โลกระอุ! รัฐเท็กซัสเผชิญคลื่นความร้อนทะลุ 40 องศาเซลเซียส

16 มิ.ย. 2566 | 22:32 น.
อัพเดตล่าสุด :16 มิ.ย. 2566 | 22:46 น.

สามรัฐทางใต้ของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะรัฐเท็กซัส ลุยเซียนา และฟลอริดา กำลังเผชิญกับ “คลื่นความร้อน” ที่ทำให้อุณหภูมิในบางพื้นที่พุ่งขึ้นสูงทำสถิตินิวไฮ

 

หน่วยงานบริการด้านสภาวะอากาศแห่งชาติ หรือ National Weather Service ของ สหรัฐอเมริกา ระบุว่า ช่วงเที่ยงวันของวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (15 มิ.ย.) ประชากรกว่า 35 ล้านคนในสามรัฐ อันได้แก่ เท็กซัส ลุยเซียนา และ ฟลอริดา ต้องตกอยู่ภายใต้คำเตือนในระดับที่แตกต่างกันไปเรื่อง อันตรายจากคลื่นความร้อน

หน่วยงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่าความร้อนน่าจะปกคลุมพื้นที่เหล่านั้นยาวไปจนถึงสุดสัปดาห์หยุดยาวสามวัน เนื่องในวันจูนทีนธ์ (Juneteenth) 19 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันรำลึกการเลิกทาสในสหรัฐ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงนักวิทยาศาสตร์ด้านอากาศว่า ความถี่และความรุนเเรงจากสภาพอากาศในสหรัฐเป็นผลที่เเสดงให้เห็นถึงปัญหาภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติซึ่งเกิดจากฝีมือมนุษย์

บางเมืองเช่น ดัลลัส ฮิวสตัน และออสติน ในรัฐเท็กซัส อาจเผชิญกับความร้อนที่ระดับอุณหภูมิสูงถึง 46 องศาเซลเซียส (115 ฟาเรนไฮต์) ซึ่งถือว่าเป็นดัชนีความร้อนสูงสุดสถิติใหม่

การวัดอุณหภูมิตอนเที่ยงวันในเขตทางใต้ของเท็กซัส แสดงผลความร้อนที่รู้สึกจริงระดับ 44 เซลเซียส (111 ฟาเรนไฮต์) ที่เมืองฮิวสตัน และ 42 เซลเซียส (118 ฟาเรนไฮต์) ที่เมืองกัลเวสตัน

ทั้งนี้ ความร้อนเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตจากสภาพอากาศในสหรัฐอเมริกา สภาพอากาศที่ร้อนจัดทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย เช่น ตะคริว อาการอ่อนเพลีย โรคหลอดเลือดสมอง และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมรับมือคลื่นความร้อนอาจช่วยปกป้องชีวิตประชาชนได้

ในรอบ 100 ปีนี้ ทั่วโลกจะเผชิญกับคลื่นความร้อนที่เป็นอันตราย และเกิดขึ้นบ่อยกว่าเดิมระหว่าง 3 ถึง 10 เท่า

รายงานผลการศึกษาโดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและวอชิงตันในสหรัฐอเมริกาที่เผยแพร่เมื่อปีที่ผ่านมา (2565) ระบุว่า ในรอบ 100 ปีนี้ ทั่วโลกจะเผชิญกับคลื่นความร้อนที่เป็นอันตราย และเกิดขึ้นบ่อยกว่าเดิมระหว่าง 3 ถึง 10 เท่า อันเป็นผลมาจากวิกฤติภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง

โดยคณะนักวิจัยคาดการณ์ว่า ภายในปีค.ศ. 2050 (พ.ศ.2593) ประเทศในเขตร้อน อันเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของเอเชีย อาจมีจำนวนวันที่มีความร้อนรุนแรงสุดขั้ว (ซึ่งก็หมายถึงอุณหภูมิ 51 องศาเซลเซียส) เพิ่มขึ้น 2 เท่า และผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ความร้อนในระดับที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต อาจเกินขีดจำกัดความทนทานของร่างกายมนุษย์ได้ในที่สุด