บันทึกลับของ Anne Frank รำลึก 75 ปี “ที่ใดมีความหวัง ที่นั่นมีชีวิต”

26 มิ.ย. 2565 | 02:03 น.

25 มิ.ย. 65 เป็นวันครบรอบ 75 ปีการตีพิมพ์หนังสือบันทึกลับของ Anne Frank เรื่องราวของเด็กสาวเหยื่อสงครามนาซี เจ้าของบันทึกลับชื่อดังก้องโลกที่ถ่ายทอดเรื่องราวระหว่างการซ่อนตัวจากการสังหารหมู่ชาวยิว ที่สร้างทั้งความสะเทือนใจและเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนในเวลาต่อมา

บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์ (Anne Frank) เด็กสาวที่เปี่ยมด้วยความหวังในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง เจ้าของวลี “ที่ใดมีความหวัง ที่นั่นมีชีวิต” มีการตีพิมพ์เป็นหนังสือครั้งแรกในปี 1947 (พ.ศ.2490) ทำให้โลกได้รับรู้ถึงความโหดร้ายของสงคราม ความยากลำบากของคนยุโรปเชื้อสายยิวในยุคนั้น รวมทั้งความหวังของพวกเขา ไดอารี่หรือบันทึกของ แอนน์ แฟรงค์ ถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือกว่า 70 ภาษาและมียอดขายมากกว่า 30 ล้านเล่ม กูเกิลดูเดิล ร่วมรำลึก 75 ปีของการตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นภาพกราฟิกเรียบง่ายแต่สวยงามสะดุดตา ใครที่ได้เข้าอินเทอร์เน็ตเปิดหน้าโฮมของกูเกิลคงได้เห็นกันไปแล้ว

 

บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์ ถือว่าเป็นหนึ่งในหนังสือที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ เรื่องราวที่ถ่ายทอดจากบันทึกประจำวันของเธอในช่วงที่ชีวิตต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตครั้งใหญ่ ทำให้โลกต้องหม่นหมองกับการได้รับรู้ผลกระทบที่เลวร้ายของสงคราม แต่ขณะเดียวกันทัศนคติของแอนน์ แฟรงค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเหยื่อของสงครามนาซี กลับสร้างความหวังพลังใจให้กับผู้คนได้อย่างมากมาย

ต้นฉบับของบันทึกนั้นเป็นภาษาดัตช์

แอนน์ แฟรงค์ (Anne Frank) เกิดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1929 ในเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เมื่อพรรคนาซีเริ่มมีอำนาจในเยอรมนี และมีการเลือกปฏิบัติ-ใช้ความรุนแรงต่อชาวยิวและประชาชนที่มีเชื้อสายยิว  ครอบครัวของเธอก็โยกย้ายหนีภัยคุกคามดังกล่าวไปยังเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เช่นเดียวกับชาวยิวคนอื่น ๆ อีกกว่า 25,000 ชีวิต จนกระทั่งค.ศ. 1940 กองทัพเยอรมนีบุกเนเธอร์แลนด์ ชาวยิวหลายล้านต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมอย่างไร้มนุษยธรรม พวกเขาถูกจำคุก ประหารชีวิต หรือถูกส่งไปยังค่ายกักกันที่ไร้มนุษยธรรม บางส่วนเลือกที่จะหนีออกจากบ้านหรือไปซ่อนตัวในสถานที่ต่าง ๆ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย  

 

ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 1942 ครอบครัวของแอนน์ แฟรงค์ หลบหนีไปซ่อนตัวในห้องลับใต้หลังคาของบริษัทพ่อเธอ ซึ่งเป็นอพาร์ตเมนต์แคบ ๆ สองชั้นและมีห้องใต้หลังคาอีกหนึ่งชั้น ทั้งเจ็ดคนใช้ชีวิตในห้องนั้นเงียบ ๆ ในเวลากลางวัน และฟังข่าวสารจากวิทยุในตอนกลางคืน โดยมีบุคคลภายนอกไม่กี่คนคอยให้ความช่วยเหลือและแอบนำเสบียงอาหารมาให้ ท่ามกลางความแร้นแค้นดังกล่าว ปีที่แอนน์มีอายุครบวันเกิด 13 ปี เธอได้รับของขวัญวันเกิดเป็นสมุดบันทึกปกแข็งที่เธอใช้บันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ประจำวัน โดยไม่รู้เลยว่า เรื่องราวบันทึกของเธอต่อจากนี้จะเปลี่ยนแปลงโลกไปตลอดกาล

ปกฉบับภาษาอังกฤษ

 

