เยเลน เตือน เงินดอลลาร์สหรัฐ “เสี่ยงไร้เสถียรภาพ" จากสงครามรัสเซียยูเครน

17 เม.ย. 2566 | 10:05 น.

"เจเน็ต เยลเลน" รัฐมนตรีคลังสหรัฐ เตือน การที่ชาติตะวันตกยังดำเนินมาตรการคว่ำบาตรของต่อรัสเซียต่อไป อาจเสี่ยงต่ออำนาจและเสถียรภาพของเงินดอลลาร์สหรัฐ

"เจเน็ต เยลเลน" รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐ กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ (16 เม.ย.) ว่า การที่สหรัฐคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียและประเทศอื่นๆ อาจทำให้ "สถานะของเงินดอลลาร์มีความเสี่ยง" บั่นทอนเสถียรภาพ และอาจนำไปสู่การถือครองเงินสกุลอื่นทดแทน

“แน่นอนว่าการคว่ำบาตร ทำให้จีน รัสเซีย และอิหร่านต้องการหาทางเลือกอื่นในการดำเนินการค้าขาย แต่ การที่คนทั่วโลกใช้เงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินหลักนั้นมีเหตุผล จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะถือครองทรัพย์สินชนิดอื่นที่มีคุณสมบัติแบบเดียวกัน"

"ตลาดทุนที่แข็งแกร่งของสหรัฐ และการดำเนินการตามหลักนิติธรรม เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สกุลเงินดอลลาร์ "ได้รับความไว้วางใจ" และถูกนำใช้ในการทำธุรกรรมทั่วโลก"  เยลเลนกล่าวเสริมว่า "เรายังไม่เห็นว่ามีประเทศใดที่มีโครงสร้างพื้นฐาน หรือสถาบันที่จะช่วยก่อให้เกิดเสถียรภาพของค่าเงินได้แบบนี้"

เยลเลนยังตั้งข้อสังเกตว่า มาตรการคว่ำบาตรนั้น "ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน" ทั้งสหรัฐ และชาติพันธมิตรควรหารือแนวทางร่วมกันอย่างใกล้ชิด

เมื่อถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะนำทรัพย์สินและเงินสกุลรูเบิลรัสเซียที่ถูกอายัด ไปฟื้นฟูยูเครนที่เสียหาย หลังถูกรัสเซียบุกโจมตีหรือไม่ เยลเลนกล่าวว่า "ฝ่ายรัสเซียควรเป็นผู้ชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น"

 “ยังมีข้อจำกัดทางกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งที่เราสามารถทำได้กับทรัพย์สินที่ถูกอายัดนั้น และเรากำลังหารือกับบรรดาพันธมิตรถึงแนวทางในอนาคต"

ทั้งนี้  "ทรัพย์สินของธนาคารกลางรัสเซีย" ถูกอายัดโดย 7 ชาติพันธมิตรรวมกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ  ตามมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ครึ่งหนึ่งจากทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่รัสเซียมีทั้งหมด 640,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยถูกอายัดอยู่ใน "ฝรั่งเศส" มากที่สุด รองลงมาคือ "ญี่ปุ่น"

1.ฝรั่งเศส  7.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

2.ญี่ปุ่น  5.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 

3.เยอรมนี 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 

4.สหรัฐ 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 

5.อังกฤษ 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 

6.ออสเตรีย 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 

7.แคนาดา 1.6  หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 

(ข้อมูลจาก statista ณ เดือนมีนาคม 2565) 

ทรัพย์สินที่ถูกอายัดนั้น มีทั้ง "ทองคำและทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ"  ทั้งนี้รัสเซีย เป็นผู้ถือครองทองคำรายใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมายังซื้อทองคำเป็นเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศมากที่สุดในโลก 

เมื่อกลางปี 2565 ธนาคารกลางรัสเซีย เคยประกาศว่า การคว่ำบาตรโดยอายัดทุนสำรองรัสเซียนี้ อาจทำให้ "บทบาทของดอลลาร์สหรัฐ และยูโรลดน้อยถอยลง"  เพราะบรรดาธนาคารกลางชาติอื่นๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง เกรงว่าอาจถูกอายัดทุนสำรองได้เช่นกัน จึงเริ่มทบทวนยุทธศาสตร์หลีกเลี่ยงถือครองดอลลาร์สหรัฐหรือยูโร แล้วไปถือทองคำเพิ่มขึ้น 

ที่มา : CNN