ข่าวดีผู้เสียหาย FTX สหรัฐสั่งยึดทรัพย์ 'แบงค์แมน-ฟรีด" 2.2 หมื่นล้าน

21 ม.ค. 2566 | 22:44 น.

ทางการสหรัฐสั่งยึดทรัพย์เกือบ 700 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.2 หมื่นล้านบาท) จากนาย ‘แบงค์แมน-ฟรีด’ อดีตซีอีโอบริษัท FTX  หลังถูกจับฐานฉ้อโกงยักยอกทรัพย์

 

นับเป็นข่าวดีสำหรับผู้ได้รับความเสียหายที่สืบเนื่องกับกรณี การยื่นล้มละลาย ของ บริษัทเอฟทีเอกซ์ (FTX) ผู้ให้บริการเทรด สินทรัพย์คริปโต ที่เคยยิ่งใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในปีที่ผ่านมา (2565) เมื่อล่าสุดต้นเดือนม.ค.นี้ อัยการของรัฐบาลสหรัฐได้สั่งยึดทรัพย์สินเกือบ 700 ล้านดอลลาร์ หรือราว ๆ 22,960 ล้านบาท จาก นายแซม แบงค์แมน-ฟรีด ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ FTX ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของหุ้นบริษัทโรบินฮูด มาร์เก็ตส์ (Robinhood Markets) ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันเทรดหุ้นและสินทรัพย์คริปโต 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐได้เปิดเผยถึงการยึดหุ้นของนายแบงค์แมน-ฟรีด ในบริษัทโรบินฮูดฯ เมื่อต้นเดือนม.ค.นี้ แต่เพิ่งมาทำการแจกแจงรายการสินทรัพย์ที่ถูกยึดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (20 ม.ค.) ซึ่งนอกจากหุ้นในโรบินฮูดฯแล้ว ยังรวมถึงเงินสดที่อยู่ในธนาคารต่าง ๆ และสินทรัพย์ที่นายแบงค์แมน-ฟรีด ฝากไว้กับบริษัทไบแนนซ์ (Binance) ที่เป็นบริษัทซื้อขายคริปโตรายใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย

 

เจอข้อกล่าวหาหลายกระทง แต่ยังคงปฏิเสธ

เอกสารของศาลสหรัฐเมื่อวันศุกร์ (20 ม.ค.) ระบุว่า การยึดทรัพย์สินครั้งนี้สืบเนื่องจากคดีที่นายแบงค์แมน-ฟรีดได้ถูกกล่าวหาว่าขโมยเงินหลายพันล้านดอลลาร์จากลูกค้าของ FTX เพื่อนำไปชำระหนี้ให้กับ ‘อลาเมดา รีเสิร์ช’ (Alameda Research) ซึ่งเป็นกองทุนเฮดจ์ฟันด์ด้านคริปโตเคอร์เรนซีของเขา

แซม แบงค์แมน-ฟรีด ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ FTX

 

อย่างไรก็ตามนายแบงค์แมน-ฟรีดปฏิเสธไม่ยอมรับผิดข้อหาฉ้อโกง และมีกำหนดจะต้องเข้ารับการพิจารณาคดีในเดือนต.ค.

ทั้งนี้ นายแซม แบงค์แมน-ฟรีด นักธุรกิจวัย 30 ปี เป็นผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอบริษัท FTX แพลตฟอร์มซื้อขายเงินดิจิทัล ถูกตั้งข้อหาฉ้อโกงยักยอกเงินทุนหลายพันล้านดอลลาร์จากบริษัท และละเมิดกฎหมายการเงินสำหรับหาเสียง (campaign finance laws) หลังทำบริษัทล้มละลายจนกระทบนักลงทุนที่กลายเป็นผู้เสียหายจำนวนมาก

บุคคลผู้นี้เคยเป็นเศรษฐีใหม่ในทำเนียบบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท FTX ที่เคยมีมูลค่ากว่า 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแต่สุดท้ายบริษัทก็ตกอยู่ในสถานะล้มละลายเมื่อปลายปี 2565 โดยอัยการสหรัฐระบุว่า เขาพัวพันแผนฉ้อโกงลูกค้า FTX ด้วยการยักยอกเงินทุนเอาไปใช้จ่ายและชำระหนี้ อีกทั้งยังนำเงินลูกค้าราว 10,000 ล้านดอลลาร์ไปลงทุนในนามของบริษัทคริปโตเฮดจ์ฟันด์อลาเมดา รีเสิร์ช (Alameda Research) ที่ตัวเขาเองเป็นเจ้าของ

เอกสารของอัยการระบุด้วยว่า แบงค์แมน-ฟรีด กระทำการฉ้อโกงเจ้าหนี้ของอลาเมดาฯ ด้วยการให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของบริษัทเฮดจ์ฟันด์แห่งนี้ และพยายามปกปิดแหล่งที่มาของเงินด้วยการฉ้อโกงผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

แบงก์แมน-ฟรีด ยังถูกแจ้งข้อหาขโมยเงินทุนลูกค้าหลายสิบล้านดอลลาร์เอาไปสนับสนุนแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งด้วย แต่เขาก็ยังยืนยันกระต่ายขาเดียวในการให้การต่อศาลเมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า เขาไม่เคยโกงใคร และขอปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าเขาฉ้อโกงลูกค้าของ FTX

แบงค์แมน-ฟรีดในวันถูกจับกุม

ย้อนรอยคดีจนถึงถูกจับกุม

บริษัท FTX ซึ่งก่อตั้งที่บาฮามาสเมื่อปี 2562 ได้ยื่นล้มละลายต่อศาลสหรัฐเมื่อวันที่ 11 พ.ย.2565 หลังผู้บริหารอย่างแบงก์แมน-ฟรีดจัดการกองทุนผิดพลาดทำให้เงินทุนลูกค้าหายไปอย่างน้อย 1,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่งผลให้บรรดานักลงทุนที่เป็นลูกค้าของบริษัทเข้าไปแห่ถอนเงินออกกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในเวลาแค่ 72 ชั่วโมง

ดาเมียน วิลเลียมส์ อัยการประจำรัฐนิวยอร์ก เปิดเผยว่า การล่มสลายของ FTX เป็นผลมาจากแผนฉ้อโกงทางการเงินครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์อเมริกา กระบวนการสอบสวนยังคงดำเนินอยู่และกำลังมีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว

แบงค์แมน-ฟรีด ที่เคยเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกจากการจัดอันดับมหาเศรษฐีโลก ด้วยมูลค่าทรัพย์สินที่ถูกประเมินไว้ที่ 32,000 ล้านดอลลาร์ ถูกจับกุมเมื่อเดือนธ.ค. 2565 ที่หมู่เกาะบาฮามาส หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐได้ออกหมายจับและแจ้งข้อหาทางอาญา

ผู้พิพากษามีคำวินิจฉัยไม่ให้ประกันตัว โดยอ้างว่ามีความเสี่ยงสูงที่ผู้ต้องหาจะหลบหนีเนื่องจากมูลค่าของความเสียหายที่เกิดขึ้นในคดีนั้นมีมูลค่าสูง ทำให้แบงค์แมน-ฟรีด ต้องนอนในเรือนจำบาฮามาสไปจนถึงวันที่ 8 ก.พ.เป็นอย่างน้อย จนกว่าจะมีคำสั่งเพิ่มเติมจากศาล