IMF หั่นจีดีพีสหรัฐเหลือ 2.9% ปีนี้ แต่เชื่อว่ายังมีโอกาสเลี่ยงภาวะถดถอย

26 มิ.ย. 2565 | 00:38 น.

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา เหลือเพียง 2.9% ในปีนี้ ลดลงจากเดิมที่คาดไว้ในเดือนเม.ย.ที่ระดับ 3.7% ซ้ำยังคาดการณ์การขยายตัวที่แผ่วลงเรื่อยๆ เหลือเพียง 1.7 % และ 0.8% ในช่วงสองปีข้างหน้า

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยตัวเลข คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของ สหรัฐอเมริกา จะขยายตัวเพียง 2.9% ในปีนี้ (2565) ซึ่งลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ครั้งล่าสุดในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาว่าจะขยายตัว 3.7%

 

ทั้งนี้ IMF ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ เนื่องมาจากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง (เฟด) ทำให้อุปสงค์ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตามรายงานของ IMF คาดหมายว่า สหรัฐจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้อย่างเฉียดฉิว

 

ส่วนคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2566 นั้น IMF คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวเพียง 1.7% เป็นการปรับลดลงจากเดิมที่คาดไว้ที่ระดับ 2.3%  ส่วนปี 2567 คาดว่าจีดีพีสหรัฐจะขยายตัวเพียง 0.8% เท่านั้น

 

ทั้งนี้ ในเดือนต.ค.ปีที่แล้ว IMF คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวถึง 5.2% ในปีนี้ แต่นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ และภาวะชะงักงันด้านห่วงโซ่อุปทาน ก็ทำให้เศรษฐกิจชะลอการฟื้นตัวและแนวโน้มคาดการณ์ก็เปลี่ยนแปลงไป

 

ที่สำคัญคือปัจจัยลบที่เกิดจากการที่รัสเซียเปิดศึกรุกรานยูเครนซึ่งขณะนี้ยืดเยื้อมากว่า 4 เดือนแล้ว ทำให้ราคาเชื้อเพลิงและราคาอาหารพุ่งขึ้นทั่วโลก และยังทำให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐในเดือนพ.ค.สูงถึง 8.6% ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 40 ปี

 

อ่านเพิ่มเติม: "พาวเวลล์" แถลงสภา ยันเฟดสามารถสกัดเงินเฟ้อ ศก.แกร่งพอรับมือดอกเบี้ยสูง

ทั้งนี้ เฟดกำลังต่อสู้อย่างจริงจังกับเงินเฟ้อที่ร้อนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี  ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า เฟดทำงานผิดพลาดที่ขึ้นดอกเบี้ยน้อยเกินไปและช้าเกินไปในการควบคุมเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมา 

 

IMF เสนอแนะว่า ในการบรรเทาแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ฝ่ายบริหารของสหรัฐควรยกเลิกภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าประเภทเหล็ก อะลูมิเนียม และสินค้าจากจีนหลายประเภทที่ขยับสูงขึ้นในช่วงห้าปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ IMF ยังสนับสนุนนโยบาย Build-Back-Better ของรัฐบาลสหรัฐ ที่มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพและเสริมสร้างศักยภาพของอุตสาหกรรมภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยคลายข้อจำกัดด้านอุปทาน สนับสนุนการมีส่วนร่วมของแรงงาน สร้างแรงจูงใจในการลงทุน และส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรม