ความเป็นมาวัน แบล็กฟรายเดย์ -ไซเบอร์มันเดย์ เหตุผลต้องช้อปกระจายส่งท้ายปี

27 พ.ย. 2565 | 23:18 น.

‘แบล็กฟรายเดย์’ (Black Friday) และ ‘ไซเบอร์มันเดย์’ (Cyber Monday) เป็นสองวันสำคัญที่มาพร้อมกับเทศกาลขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving Day) ของทุกๆปี สองวันนี้มีที่มาและสำคัญอย่างไร ทำไมจึงถูกใจนักช้อปยิ่งนัก

 

วันขอบคุณพระเจ้า’ มีต้นกำเนิดจากสหรัฐอเมริกา ตรงกับวันพฤหัสบดีที่สี่ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เพื่อรำลึกขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าที่ช่วยให้ผู้อพยพที่มาตั้งรกรากในอเมริกาชุดแรกรอดชีวิตมาได้เมื่อเกือบสี่ร้อยปีที่แล้ว ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา ส่วน วันแบล็กฟรายเดย์ (Black Friday) ก็คือวันศุกร์ติดกับวันขอบคุณพระเจ้า หรือวันรุ่งขึ้นหลังวันขอบคุณพระเจ้านั่นเอง

 

แบล็กฟรายเดย์ เป็นวันที่ร้านค้าและแบรนด์ต่าง ๆ พากันจัดโปรโมชั่นลดกระหน่ำ เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนออกมาจับจ่ายใช้สอย รวมถึงเริ่มซื้อของขวัญเพื่อเตรียมตัวสำหรับช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ จุดกำเนิดมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาเช่นกัน ครั้งแรกของแบล็กฟรายเดย์เปิดขึ้นในปี ค.ศ. 1952

 

แบล็กฟรายเดย์ไม่ใช่วันลดราคาธรรมดาๆ แต่เป็นการหั่นราคาสินค้าแบบลดกระหน่ำ บ้างก็ครึ่งราคาหรือมากกว่านั้น ทำให้ผู้คนต่างตั้งตารอคอย เมื่อมีข่าวสินค้าที่หมายปองลดแบบถล่มราคาในวันนี้ เหล่านักช้อปจะมาเข้าคิวรอคอยข้ามวันข้ามคืนเลยทีเดียวเพื่อขอเป็นคนแรกที่ได้วิ่งเข้าไปในห้างร้าน การกรูเกรียวและแย่งชิงสินค้าที่หมายปองจึงเกิดขึ้น

ภาพการช่วงชิง แย่งกันซื้อทีวีจอแบนที่ลดราคาในวันแบล็กฟรายเดย์ เหตุเกิดที่ประเทศบราซิล ปี 2017

 

เชื่อกันว่า คำว่า Black Friday นั้นมีที่มาจากเหตุการณ์ที่ประชาชนในเมืองฟิลาเดลเฟียจำนวนมากต่างพากันออกมาซื้อสินค้าลดราคา และยื้อแย่ง-ช่วงชิงกันจนเกิดเหตุไม่สงบ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำงานหนักเพื่อควบคุมสถานการณ์ วันศุกร์แห่งการจับจ่ายซื้อสินค้าดังกล่าวจึงได้รับการขนานนามว่า “Black Friday” หรือ “วันศุกร์ที่มืดมน” นั่นเอง

 

นอกจากนี้ ในเวลาต่อมายังมีการให้คำนิยามว่า black หรือ สีดำ นั้น หมายถึง การพลิกกลับมาทำกำไรของบรรดาผู้ค้า วัน Black Friday จึงถือเป็นโอกาสให้ธุรกิจห้างร้านได้เรียกลูกค้าในช่วงวันหยุด เพื่อเปลี่ยนผลการดำเนินการจากสีแดง (ขาดทุน) ให้เป็นสีดำ (กำไร)

 

 

ในช่วงท้ายยุคทศวรรษ 1980s ผู้ค้าปลีกในสหรัฐได้เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการจัดโปรโมชั่นลดราคาเรียกลูกค้า กลายเป็นเทศกาลแห่งการช้อปปิ้ง 4 วันรวด จากวันศุกร์หลังวันขอบคุณพระเจ้า คือ แบล็กฟรายเดย์ (Black Friday) รวมวันเสาร์-อาทิตย์ที่ตามมา ไปจนถึงวันจันทร์ที่เรียกว่า ไซเบอร์มันเดย์ (Cyber Monday) ซึ่งเน้นกระหน่ำโปรโมชั่นและลดราคาสินค้าทางช่องทางออนไลน์ อย่างที่เราคุ้นเคยกัน

 

ปัจจุบัน กิจกรรมลดกระหน่ำราคาสินค้า ทั้งแบล็กฟรายเดย์ และไซเบอร์มันเดย์ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในสหรัฐอเมริกา แต่ยังแพร่กระจายไปในหลายประเทศ และเป็นวันสำคัญที่บรรดานักช้อปตั้งตารอคอย

นี่คือวันสำคัญที่บรรดานักช้อปตั้งตารอคอย

แบล็กฟรายเดย์ และไซเบอร์มันเดย์ ของปีนี้ (2565) ตรงกับวันที่ 25 พ.ย. และ 28 พ.ย. ตามลำดับ

 

สำหรับสถิติยอดช้อปปิ้งออนไลน์วันแบล็กฟรายเดย์ในสหรัฐอเมริกาปีนี้ไม่ขี้เหร่เลย เพราะสามารถทำนิวไฮทะลุ 9,000 ล้านดอลลาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 26 พ.ย.) โดยอะโดบี อนาลิติกส์ ธุรกิจวิเคราะห์ข้อมูลในเครือบริษัทอะโดบี เปิดเผยเมื่อวันเสาร์ (26 พ.ย.) ว่า ยอดใช้จ่ายของผู้บริโภคผ่านระบบออนไลน์ในวันแบล็กฟรายเดย์ เพิ่มขึ้น 2.3% เมื่อเทียบรายปี แตะระดับ 9,120 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้ว่าจะเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงก็ตาม

ไซเบอร์มันเดย์ เน้นทำโปรโมชั่น-ลดกระหน่ำราคาสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์

รายงานระบุว่า ยอดขายออนไลน์กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทะยาน 221% เมื่อเทียบกับวันธรรมดาในเดือนต.ค. ส่วนยอดขายสินค้ากลุ่มของเล่นพุ่งขึ้น 285% และยอดขายอุปกรณ์ออกกำลังกายเพิ่มขึ้น 218%

 

ก่อนหน้านี้ อะโดบีเปิดเผยว่า ยอดใช้จ่ายของผู้บริโภคผ่านระบบออนไลน์ในวันขอบคุณพระเจ้า เพิ่มขึ้น 2.9% เมื่อเทียบรายปี แตะระดับ 5,290 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

 

ส่วน วันไซเบอร์มันเดย์ (Cyber Monday) ปีนี้ ซึ่งตรงกับจันทร์ที่ 28 พ.ย. ทางอะโดบีคาดการณ์ว่า จะมียอดใช้จ่ายของผู้บริโภคผ่านระบบออนไลน์แตะระดับ 11,200 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 5.1% เมื่อเทียบรายปี