นายกฯประชุมยูเอ็น SDG Summit ย้ำไทยมุ่งพัฒนาอย่างยั่งยืน ยกระดับชีวิตปชช.

20 ก.ย. 2566 | 00:11 น.

นายกฯ ประกาศความมุ่งมั่นของไทยในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของทุกกลุ่ม และความร่วมมือเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะช่วยยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนโดยตรง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงใน การประชุม SDG Summit ประจำปี 2566 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ซึ่งจัดขึ้นในห้วง การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 โดยเน้นย้ำความสำคัญของระบบพหุภาคีนิยมที่มีประสิทธิภาพ การปฏิรูประบบการเงินระหว่างประเทศ และความจำเป็นในการลงทุนเพิ่มเพื่อเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

นอกจากนี้ ยังได้ย้ำถึงความจำเป็นในการขับเคลื่อน SDGs อย่างพลิกโฉม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยึดคนเป็นศูนย์กลางและให้ความสำคัญกับโลก โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของทุกกลุ่ม และความร่วมมือเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะช่วยยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนโดยตรง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการประชุม SDG Summit 2023

“ไทยสนับสนุนข้อเรียกร้องของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ในการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ผ่านมาตรการกระตุ้นการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Stimulus) เป็นจำนวนเงิน 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จนถึงปี ค.ศ. 2030 ซึ่งสำหรับการดำเนินการของไทย รัฐบาลได้ออกมาตรการทางการเงิน 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว และ Thailand Green Taxonomy เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ผ่านการกระตุ้นการกำหนดกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากภาคธุรกิจของไทย โดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand: GCNT) ซึ่งมีบริษัทมากกว่า 100 บริษัททั่วประเทศ ตั้งเป้าขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และจะลงทุนจำนวน 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ภายในปี ค.ศ. 2030” นายกรัฐมนตรีกล่าว 

ทั้งนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน จำเป็นต้องมีแนวทางที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่าน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งประเทศไทยได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนโยบายเศรษฐกิจ BCG มาเป็นแนวทางเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยพร้อมประกาศความมุ่งมั่นระดับประเทศเพื่อขับเคลื่อน SDGs รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนี้ 

  1. มุ่งมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave no one behind) ผ่านหลักการไปให้ถึงและช่วยเหลือกลุ่มที่รั้งท้ายก่อน (reaching those furthest behind first) รวมทั้งลดความยากจนในคนทุกช่วงวัย ภายในปี ค.ศ. 2027
  2. มุ่งมั่นในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศสำหรับประชากรทุกคนในประเทศ เช่น ตั้งเป้าหมายให้ครัวเรือนที่จะต้องกลายเป็นครัวเรือนยากจนหลังจ่ายค่ารักษาพยาบาล (Health impoverishment) ต้องมีจำนวนลดลงเหลือไม่เกินร้อยละ 0.25 ภายในปี ค.ศ. 2027
  3. มุ่งมั่นที่จะผลักดันร่วมมือกับหุ้นส่วนทุกระดับรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงบริการพลังงานสมัยใหม่ (modern energy services) ในราคาที่เหมาะสมและมีความน่าเชื่อถือภายในปี ค.ศ 2030

ไทยมี 3 ประเด็นหลักสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

การเข้าร่วม การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ในช่วงสัปดาห์ผู้นำ (UNGA78 High-level Week) ระหว่างวันที่ 18 - 24 กันยายน 2566 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นับเป็นการเดินทางปฏิบัติ ภารกิจต่างประเทศแรก ของนายกรัฐมนตรี มีวัตถุประสงค์เพื่อ

(1) เสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศไทย (renewing confidence) เป็นการเปิดตัวนายกรัฐมนตรีในเวทีสหประชาชาติ ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างประเทศที่มีระดับผู้นำมาร่วมมากที่สุด ในฐานะผู้นำรัฐบาลใหม่ของไทยที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย สะท้อนถึงเสถียรภาพ ศักยภาพ และความพร้อมของไทยในการเดินหน้าสานสัมพันธ์ขับเคลื่อนพลวัตความร่วมมือกับนานาประเทศ โดยการนำเสนอนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน เทคโนโลยี และการพัฒนาที่ยั่งยืน

นับเป็นการเปิดตัวนายกรัฐมนตรีภารกิจแรกในเวทีสหประชาชาติ

(2) ย้ำความเชื่อมั่นและการสนับสนุนของไทยต่อระบอบพหุภาคีที่มีสหประชาชาติเป็นศูนย์กลาง และความมุ่งมั่นของไทยในการมีส่วนร่วมในฐานะรัฐสมาชิกสหประชาชาติที่มีบทบาทสร้างสรรค์และมีความรับผิดชอบ โดยมีส่วนร่วมกำหนดวาระสำคัญของโลกที่สมดุล และสนับสนุนบทบาทของสหประชาชาติในการรับมือกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคตท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

(3) ผลักดันความร่วมมือของประชาคมโลกในการเร่งขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) เพื่อรับมือกับวิกฤตช่องว่างการพัฒนา แก้ไขปัญหา ความเหลื่อมล้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมความสมดุลในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่ง แวดล้อม เสริมสร้างความเป็นอยู่อย่างสันติ ความอยู่ดีกินดี สภาพแวดล้อมที่ดี และสุขภาพที่ดีถ้วนหน้าอย่างยั่งยืน (Accelerating the SDGs for peace, prosperity, and sustainability for all)

นอกจากนี้ ไทยจะใช้โอกาสการเข้าร่วม UNGA78 High-level Week เปิดตัวการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่ง สหประชาชาติ (Human Rights Council - HRC) วาระปี ค.ศ. 2025- 2027 อีกด้วย

สำหรับภารกิจสำคัญในบริบทสหประชาชาติ นายกรัฐมนตรีจะกล่าวถ้อยแถลงในนามของประเทศไทยในการอภิปรายทั่วไป (General Debate) การประชุมสุดยอดด้านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Summit) การประชุม Climate Ambition Summit พบหารือกับเลขาธิการสหประชาชาติ

อีกทั้งจะกล่าวเปิดกิจกรรมของอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดในหัวข้อ Fostering Partnership for Our Common Future: Enhancing Multi-Stakeholder Partnerships to Accelerate the SDGs in ASEAN ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ประสานงานของอาเซียนในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน

นอกเหนือจากภารกิจในกรอบสหประชาชาติ นายกรัฐมนตรีจะพบหารือทวิภาคีกับผู้นำระดับสูงของประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และมาเลเซีย และจะพบกับผู้แทนระดับสูงของภาคธุรกิจสหรัฐฯ ได้แก่ บริษัทโบอิ้ง เชฟรอน กูเกิล ไมโครซอฟต์ เทสลา ซิตี้แบงก์ เอสเต ลอเดอร์ และเจพี มอร์แกน เป็นต้น โดยนายกรัฐมนตรีและคณะมีกำหนดการหารือเครือค่ายภาคธุรกิจของอเมริกา ได้แก่ ผู้บริหารสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกาและอาเซียน (US-ASEAN Business Council: USABC) และหอการค้าสหรัฐอเมริกา (US Chamber of Commerce: USCC) ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีภารกิจมอบหมายนโยบายให้แก่ทีมประเทศไทย และพบปะกับชุมชนไทยในสหรัฐอเมริกา