องทางการติดต่อเหล่านี้คือสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะนอกจากจะให้คำปรึกษาต่อการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องแล้ว ยังเป็นช่องทางในการยืนยันตัวตน และเป็นจุดศูนย์กลางในการที่จะพาท่านกลับสู่ประเทศไทยในกรณีฉุกเฉินอีกด้วย โดยภาพที่ผมแปะไว้ใน FB นี้คือ เบอร์ Hotline สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ทั่วโลก ที่ update โดยกรมการกงสุล

2. กรณีไม่มีสถานทูตไทย ให้ติดต่อสถานทูตอาเซียน สำหรับเมือง และประเทศที่ประเทศไทยไม่ได้มีสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ตั้งอยู่ เมื่อประสบเหตุคนไทยสามารถเข้าไปขอความช่วยเหลือได้ทันทีที่สถานทูตของประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน อันได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม โดยประชาคมอาเซียนมีข้อตกลงกันแล้วในเรื่องนี้ว่าสถานทูตของแต่ละประเทศสมาชิกจะให้การดูแลและให้บริการกับประชาชนอาเซียนในรูปแบบเดียวกับคนชาติของตนเอง

3. ออกจากพื้นที่อันตราย และงด Live สด แน่นอนว่าการออกจากพื้นที่อันตรายน่าจะเป็นสัญชาตญานอัตโนมัติ แต่ในโลกยุคดิจิตอลที่ทุกคนเข้าถึง Social Media สิ่งย้อนแย้งที่เราเห็นซึ่งเชื่อว่าเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการคือ เราเห็นพี่น้องคนไทยจำนวนหนึ่งออกไป Live สด เพื่อเล่าให้เพื่อนฝูง ญาติสนิทมิตรสหาย และครอบครัวทราบว่า ท่านปลอดภัยดี และบางคนก็

อยากได้ยอด Like อยากได้ Engagement ซึ่งนั่นคือ การกระทำที่อันตรายที่สุด โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นภัยจากการก่อการร้าย และ/หรือ ภัยสงคราม เพราะผู้ก่อเหตุที่มีแนวคิดสุดโต่งจะรู้ทันทีว่าตำแหน่งของท่านอยู่ ณ จุดใด ท่านกำลังเปิดเผยสถานที่อยู่ของท่านให้อันตราย และ/หรือ ฆาตกรเข้ามาหาตัวท่านได้โดยรู้เท่าไม่ถึงการ

กรณีปาเลสไตน์ต้องอย่าลืมว่า การที่เราคนไทยไปทำงานให้ฝั่งอิสราเอลทำให้มีกลุ่มแนวคิดสุดโต่งจำนวนหนึ่งพิจารณาว่า คนไทยคือส่วนหนึ่งของขบวนการ Zionist หรือขบวนการชาตินิยมในหมู่ชาวยิวทั้งที่เชื่อในการสถาปนาใหม่และสนับสนุนรัฐยิวในบริเวณที่นิยามว่าเป็นแผ่นดินอิสราเอล ซึ่งถือเป็นศัตรูคู่แค้นโดยตรงของพวกเขา ดังนั้นหากอยากจะแจ้งข่าวให้ครอบครัวทราบว่าท่านปลอดภัยดี อย่าได้ Post ใน Social Media หากแต่ต้องอยู่ในที่ปลอดภัย และใช้โทรศัพท์ในการโทรแจ้งกับครอบครัว อย่า live สด

4. เตรียมแผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อท่านอยู่ในต่างประเทศกับครอบครัว กับเพื่อน สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งคือ การเตรียมแผนรับมือในสถานการณ์ฉุกเฉิน สำรวจทางหนีทีไล่ เตรียมอุปกรณ์ยังชีพ Supply ต่าง ๆ ที่จำเป็น อาทิ เครื่องปฐมพยาบาล น้ำสะอาด อาหารกระป๋อง รองเท้า สำเนาเอกสารสำคัญ ไฟฉาย ไม้ขีดไฟ Power Bank ฯลฯ บรรจุใส่ประเป๋า วางในตำแหน่งที่รับรู้กัน และนำติดตัวไปด้วยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมทั้งนัดหมายสถานที่ที่จะนัดเจอกันเมื่อต่างคนต่างหนีเอาตัวรอดออกไปได้ ทั้งนี้เพื่อจะได้ไม่เกิดภาวะห่วงหน้าพะวงหลัง นัดจุดนัดพบที่ปลอดภัย และรอคอยความช่วยเหลืออยู่ ณ บริเวณนั้น

