ตลาดคลาวด์อาเซียนระอุ "อาลีบาบา-หัวเว่ย" แข่งเดือดชิงเค้ก 1.94 แสนล้าน

17 ม.ค. 2566 | 00:09 น.

ตลาดคลาวด์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โตแรง ดึงดูดบิ๊กเทคจากจีน "อาลีบาบา-หัวเว่ย" เร่งปักธงผู้นำ ช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด 1.94 แสนล้านดอลลาร์

 

บริษัทอาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง และ หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ เป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นแนวหน้าของจีน ที่กำลังเร่งสร้าง ศูนย์ข้อมูล ในภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดที่ร้อนแรงสำหรับ การประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing)

เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา หัวเว่ยได้สร้างศูนย์ข้อมูลในอินโดนีเซียเสร็จสมบูรณ์ ดึงดูดลูกค้าท้องถิ่นได้ประมาณ 30 รายภายในสิ้นปี 2565 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป โดยนายแจ็คกี้ เฉิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของหัวเว่ยอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า ภายใต้โครงการลงทุนนี้ บริษัทจะสามารถส่งมอบ “นวัตกรรมดิจิทัล” ในอินโดนีเซียได้ต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งที่ 3 ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์ข้อมูลของหัวเว่ย โดยอีกสองแห่งอยู่ที่ประเทศไทยและสิงคโปร์  บริษัทตั้งเป้าว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า หัวเว่ยจะทุ่มเม็ดเงินลงทุน 300 ล้านดอลลาร์เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ในอินโดนีเซีย

บิ๊กเทคโนโลยีจากจีน "อาลีบาบา-หัวเว่ย" เร่งปักธงผู้นำเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดคลาวด์ 1.94 แสนล้านดอลลาร์ในอาเซียน

ตลาดกำลังโตอย่างรวดเร็ว ดึงดูดผู้ลงทุน

สำนักข่าวนิเกอิ เอเชีย รายงานว่า ในการก้าวไปสู่สังคมที่มีการเชื่อมต่อทางดิจิทัล การประมวลผลแบบคลาวด์ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีความสำคัญในระดับเดียวกับเซมิคอนดักเตอร์ ทั้ง หัวเว่ย และบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ของจีนล้วนต้องการขยายธุรกิจเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากที่การอุบัติขึ้นของโรคโควิด-19 ระบาดได้ผลักดันให้โลกก้าวเข้าสู่ “ยุคแห่งดิจิทัล” รวดเร็วยิ่งขึ้น

รายงานที่จัดทำโดยกูเกิล, เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ และเบน แอนด์ คัมพานี ชี้ว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มขยายตัว 20% มีมูลค่าตลาดแตะ 1.94 แสนล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา (2565) โดยข้อกำหนดให้มีการจัดเก็บรักษาข้อมูลไว้ภายในประเทศได้กระตุ้นให้มีความต้องการสร้างศูนย์ข้อมูลขึ้นมา

ขณะเดียวกัน อาลีบาบา อีกหนึ่งบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของจีน ก็กำลังดำเนินการเปิดศูนย์ข้อมูลในประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอาลีบาบาเพิ่งสร้างศูนย์ข้อมูลแห่งแรกในประเทศไทยเมื่อปีที่ผ่านมา พร้อมระบุว่า บริษัทวางแผนใช้เงินลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์ภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2564 เพื่อพัฒนาศูนย์ข้อมูลให้สามารถดำเนินการได้ทัดเทียมกับธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท

นิเกอิ เอเชีย ระบุ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นศูนย์กลางสำหรับโครงการริเริ่มของอาลีบาบาในการฝึกอบรมพนักงาน 1 ล้านคนในสาขาดิจิทัล และสนับสนุนบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี 100,000 รายภายในภูมิภาค