ออสเตรเลียวอนปชช.ทำงานจากบ้าน หลังผู้ป่วยโควิดล้นโรงพยาบาลอีกครั้ง

22 ก.ค. 2565 | 00:13 น.

รัฐบาลออสเตรเลียร้องขอให้ประชาชนทำงานจากบ้านมากขึ้น แนะนำให้มีการสวมหน้ากากป้องกันแม้จะอยู่ภายในอาคาร และให้ไปรับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์สำหรับโควิด-19 โดยด่วนที่สุด หลังตัวเลขผู้ป่วยโควิดที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลพุ่งสูงใกล้ทุบสถิติล่าสุดแล้ว

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ออสเตรเลีย กำลังเผชิญหน้ากับการระบาดระลอกที่ 3 ของเชื้อโคโรนาไวรัส โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ซึ่งแพร่กระจายอย่างง่ายดายและรวดเร็ว จนทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากกว่า 300,000 รายในช่วง 7 วันที่ผ่านมา โดยสถิติเมื่อวันพุธ (20 ก.ค.) พบผู้ติดเชื้อใหม่ถึง 53,850  ราย นับเป็นสถิติรายวันสูงที่สุดในรอบ 2 เดือน ขณะที่ทางการออสเตรเลียเชื่อว่า ตัวเลขที่แท้จริงนั้นน่าจะสูงกว่าที่มีรายงานออกมาถึง 2 เท่า

 

นายแอนโธนี อัลบานีส นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียคนใหม่ พยายามที่จะไม่ประกาศบังคับใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 เหมือนกับในยุครัฐบาลชุดก่อนของนายสกอตต์ มอร์ริสัน ซึ่งเข้มงวดและล็อกดาวน์ยืดยาวจนประชาชนไม่พอใจ ดังนั้น นายอัลบานีสจึงไม่ใช้มาตรการเชิงบังคับมากนัก ซึ่งรวมถึงการไม่บังคับให้ประชาชนสวมหน้ากากเมื่ออยู่ภายในอาคาร อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดที่พุ่งสูงขึ้น เขาได้แนะนำเชิงขอร้องให้ประชาชนมีการป้องกันตนเองด้วยวิธีนี้

นายแอนโธนี อัลบานีส นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย

นายอัลบานีส กล่าวด้วยว่า ธุรกิจต่าง ๆ และพนักงานต้องตัดสินใจร่วมกันว่า จะมีการดำเนินนโยบายทำงานจากบ้านหรือไม่และอย่างไร ขณะที่สหภาพแรงงานทั้งหลายเรียกร้องให้นายจ้างช่วยลูกจ้างของตนให้มากกว่าที่ทำอยู่

นายพอล เคลลี่ นายแพทย์ใหญ่และที่ปรึกษาสูงสุดด้านสาธารณสุขออสเตรเลีย คาดการณ์ว่า จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่จะต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจะพุ่งขึ้นจนถึงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเร็ว ๆ นี้ และร้องขอให้ภาคธุรกิจยินยอมให้พนักงานทำงานจากบ้านมากขึ้นด้วย

 

รอยเตอร์รายงานว่า ปัจจุบัน มีชาวออสเตรเลียที่ติดโควิด-19 และต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอยู่ราว 5,350 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงสถิติล่าสุดที่ 5,390 คนซึ่งบันทึกได้เมื่อเดือนมกราคม 2565

 

นอกจากจำนวนคนไข้ที่เพิ่มขึ้นแล้ว บุคลากรด้านสาธารณสุข หรือ “บุลากรด่านหน้า” จำนวนมากก็ตกเป็นเหยื่อโควิด-19 หรือไม่ก็ต้องทำการแยกตัวเฝ้าระวังอาการด้วย จึงทำให้การให้บริการด้านการแพทย์ของออสเตรเลียอยู่ในสภาพตึงตัวหนักมาก