สำหรับรัฐบาล

ด้วยความเคารพท่านผู้บริหารรัฐบาล ผมพิจารณาว่าการบริหารการสื่อสารในภาวะวิกฤตของท่านต้องได้รับการปรับปรุง การสื่อสารในภาวะวิฤต (Crisis Communication) เบื้องต้น มีหลักการดังนี้

1. การเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุวิกฤต

ท่านต้องกำหนด Spokeperson ที่ชัดเจน และให้เขาเป็นผู้สื่อสารแต่เพียงผู้เดียวจากจุดเดียวเพื่อป้องกันความสับสน ดังนั้นสายการบังคับบัญชาต้องชัดเจน ซึ่งผู้ที่เหมาะสมที่สุดถ้าเป็นวิกฤตที่ร้ายแรงจริงๆ ท่านนายกรัฐมนตรีต้องหยุดภารกิจในต่างประเทศและกลับมาทำหน้าที่นี้ในการแถลงด้วยตนเอง จากนั้นอาจจะมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีด้านการต่างประเทศ หรือถ้าจะให้เป็นมืออาชีพก็ควรจะเป็นอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งทำหน้าที่เป็นโฆษกกระทรวงการต่างประเทศอยู่แล้ว และมีคณะทำงานที่มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง ครบถ้วน

วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายหลักของการสื่อสารในภาวะวิกฤต องค์ความรู้ในเรื่องการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Communication) เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เป้าหมายของการสื่อสาร (End) อยู่ที่จุดใด แนวทางในการสื่อสาร (Ways) ที่เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์เป็นอย่างไร และเครื่องมือ (Means) หน่วยงานไหน ใคร สื่อไหน และพันธมิตรในการสื่อสารคือใคร เหล่านี้ต้องมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า

2. ระหว่างเกิดวิกฤต

กำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนว่าในวิกฤตแต่ละวิกฤต เป้าหมายแรกที่สำคัญที่สุดคือสิ่งใด เป้าหมายรองลงมาคือเป้าหมายใด ในกรณีวิกฤตอิสราเอล-ปาเลสไตน์ เป้าหมายที่สำคัญที่สุดตามลำดับความสำคัญ อาทิ  1) ช่วยเหลือคนไทยที่ตกเป็นตัวประกัน 2) ช่วยเหลือคนไทยให้อพยพออกจากพื้นที่ 3) เยียวยา ชดเชย ผลกระทบจากเหตุการณ์ ฯลฯ เมื่อเป้าหมายชัด Ways และ Means จะตามมา

แถลงการณ์ที่จะออกมาต้องใช้ช่องทางที่เป็นทางการ หลีกเลี่ยงการใช้ Social Media โดยเฉพาะ Twitter-X เพราะมีข้อจำกัดเรื่องความยาวจากจำนวนตัวอักษร รวมทั้งไม่ควรใช้ Social Media เพราะเป็นการสื่อสารที่ฉับพลันทันที อาจทำให้มือลั่น สื่อสารออกไปโดยยังไม่ได้คิดวิเคราะห์พิจาณาอย่างรอบคอบรอบด้าน หลีกเลี่ยงข้อความที่สามารถตีความได้ว่า ประเทศไทยได้เลือกข้าง เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะสถานกาณ์อย่างกรณีวิกฤตอิสราเอล-ปาเลสไตน์มีความซับซ้อนในทางประวัติศาสตร์ ศาสนา ความเชื่อ และมีการแทรกแซงจากหลายฝ่าย และถูกตีความโดยอคติได้ง่าย

เมื่อเป้าหมายคือการช่วยเหลือคนไทยที่ตกเป็นตัวประกันออกมาจากพื้นที่ และพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ไทยไม่ได้มีสถานเอกอัครราชทูต ถึงแม้ไทยจะยอมรับสถานะของ State of Palestine มาตั้งแต่ปี 2012 และมีการเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดี Mahmoud Abbas แห่งปาเลสไตน์ในปี 2016 แต่ด้วยความที่ประเทศไทยยังไม่มีสถานทูตในปาเลสไตน์ และสถานทูตในอิสราเอลซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงก็ไม่อยู่ในสถานะที่จะเจรจาได้ โดยสถานทูตไทยที่อยู่ใกล้ที่สุดคือที่ กรุง Amman ประเทศจอร์แดน ดังนั้นการขอความอนุเคราะห์จากรัฐบาลมาเลเซียและ/หรืออินโดนีเซียที่มีความสัมพันธ์พิเศษกับปาเลสไตน์เป็นเรื่องสำคัญ และทั้ง 2 ประเทศเองก็ไม่ต้องการมีสัมพันธ์ที่ดีกับอิสราเอล ดังนั้นการออกข้อความที่ทำให้คิดได้ว่า ไทยสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะทำให้การขอความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านทำได้ยากมากยิ่งขึ้น