ตลอดเวลา 25 เดือนที่ต้องหลบซ่อนตัว แอนน์ แฟรงค์ เติมเต็มช่องว่างลงในสมุดบันทึกเล่มนั้นด้วยเรื่องราวความใฝ่ฝันที่อยากเป็นนักเขียนของเธอเอง เรื่องราวการใช้ชีวิตประจำวัน ความชอบ-ไม่ชอบสิ่งต่าง ๆ ความคิด ความเชื่อ และความรู้สึกของต่อเรื่องราวที่ต้องเผชิญ หนึ่งในข้อความที่เธอเขียนไว้ในสมุดบันทึกขณะหลบซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบ ๆ และหวาดหวั่น แต่กลับเป็นข้อความที่ก้องดังไปทั่วโลกในเวลาต่อมา ก็คือ “ที่ใดมีความหวัง ที่นั่นมีชีวิต มันเติมเต็มความกล้าหาญและทำให้เราแข็งแกร่งอีกครั้ง” 

 

แอนน์ แฟรงค์ มีความหวังเสมอว่าเธอและครอบครัวจะได้ออกไปใช้ชีวิตอย่างอิสระอีกครั้ง เธอไม่ปล่อยให้คืนวันเหล่านั้นสูญเปล่า แอนน์มักใช้เวลาช่วงบ่ายในการเขียนบันทึกหรือเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่เธอสนใจอยู่เสมอ และหวังว่าบันทึกของเธอจะสามารถตีพิมพ์ได้หลังสงคราม ในชื่อเรื่อง Het Achterhuis (The Secret Annex)

 

แต่แล้วเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1944 ความฝันและความหวังทั้งหมดทั้งมวลของเธอก็ล่มสลายในพริบตา เมื่อหน่วยสืบราชการลับของนาซีค้นพบที่ซ่อนครอบครัวของแอนน์ แฟรงก์ ทั้งหมดถูกจับกุมและนำตัวไปที่ศูนย์กักกัน ถูกบังคับให้ทำงานหนัก ก่อนที่แอนน์ มาร์กอท (พี่สาว) และแม่จะถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกันเอาชวิทซ์ในประเทศโปแลนด์ ส่วนคนชรา คนพิการ และเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ถูก “กำจัด” อย่างโหดเหี้ยมด้วยการรมแก๊สทันทีเมื่อถึงที่หมาย

 

พวกเขาต้องอาศัยอยู่ในห้องสภาพคับแคบ สุขอนามัยย่ำแย่ ทำงานหนักและได้กินอาหารเพียงน้อยนิด เป็นเรื่องเศร้าที่แม่ของเธอเสียชีวิตในค่ายกักกัน ไม่กี่เดือนต่อมา ทั้งแอนน์และมาร์กอท (ผู้เป็นพี่สาว) ก็ถูกส่งไปยังค่ายกักกันเบอร์เกน-เบลเซ่นในเยอรมนี เกิดโรคไข้รากสาดใหญ่ระบาดในค่ายกักกัน มาร์กอทเสียชีวิต และหลังจากนั้นไม่นาน แอนน์ก็จากโลกตามพี่สาวไป ขณะที่อายุเพียง 15 ปี

 

กูเกิลดูเดิลรำลึก 75 ปีการตีพิมพ์หนังสือบันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา

 

เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ออทโท แฟรงค์ พ่อของเธอ ซึ่งเป็นคนเดียวในครอบครัวที่รอดชีวิต ได้นำบันทึกนี้ออกเผยแพร่ต่อสาธารณะ  สำนักพิมพ์ Contact Publishing ในกรุงอัมสเตอร์ดัม นำเรื่องราวในบันทึกดังกล่าวมาตีพิมพ์เป็นหนังสือครั้งแรกในปี ค.ศ. 1947 (พ.ศ.2490) ใช้ชื่อเรื่องในภาษาดัตช์ว่า Het Achterhuis: Dagboekbrieven van 12 Juni 1942 – 1 Augustus 1944 (หรือ ห้องลับ : บันทึกประจำวันตั้งแต่ 12 มิถุนายน 1942 - 1 สิงหาคม 1944)

 

หนังสือเล่มนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์โดยกว้างขวางและเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วหลังจากฉบับแปลภาษาอังกฤษที่ออกจำหน่ายในปี ค.ศ. 1952 ใช้ชื่อว่า Anne Frank: The Diary of a Young Girl พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Doubleday & Company ในสหรัฐอเมริกา และโดยสำนักพิมพ์ Vallentine Mitchell ในอังกฤษ ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในหนังสือยอดเยี่ยมแห่งศตวรรษที่ 20

 

แม้ว่าแอนน์ แฟรงค์ จะเป็นหนึ่งในเหยื่อโศกนาฏกรรมแสนโหดร้ายในครั้งนั้น แต่เรื่องราวของเธอซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อ “บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์” ได้กลายเป็นงานวรรณกรรมที่มีคนอ่านกันอย่างแพร่หลายมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา เป็นเรื่องราวที่ย้ำเตือนเสมอว่า สงครามนั้นโหดร้ายกับมนุษยชาติมากแค่ไหน แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม "ความหวัง" ก็ยังคงเป็นสิ่งมีค่ามากที่สุดสำหรับมนุษย์ตราบที่ชีวิตยังมีลมหายใจ