คดี ‘นาจิบ ราซัค’ วุ่นไม่จบ กลุ่มยื่นขออภัยโทษเจอกระแสต้านชุลมุนหนัก

28 ส.ค. 2565 | 00:21 น.

ความยุ่งเหยิงกรณีนายนาจิบ ราซัค อดีตนายกฯมาเลเซีย ถูกศาลสูงสุดตัดสินยืนโทษจำคุก 12 ปีคดีคอรัปชันกองทุน “วันเอ็มดีบี” ยังไม่จบสิ้น เมื่อกลุ่มผู้สนับสนุนหลายร้อยคนพยายามยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ก็เจอกระแสสวนกลับทันทีจากประชาชนนับแสนที่ลงชื่อคัดค้าน

แม้ว่า นายนาจิบ ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย จะเพิ่งถูกส่งตัวเข้าเรือนจำเพื่อ รับโทษจำคุก 12 ปี (23 ส.ค.) จากความผิดคอร์รัปชันเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติมาเลเซีย หรือ “วันเอ็มดีบี” หลังศาลสูงสุดพิพากษายืนโทษตามคำตัดสินของศาลชั้นต้น โดยคดีดังกล่าวถือเป็นคดีใหญ่ที่สร้างความเดือดดาลให้กับชาวมาเลเซีย แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีประชาชนจำนวนมากที่ให้การสนับสนุนนายนาจิบอย่างเหนียวแน่น โดยเมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา พวกเขาได้ยื่นถวายฎีกาต่อสมเด็จพระราชาธิบดีอัล-สุลต่าน อับดุลเลาะห์ กษัตริย์มาเลเซีย เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้กับนายนาจิบ อ้างถึงเกียรติและคุณูปการที่นายนาจิบมีต่อประเทศชาติ

 

ทั้งนี้ นายนาจิบ ราซัค วัย 69 ปี เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียที่ต้องโทษถึงขั้นจำคุก

นาจิบ ราซัค วัย 69 ปี เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียที่ต้องโทษถึงขั้นจำคุก

กลุ่มผู้สนับสนุนเขาจำนวนกว่า 300 คนได้เดินทางเข้าถวายฎีกาที่บริเวณหน้าพระราชวังช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา (24 ส.ค.) เพื่อขอให้กษัตริย์อับดุลเลาะห์พระราชทานอภัยโทษให้กับนายนาจิบ แต่ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มต่อต้านนายนาจิบที่ออกมาสร้างแคมเปญบนโลกออนไลน์เพื่อเรียกร้องไม่ให้กษัตริย์อับดุลเลาะห์อภัยโทษให้กับอดีตนายกฯผู้ก่อคดีคอรัปชันฉาวนี้ โดยพวกเขาอ้างว่า คำพิพากษาของศาลได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ในการลงโทษผู้นำมาเลเซียที่ก่อคดีทุจริตโดยไม่เห็นแก่หน้าผู้ใด ซึ่งขณะนี้มีประชาชนเกือบ 1 แสนคน เข้าร่วมลงชื่อสนับสนุนการไม่ให้อภัยโทษแก่นายนาจิบ

สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า กษัตริย์มาเลเซียมีบทบาทสำคัญที่จะสามารถชี้ชะตาของนายนาจิบ แต่นั่นก็อาจทำให้พระองค์ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากวิกฤตการณ์การเมืองในขณะนี้ เพราะสำหรับกษัตริย์อับดุลเลาะห์แล้ว การอภัยโทษให้กับนักการเมืองที่มีอัตราโทษสูงเช่นนี้ สุ่มเสี่ยงที่จะสร้างความเดือดดาลให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง

 

อย่างไรก็ตาม นายนาจิบเองยังไม่ได้ยื่นขอรับการอภัยโทษแต่อย่างใด แต่หากเขาได้รับการอภัยโทษ นั่นก็หมายความว่า เขาจะรอดการถูกจำคุก 12 ปี ซึ่งจะเปิดทางให้เขาสามารถกลับมาลงสนามการเมืองได้อีก

 

นายอาวัง อัซมาน ปาวี ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยมาลายา (University Malaya) กล่าวกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า กษัตริย์อับดุลเลาะห์จำเป็นต้องประเมินสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยไม่สร้างความไม่สบายใจให้กับชาวมาเลเซีย เนื่องจากนายนาจิบเพิ่งจะเข้าไปอยู่ในเรือนจำได้ไม่นาน ส่วนกรณีการอภัยโทษนั้นอาจเป็นเรื่องยาก เนื่องจากนายนาจิบจะเผชิญการพิจารณาคดีอื่น ๆ อีก 4 คดีที่เกี่ยวกับกองทุน 1MDB ซึ่งเป็นหนึ่งในคดีอื้อฉาวทางการเงินครั้งใหญ่ที่สุดในโลก

