"สแตนชาร์ด"คาดเฟดหั่นดอกเบี้ย 2.00% ปีหน้า หากศก.สหรัฐถดถอย

08 ธ.ค. 2565 | 00:27 น.

ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 2.00% ในปีหน้า หากสหรัฐเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง

 

นายเอริค โรเบิร์ตสัน หัวหน้านักวิจัยระดับโลกของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ออกรายงานชื่อ "เรื่องเซอร์ไพรส์ของตลาดการเงินในปี 2566" หรือ "The financial-market surprises of 2023" โดยได้ระบุถึงเหตุการณ์หลายอย่างที่อาจเกิดขึ้นในปีหน้า ซึ่งตลาดได้มองข้ามไป
         

หนึ่งในเหตุการณ์ในรายงานดังกล่าวคือ หากเศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอยอย่างรุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เฟดอาจจะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 2.00%
         

รายงานระบุว่า เฟดได้ประเมินความเสี่ยงของเงินเฟ้อต่ำเกินไปในปี 2565 ขณะที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ยอมรับว่าเงินเฟ้อไม่ใช่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวตามที่เฟดระบุก่อนหน้านี้ ทำให้เฟดต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงในปีนี้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
         

อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2565 ทำให้เฟดเผชิญความเสี่ยงจากการที่เศรษฐกิจอาจเผชิญภาวะถดถอยในปี 2566 ขณะที่เฟดประเมินความเสียหายต่อเศรษฐกิจต่ำเกินไปจากการใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงิน
         

"แถลงการณ์ของ FOMC มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เน้นความจำเป็นในการขยายเวลาคุมเข้มนโยบายการเงิน ไปสู่ความจำเป็นในการจัดสรรสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจเพื่อหลีกเลี่ยงการทรุดตัวลงอย่างรุนแรง" นายโรเบิร์ตสันระบุในรายงาน
 

 

คาดน้ำมันเบรนท์ดิ่งเหลือ 40 ดอลล์/บาเรล

         

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ จะดิ่งลงจากปัจจุบันที่ราว 79 ดอลลาร์/บาร์เรล เหลือเพียง 40 ดอลลาร์/บาร์เรลในปีหน้า ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
         

รายงานระบุว่า ราคาน้ำมันจะทรุดตัวลง หลังจากที่พุ่งขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยได้แรงหนุนจากภาวะตึงตัวในตลาด และการที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน
         

อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันได้ปรับตัวผันผวนในช่วงครึ่งปีหลัง โดยได้ดิ่งลง 35% ระหว่างวันที่ 14 มิ.ย.-28 พ.ย. แม้ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตร (โอเปกพลัส) ประกาศลดกำลังการผลิต ขณะที่มีการคาดหวังว่าเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีการบังคับใช้อย่างเข้มงวดก่อนหน้านี้
         

นายโรเบิร์ตสันระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยมากกว่าคาดในปีหน้า รวมทั้งการที่เศรษฐกิจจีนประสบความล่าช้าในการฟื้นตัว จะส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันทรุดตัวลงอย่างมากในหลายประเทศ
 

 

นอกจากนี้ หากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนได้รับการแก้ไขผ่านทางการเจรจาจนส่งผลให้สงครามสิ้นสุดลง ก็จะทำให้ราคาน้ำมันดิ่งลงราว 50% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะร่วงลงจากปัจจุบันที่ราว 79 ดอลลาร์/บาร์เรล เหลือเพียง 40 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
         

ราคาทองพุ่ง 30% สู่ระดับ 2,250 ดอลล์ปีหน้า

 

ขณะเดียวกัน รายงานคาดการณ์ว่า ราคาทองจะพุ่งขึ้น 30% สู่ระดับ 2,250 ดอลลาร์/ออนซ์ในปีหน้า โดยได้แรงหนุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ขณะที่นักลงทุนพากันเข้าซื้อทองเพื่อหาเสถียรภาพ ท่ามกลางความผันผวนในตลาดหุ้น
         

นอกจากนี้ รายงานคาดการณ์ว่า บิตคอยน์จะทรุดตัวลงสู่ระดับ 5,000 ดอลลาร์ ซึ่งหากเป็นจริงตามคาด ก็หมายความว่าบิตคอยน์จะดิ่งลงราว 70% จากในขณะนี้ที่ระดับ 17,000 ดอลลาร์
         

"แรงเทขายบิตคอยน์จะรุนแรงขึ้น ซึ่งจะทำให้บริษัทคริปโทฯ และกระดานเทรดจำนวนมากเผชิญกับการขาดแคลนสภาพคล่อง ทำให้เกิดการล้มละลายมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อสินทรัพย์ดิจิทัล" รายงานระบุ
         

ทั้งนี้ บิตคอยน์ได้ทรุดตัวลงมากกว่า 60% ในปีนี้ หลังจากเผชิญกับข่าวอื้อฉาวมากมายเกี่ยวกับการล่มสลายของอุตสาหกรรมคริปโทฯ โดยล่าสุด BlockFi แพลตฟอร์มกู้ยืมคริปโทฯระดับโลก ประกาศล้มละลายตามรอย FTX แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทฯ ใหญ่อันดับ 2 ของโลก
         

นายมาร์ค โมเบียส ผู้ก่อตั้งบริษัทโมเบียส แคปิตัล พาร์ทเนอร์ส กล่าวก่อนหน้านี้ว่า บิตคอยน์ยังคงมีแนวโน้มดิ่งลงต่อไปแตะระดับ 10,000 ดอลลาร์ในปีหน้า โดยได้รับผลกระทบจากการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
         

นอกจากนี้ นายโมเบียสกล่าวว่า เขาจะไม่นำเงินของตนเอง หรือเงินของลูกค้าไปลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากมีความเสี่ยงมากเกินไป
         

บิตคอยน์เคยพุ่งขึ้นทะลุ 69,000 ดอลลาร์ในเดือนพ.ย.2564 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ก่อนที่จะทรุดตัวลงต่ำกว่าระดับ 20,000 ดอลลาร์ในเดือนมิ.ย.2565 ท่ามกลางความกังวลที่ว่า การที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและปรับลดขนาดงบดุลจะฉุดสภาพคล่องในตลาด และทำให้สหรัฐเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย