สหรัฐส่งรองปธน. “คามาลา แฮร์ริส” ร่วมประชุมอาเซียนสัปดาห์นี้

04 ก.ย. 2566 | 00:45 น.

ท่ามกลางประเด็นร้อนที่เป็นความท้าทาย “คามาลา แฮร์ริส” รองประธานาธิบดีสหรัฐจะเดินทางเยือนกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อร่วมประชุมสุดยอดของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ระหว่างวันที่ 4-7 กันยายนนี้

 

สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐรายงานว่า นางคามาลา แฮร์ริส องประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีกำหนดการเดินทางเยือนกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในสัปดาห์นี้ เพื่อร่วม การประชุมสุดยอดของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) นอกจากนี้ รองปธน.สหรัฐ ยังจะเข้าร่วม การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก หรือ East Asia Summit ที่มีชาติอาเซียน 10 ประเทศ ร่วมหารือกับผู้นำจากสหรัฐ จีน รัสเซีย อินเดีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ ด้วย

ทั้งนี้ ประเด็นท้าทายสำคัญที่ผู้แทนของสหรัฐจะต้องเผชิญในการประชุมใหญ่ทั้งสองเวทีดังกล่าว มีตั้งแต่ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ สถานการณ์ในเมียนมา ไปจนถึงสงครามในยูเครน ซึ่งทางวีโอเอสรุปประเด็นสำคัญไว้ ดังนี้

สหรัฐส่งรองปธน. “คามาลา แฮร์ริส” ร่วมประชุมอาเซียนสัปดาห์นี้

ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้

ก่อนที่การประชุมครั้งนี้จะเริ่มขึ้นเพียงไม่กี่วัน จีนเพิ่งเปิดเผย "แผนที่มาตรฐาน" ประจำปีฉบับใหม่ ซึ่งแสดงให้เห็น "เส้นประ 10 เส้น" ครอบคลุมพื้นที่ทะเลจีนใต้ที่จีน ไต้หวัน และหลายประเทศในอาเซียน กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อน ซึ่งก่อให้เกิดความไม่พอใจให้แก่บรรดาประเทศเพื่อนบ้านของจีน

เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ปธน.โจ ไบเดน ร่วมกับผู้นำญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ได้ให้คำมั่นว่าจะจับมือกันสามฝ่ายเพื่อตอบโต้จีนสำหรับวิกฤตการณ์ในทะเลจีนใต้ รวมทั้งได้กล่าวเน้นย้ำถึง "ท่าทีอันก้าวร้าวของจีน" ในน่านน้ำดังกล่าวด้วย

โฆษกทำเนียบขาวกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (31 ส.ค.)ว่า รองปธน.แฮร์ริส จะยืนยันสนับสนุน "เสรีภาพในการเดินเรือ การจัดการข้อพิพาทอย่างสันติ และการยึดมั่นต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ" ระหว่างการหารือเรื่องทะเลจีนใต้ในการประชุมอาเซียนครั้งนี้

เมื่อปีที่แล้ว (2565) ระหว่างการเยือนเอเชีย แฮร์ริสได้เดินทางแวะที่เกาะพาลาวาน ของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งห่างจากพื้นที่ขัดแย้งในทะเลจีนใต้ราว 330 กม.

ความรุนแรงในเมียนมา

บรรดาสมาชิกอาเซียนยังคงมีจุดยืนที่แตกต่างกันในเรื่องการจัดการกับสถานการณ์ในเมียนมา โดยทั้งอินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม ต่างออกมาร่วมประณามการรัฐประหารและการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลทหารเมียนมาระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อปี 2021 แต่บรูไน กัมพูชา ลาว และไทย ยังคงไม่ทำเช่นนั้น

ที่ผ่านมา สหรัฐใช้มาตรการลงโทษหลายชุดต่อรัฐบาลทหารเมียนมา คาดว่ารองปธน.แฮร์ริส จะใช้โอกาสการร่วมประชุมกับอาเซียนครั้งนี้ เพื่อเน้นย้ำจุดยืนของสหรัฐที่ต่อต้านการรัฐประหาร และกระตุ้นให้เมียนมากลับคืนสู่เส้นทางประชาธิปไตยโดยเร็ว

สงครามในยูเครน

บางประเทศในกลุ่มอาเซียนค่อนข้างนิ่งเฉยในการประณามการรุกรานของรัสเซียต่อยูเครน เช่นเดียวกับประเด็นทะเลจีนใต้และเมียนมา

สิงคโปร์และฟิลิปปินส์คือสองประเทศที่ออกมาตำหนิการกระทำของรัสเซียอย่างแข็งกร้าว โดยสิงคโปร์ยังร่วมกับชาติตะวันตกในการใช้มาตรการลงโทษรัสเซียด้วย แต่อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลทหารเมียนมาออกมาสนับสนุนรัสเซียในการรุกรานยูเครน โดยให้เหตุผลว่าเป็นการป้องกันอธิปไตยของรัสเซียเองต่อการคุกคามของชาติตะวันตก