แถลงการณ์ที่จะออกต้องมาจากจุดเดียว เพื่อป้องกันความสับสน ใช้ข้อมูลทางการ ผ่านการวิเคราะห์อย่างรอบด้านจากผู้เชี่ยวชาญ มีการตรวจสอบเนื้อหาอย่างรอบคอบรอบด้าน เน้นเรื่องการแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ และเรียกร้องให้ยุติความรุนแรง รวมทั้งให้ทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจ และเรียนรู้ประวัติศาสตร์จากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในอนาคต

ใช้วิธีการอ่านแถลงการณ์อย่างช้า ๆ ด้วยน้ำเสียงเนิบ ปราศจากการใส่อารมณ์ และไม่จำเป็นต้องมีการถาม-ตอบปัญหาหลังการอ่านแถลงการณ์ เพราะอาจเกิดการยั่วยุ อาจเกิดการเข้าใจผิด หรืออาจเกิดการผลิดพลาดทางการสื่อสาร

สื่อสารจากจุด ๆ เดียว ในกรณีวิกฤตอิสราเอล-ปาเลสไตน์ สิ่งที่ผิดพลาดอย่างยิ่ง การให้ผู้บริหารภาครัฐหลายคนออกมาแถลงกับสื่อ โดยไม่มีความเป็นหนึ่งเดียว หรือการสื่อสารโดยไม่ผ่านการกลั่นกรอง การใช้ข้อมูลที่ไม่เป็นทางการ หรือข้อมูลที่ผิดพลาด รวมทั้งการใช้คำพูดที่พลั้งปาก จะทำให้เกิดความเสียหาย อาทิ ผู้บริหารระดับสูงบางท่านออกมาแถลงข่าวและแจ้งว่าเป็นข่าวดีหรือเป็นเรื่องดีที่คนไทยเสียชีวิตเพียงหนึ่งราย เพราะอีกรายเป็นชาวจีน การใช้คำว่า ข่าวดีหรือเรื่องดี ในสถานการณ์เช่นนี้ อาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะคนไทยไม่เสียชีวิต แต่คนชาติอื่นเขาเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ก่อนหน้านี้พึ่งจะมีการเสียชีวิตของคนต่างชาติในประเทศของเราจากเหตุการณ์เลวร้ายก่อนหน้า เหตุการณ์เช่นนี้ไม่สมควรเกิดขึ้น

3. ระยะเวลาต่อเนื่อง

เร่งหารือกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับทราบในเบื้องต้นถึงผลกระทบในมิติต่าง ๆ ที่จะตามมาทั้งมิติความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อสังคม

การมอบหมายให้มีการทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น การถอดบทเรียน และจัดทำเป็น Playbook คู่มือการจัดการภายใต้ภาวะวิกฤต เพื่อรับมือกับสภานการณ์ในอนาคต คือสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง

4. พลิกวิกฤตเป็นโอกาส

เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียน ไม่ใช่ทุกประเทศที่มีสถานทูตในทั้งอิสราเอล และปาเลสไตน์ แต่ทุกประเทศมีโอกาสที่จะมีประชาชนของเขาตกค้างอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ที่ไทยจะขอให้มีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียน เพื่อยืนยันความเป็นประชาคมอาเซียนร่วมกัน ว่าเราจะมอบหมายให้ประเทศสมาชิกที่มีสถานทูตอยู่ในทั้ง 2 รัฐนี้ ให้ความช่วยเหลือกับประชาชนอาเซียนอย่างไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อให้คนอาเซียนได้เห็นว่า ในภาวะวิกฤต อาเซียนคือที่พึ่งของเขา

อาเซียนคือกลไกที่เป็นประชาคมของประชาชน และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะใช้กลไกของอาเซียน ที่เรียกว่า ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on Disaster Management หรือ AHA Centre ในการส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมจากอาเซียนไปสู่ผู้ประสบภัยในพื้นที่เสี่ยง โดยไม่เลือกว่าเป็นฝ่ายใด แต่นี่คือภารกิจของอาเซียนต่อประชาคมโลก นี่คือโอกาสในการกลับมามีบทบาทนำของไทยในเวทีอาเซียน

ถอดบทเรียนวิกฤตอิสราเอล-ปาเลสไตน์ สิ่งที่คนไทยและรัฐไทยควรทำ-ไม่ควรทำ

ถอดบทเรียนวิกฤตอิสราเอล-ปาเลสไตน์ สิ่งที่คนไทยและรัฐไทยควรทำ-ไม่ควรทำ

ถอดบทเรียนวิกฤตอิสราเอล-ปาเลสไตน์ สิ่งที่คนไทยและรัฐไทยควรทำ-ไม่ควรทำ