ลุ้นผลสหรัฐพิจารณาเรียกเก็บภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ไทยวันนี้

02 ธ.ค. 2565 | 00:33 น.

พาณิชย์สหรัฐเตรียมเผยผลการตัดสิน ว่าจะมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าต่ออุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ (แผงโซลาร์เซลล์) จากไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชาหรือไม่ในวันนี้

 

ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ได้ทำการสอบสวนว่า แผงโซลาร์เซลล์ จากทั้ง 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา มีส่วนช่วยให้ จีน หลีกเลี่ยงมาตรการด้านภาษีจากทางสหรัฐหรือไม่ ซึ่งหากผิดจริงจะทำให้มีการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังสูงถึง 250% การแถลงผลการตัดสินในประเด็นดังกล่าวกำหนดมีขึ้นในวันที่ 1 ธ.ค.ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะเป็นเช้าวันนี้ (2 ธ.ค.) ตามเวลาประเทศไทย

 

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐใช้เวลา 8 เดือนในการสอบสวนว่า ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์จากจีนได้โยกย้ายฐานการผลิตไปยังทั้ง 4 ประเทศข้างต้น เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีนำเข้าต่อสหรัฐหรือไม่ โดยสหรัฐมีการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จาก 4 ประเทศดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของการนำเข้าทั้งหมด

 

อย่างไรก็ดี แม้ทางกระทรวงฯ จะมีผลการตัดสินในวันนี้ว่าจะเรียกเก็บภาษีต่อแผงโซลาร์เซลล์จากไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา แต่ก็จะยังไม่มีผลบังคับใช้เป็นเวลา 2 ปี เนื่องจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ได้ใช้อำนาจประธานาธิบดีออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวต่อการนำเข้าอุปกรณ์ดังกล่าว โดยจัดให้เป็นสินค้าปลอดภาษีนำเข้าเป็นเวลา 24 เดือนเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐสามารถเพิ่มกำลังการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ และเป็นการผลักดันนโยบายพลังงานสะอาดของปธน.ไบเดนเองด้วย

 

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐพิจารณาเรียกเก็บภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จากประเทศไทย และอีก 3 ชาติอาเซียน

 

นอกจากนี้ การตัดสินของกระทรวงฯ ในวันนี้เป็นเพียง “คำตัดสินเบื้องต้น” ก่อนที่จะมี “คำตัดสินขั้นสุดท้าย” ในเดือนพ.ค.ปีหน้า (2566)

 

ก่อนหน้านี้ บริษัท ออกซิน โซลาร์ (Auxin Solar) ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ยื่นฟ้องต่อกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเพื่อให้มีการสอบสวนว่า ผู้ผลิตของจีนได้โยกย้ายฐานการผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์เข้าสู่ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชาเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีจากทางสหรัฐหรือไม่

 

การเคลื่อนไหวดังกล่าว ทำให้ สมาคมอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ของสหรัฐ (SEIA) ต้องออกมาเตือนว่า การสอบสวนของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ อาจจะส่งผลให้การลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ในสหรัฐหยุดชะงักลงหลังจากที่ได้ชะลอตัวลงแล้วอันเนื่องจากต้นทุนที่อยู่ในระดับสูง ความล่าช้าในการขนส่งสินค้า รวมทั้งปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะเป็นปัจจัยขัดขวางนโยบายของปธน.โจ ไบเดนที่ต้องการสนับสนุนโครงการใช้พลังงานหมุนเวียนในสหรัฐอเมริกา