เวียดนาม กัมพูชา และลาว ล้วนมีความสัมพันธ์ทางทหารที่ดีกับรัสเซีย ขณะที่มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย และไทย ต่างแสดงตัวเป็นกลางในเรื่องนี้

คาดว่าที่กรุงจาการ์ตา รองปธน.แฮร์ริส จะใช้คำพูดที่แข็งกร้าวต่อการกระทำของรัสเซีย และจะเรียกร้องอีกครั้งให้แก้ไขผลกระทบจากสงครามที่มีต่อทั่วโลก

"ไบเดน" มุ่งหน้าร่วมประชุมจี20 ที่อินเดีย

ก่อนหน้านี้ ทำเนียบขาวแถลงว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะร่วมประชุมสุดยอดจี20 ที่กรุงนิวเดลีประเทศอินเดีย และจะให้รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส เข้าหารือแทนตนที่การประชุมสหรัฐ - อาเซียน (U.S.-ASEAN Summit) และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกที่อินโดนีเซีย (East Asia Summit)

โดยการประชุม จี20 ซึ่งประกอบด้วยประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก 20 อันดับเเรกนั้น จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 9-10 กันยายน โดยไบเดนจะไปถึงก่อนสองวัน

ผู้นำกลุ่มจี20 มีกำหนดหารือกันเรื่องการเปลี่ยนผ่านมาใช้พลังงานสะอาด รวมถึงการบรรเทาความเดือดร้อนด้านเศรษฐกิจและสังคมจากสงครามในยูเครนและการเพิ่มศักยภาพให้กับธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ

นายเจค ซัลลิเเวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ กล่าวว่า ที่กรุงนิวเดลี ประธานาธิบดีไบเดนจะเเสดงความตั้งใจที่จะทำงานร่วมกับสมาชิกกลุ่มจี20 และจะให้คำมั่นต่อบทบาทเจ้าภาพจี20 ของสหรัฐอเมริกาในอีกสองปีนับจากนี้

สำหรับการประชุมสุดยอดสหรัฐ - อาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา เวทีดังกล่าวจะเป็นการสรุปการเจรจาที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐ และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังการร่วมประชุมในเดือนที่เเล้วโดยรัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน

ส่วนการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก จะเกิดขึ้นที่กรุงจาการ์ตาเช่นกัน และมีประเทศหุ้นส่วนหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงจีนเเละรัสเซีย เข้าร่วมเวทีการเจรจา 

นายเจค ซัลลิเเวนปฏิเสธมุมมองที่ว่า การที่ไบเดนไม่เดินทางมาร่วมประชุมสุดยอดสองเวทีที่จาการ์ตาด้วยตนเเสดงให้เห็นถึงสัญญาณบางอย่างที่ชี้ว่าสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้น้อยลง เขากล่าวว่าสหรัฐยังคงทุ่มเทที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่เข้มเเข็งกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะที่นายเเซค คูเปอร์ นักวิจัยอาวุโสแห่งหน่วยงานคลังสมอง American Enterprise Institute กล่าวว่าหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ "พวกเขารักษาสมดุลอย่างเปิดเผยเพื่อคานอำนาจจีน"

คูเปอร์ กล่าวว่าการที่ไบเดนไม่มาร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกและการประชุมสุดยอดสหรัฐ- อาเซียน แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลกรุงวอชิงตันปฏิบัติต่อประเทศต่าง ๆ ด้วยการเเบ่งประเทศเหล่านี้เป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่ช่วยสหรัฐคานอำนาจจีน และกลุ่มที่ตัดสินเรื่องสหรัฐและจีนอย่างเป็นอิสระมากกว่ากลุ่มเเรก

เขากล่าวว่า ประเทศในกลุ่มหลังอาจรู้สึกว่าเป็นประเทศ "ชั้นสอง" ในสายตาสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ วีโอเอรายงานว่า ไบเดนเคยร่วมประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกและ การประชุมสุดยอดสหรัฐ- อาเซียนไปแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่กรุงพนมเปญ และจากนั้นเดินทางไปบาหลีประเทศอินโดนีเซียเพื่อร่วมเวทีจี20 อย่างไรก็ตามผู้นำสหรัฐส่งรองประธานาธิบดีแฮร์ริสร่วมประชุมสุดยอดเอเปก (Asia-Pacific Economic Cooperation) เเทนตนเองที่กรุงเทพฯ เนื่องจากตัวปธน.ไบเดนต้องไปงานเเต่งงานของหลานสาวของเขาในช่วงเวลาดังกล่าว