เจพี มอร์แกน มอง "ไทย-ญี่ปุ่น" คือจุดอ่อนในเอเชีย

20 ก.ย. 2565 | 09:00 น.

เจพี มอร์แกน (JP Morgan) มองไทยและญี่ปุ่น คือจุดอ่อนในเอเชียขณะนี้ รองลงไปคือจีน เกาหลีใต้ อินเดีย เมื่อพิจารณาจากความแข็งแรงของดุลบัญชีเดินสะพัดและทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ

นักเศรษฐศาสตร์จาก "เจพี มอร์แกน" ในสิงคโปร์ระบุ  ประเทศในเอเชีย ส่วนใหญ่ที่มี ดุลบัญชีเดินสะพัด ที่แข็งแรงและสะสม เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เอาไว้มาก จึงสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากความปั่นป่วนของตลาดโลกได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม เมื่อมองจากความแข็งแรงของดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินสำรองระหว่างประเทศ พบว่า ไทยและญี่ปุ่น ยังคงเป็นจุดที่อ่อนของเอเชีย รองลงไปคือจีน เกาหลีใต้ อินเดีย 

 

นายอเล็กซานเดอร์ วูล์ฟ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนภูมิภาคเอเชีย ของธนาคารเจพี มอร์แกน อินเวสต์เมนท์ แบงก์ ในประเทศสิงคโปร์เปิดเผยว่า แม้จะเริ่มมีสัญญาณเชิงลบโดยทุนสำรองระหว่างประเทศเริ่มจะลดลง แต่หลายประเทศก็ยังคงประคองตัวอยู่ในสถานะที่ดีกว่าเดิม เมื่อเทียบกับช่วงสิ้นปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นวงกว้างมากขึ้น ปัจจุบัน ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ของเอเชียมีมูลค่ารวมกันราว 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่เคยขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือนตุลาคม 2021 

เจพี มอร์แกน มอง "ไทย-ญี่ปุ่น" คือจุดอ่อนในเอเชีย

"ภายในปีที่ผ่านมา (2021) เกราะป้องกันปัจจัยลบจากภายนอกที่สั่งสมไว้เริ่มร่อยหรอลงมาก ขณะที่หนี้ภาครัฐและหนี้ครัวเรือนก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการใช้จ่ายงบประมาณมากขึ้น นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้นยังมีผลต่อยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่เคยทำไว้ได้มาก ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ (Nominal Interest Rate) หักด้วยอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Rate) ก็อยู่ในอัตราติดลบ สภาวะเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ของเอเชียมีภาวะปัจจัยที่จะป้องกันตัวเองจากผลกระทบของเงินทุนไหลออกลดน้อยลง 

อย่างไรก็ตาม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นภูมิภาคที่จัดได้ว่ามีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวรับผลกระทบดังกล่าวได้ดีเป็นพิเศษเมื่อพิจารณาในแง่เศรษฐกิจมหภาค โดยจะเห็นได้ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคอุตสาหกรรม (PMI) มีสัญญาณการขยายตัวทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งแตกต่างจากสถานการณ์ในเกาหลีใต้และไต้หวัน

 

ยิ่งในเอเชียเหนือที่ซึ่งยังมีความขัดแย้งกันอยู่ เช่น ญี่ปุ่น และกจีน เจพี มอร์แกนระบุว่า คู่นี้อาจเป็นจุดอ่อนแอที่สุดของภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ หากประเมินความเปราะบางโดยพิจารณาจากดุลบัญชีเดินสะพัด สำรองเงินตราต่างประเทศ และยีลด์บัฟเฟอร์ (yield buffer) พบว่า ไทยและญี่ปุ่น เป็นจุดที่อ่อนแอมากที่สุด ตามมาด้วยจีน เกาหลีใต้ และอินเดีย เป็นกลุ่มอ่อนแอรองลงมา

 

ด้านบริษัทวิจัยโนมูระ เปิดเผยว่ามี 7 ใน 30 ประเทศที่พบว่า หากมีภาวะ hard landind เศรษฐกิจหดตัว ถดถอย หรือตลาดเงินตลาดทุนขาดสเถียรภาพ ก็ยังจะสามารถรับมือได้ดี ไม่ได้รับแรงกระแทกมากนัก ซึ่งในจำนวนนี้มีประเทศที่อยู่ในเอเชียด้วย ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และอินเดีย 

"เอเชียยังคงมีเกราะป้องกันตนเองได้ดีจากมรสุมทางเศรษฐกิจ" จิน หยาง ลี ผู้จัดการฝ่ายการลงทุนพันธบัตรรัฐบาล บริษัท abrdn PLC ในสิงคโปร์ ทั้งยังเปิดเผยว่า เขามองเห็นโอกาสดีๆในพันธบัตรรัฐบาลของมาเลเซีย อินเดีย และจีน 

 

ที่มา : Stagflation-free Asian markets are leaving taper tantrums behind