 

รายงานข่าวระบุว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายนาจิบได้จัดตั้งกองทุน 1MDB วงเงิน 6,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2552 โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำเงินไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของมาเลเซีย แต่ต่อมากระทรวงยุติธรรมสหรัฐระบุว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของมาเลเซียได้ยักยอกเงินราว 4,500 ล้านดอลลาร์ออกจากกองทุน 1MDB ในระหว่างปี 2552-2557 จนนำไปสู่การสอบสวนนายนาจิบในที่สุด

คดีเมียนาจิบก็วุ่นไม่แพ้กัน ศาลเดือดเอกสารคำพิพากษารั่ว

สำนักข่าวเอพี รายงานวานนี้ (27 ส.ค.) เกี่ยวกับความคืบหน้ากรณี เอกสารคำพิพากษาศาลชั้นต้นของนางรอสมะห์ มันซอร์ ภริยาของนายนาจิบ ราซัค มีการรั่วไหล โดยระบุว่า สำนักงานศาลสูงสุดรัฐบาลกลางของมาเลเซียได้ออกแถลงการณ์ประณามเว็บไซต์ชื่อ The Malaysia Today ซึ่งจดทะเบียนในประเทศอังกฤษว่า เว็บดังกล่าวลักลอบนำเอกสารคำตัดสินโทษนางรอสมะห์ จำนวน 71 หน้า มาเผยแพร่ในโลกออนไลน์ก่อนวัดนัดพิพากษาคดีคอร์รัปชันโครงการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มูลค่า 279 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 10,000 ล้านบาท

ทั้งนาจิบ และภรรยาของเขา ต่างก็เจอข้อหาทุจริตคอรัปชันคดีใหญ่ด้วยกันทั้งคู่

ทั้งนี้ สำนักงานศาลสูงสุดรัฐบาลกลางของมาเลเซีย ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเว็บไซต์ดังกล่าวที่มีบล็อกเกอร์รายหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ โดยระบุว่า เว็บไซต์ The Malaysia Today ได้ลักลอบนำเอกสารของทางการมาเผยแพร่โดยมีเจตนาพยายามที่จะทำลายชื่อเสียงความน่าเชื่อถือของศาล พร้อมกันนี้ สำนักงานศาลสูงสุดฯ ยืนยันว่าจะไม่ยอมให้ใครหรือกลุ่มใดมากดดันการทำหน้าที่ของศาล

 

"สำนักงานศาลสูงสุดรัฐบาลกลางขอยืนยันว่าเราจะไม่ยอมให้บุคคลหรือกลุ่มใดมาดูถูกบ่อนทำลายกระบวนการยุติธรรมของประเทศโดยเด็ดขาด" แถลงการณ์ระบุ

 

สำหรับกรณีคดีความของนางรอสมะห์ มันซอร์ ภริยาของนายนาจิบ ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น ถ้าหากศาลพิจารณาเห็นว่า มีความผิดจริงก็อาจถูกตัดสินโทษ แต่นางรอสมะห์ก็ยังสามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คำตัดสินได้

 

รายงานข่าวระบุว่า นางรอสมะห์ ถูกดำเนินคดีจากข้อหาติดสินบนเจ้าพนักงานของรัฐ และรับสินบนมูลค่า 5 ล้านริงกิต (หรือประมาณ 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือกว่า 50 ล้านบาท ระหว่างปี 2559 ถึง 2560 เพื่อเป็นธุระช่วยให้บริษัทเอกชนรายหนึ่งชนะการประมูลในโครงการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์สำหรับโรงเรียนบนเกาะบอร์เนียว

 

หากมีการตัดสินว่ากระทำผิดจริง นางรอสมะห์อาจจะต้องโทษจำคุกถึง 20 ปี และถูกปรับสูงสุด 5 เท่าของมูลค่าเงินที่ถูกฟ้องร้องในคดี อย่างไรก็ตาม เธอปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดมาโดยตลอดท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในมาเลเซียเกี่ยวกับการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และรสนิยมโปรดปรานกระเป๋าและเครื่องประดับแบรนด์เนมชื่อดังขณะที่สามีของเธอดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี