มาร์เก็ตแคปคริปโตวูบกว่า 2 แสนล้านดอลล์ ราคาบิตคอยน์หลุด 2.4 หมื่นดอลล์

13 มิ.ย. 2565 | 22:27 น.

มูลค่าตลาดของสกุลเงินดิจิทัลทั่วโลกวูบหายกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์เมื่อวันจันทร์ (13 มิ.ย.) ราคาบิตคอยน์ร่วงหลุด 24,000 ดอลล์ แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค.2563 ท่ามกลางความกังวลต่อการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และการปรับลดขนาดงบดุล ซึ่งจะฉุดสภาพคล่องในตลาด

ข้อมูลของ Coinmarketcap.com ซึ่งรวบรวมราคาสกุลเงินดิจิทัลมากกว่า 1,000 สกุลจากตลาดซื้อขายทั่วโลก พบว่า มูลค่าตลาดของสกุลเงินดิจิทัล ทั้งหมดดิ่งลงต่ำกว่าระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์วานนี้ (13 มิ.ย.) ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.พ.2564

 

ก่อนหน้านี้ มูลค่าตลาดของสกุลเงินดิจิทัลพุ่งแตะระดับ 2.9 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือนพ.ย.2564 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

 

บิตคอยน์ร่วงลงต่ำกว่าระดับ 24,000 ดอลลาร์แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2563 ใกล้หลุด 800,000 บาทเมื่อวันจันทร์ (13 มิ.ย.) หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่สูงเกินคาด ซึ่งอาจทำให้เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์นี้ (14-15 มิ.ย.) เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

 

นักลงทุนกังวลว่าการที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและปรับลดขนาดงบดุลจะฉุดสภาพคล่องในตลาด และส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอย หลังจากที่หดตัว 1.4% ในไตรมาสแรกของปีนี้ (Q1/65)

มาร์เก็ตแคปคริปโตฯวูบกว่า 2 แสนล้านดอลล์ ต่ำสุดรอบกว่า 1 ปี

นอกจากนี้ บิตคอยน์ยังได้รับผลกระทบจากการที่เซลเซียส เน็ตเวิร์กส์ (Celsius Networks) ซึ่งเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มปล่อยกู้คริปโตเคอร์เรนซีใหญ่ที่สุดในโลก ประกาศระงับการให้บริการด้านการถอน การแลกเปลี่ยน และการโอนระหว่างบัญชีทั้งหมดเป็นชั่วคราว เนื่องจากตลาดประสบความผันผวนอย่างหนัก

(อ่านเพิ่มเติม: "เซลเซียส" ระงับบริการถอน-โอนคริปโตชั่วคราว หลังตลาดผันผวนรุนแรง)

 

โดย ณ เวลา 18.48 น.ตามเวลาไทยวานนี้ บิตคอยน์ร่วงลง 14.01% สู่ระดับ 23,559.50 ดอลลาร์ หรือราว 820,000 บาท ในการซื้อขายบนแพลตฟอร์ม Coinbase

 

จนถึงขณะนี้ บิตคอยน์ทรุดตัวลงกว่า 60% นับตั้งแต่พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 69,000 ดอลลาร์ในเดือนพ.ย.2564 หรือราว 2,400,000 บาท

 

นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมสัปดาห์นี้

นักวิเคราะห์จากหลายสำนักต่างคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 14-15 มิ.ย. ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2537 เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ

 

"การพุ่งขึ้นของดัชนี CPI พื้นฐานจะทำให้เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในสัปดาห์นี้ และยืดเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ยาวถึงฤดูใบไม้ร่วง" นักวิเคราะห์จากแคปิตอล อิโคโนมิกส์ ระบุในรายงาน

ขณะที่นักวิเคราะห์จากบาร์เคลยส์และเจฟเฟอรีส์คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมสัปดาห์นี้เช่นกัน "เราคิดว่าเฟดจะสร้างความประหลาดใจต่อตลาดเพื่อเรียกความเชื่อมั่นในการจัดการกับเงินเฟ้อ" รายงานจากบาร์เคลยส์ระบุ

 

ส่วนนักวิเคราะห์จากบีเอ็นวาย เมลลอนคาดว่า เฟดจะจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมสัปดาห์นี้ จากเดิมที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 0.50%  "ตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนพ.ค.ได้สร้างความกังวลอย่างมากจนทำให้เฟดจะต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย" รายงานจากบีเอ็นวาย เมลลอนระบุ

 

ด้านนักวิเคราะห์จาก Swissquote Bank เห็นว่า ขณะนี้เฟดมีโอกาสมากกว่า 50% ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนก.ค. และมีโอกาส 14% ที่จะปรับขึ้นถึง 1.00% นี่เป็นสิ่งที่เฟดจะดำเนินการหลังการประกาศตัวเลข CPI เมื่อวันศุกร์

 

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักมากกว่า 50% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย. นี้ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ให้น้ำหนักเพียง 5% ก่อนหน้านี้

 

นอกจากนี้ เฟดเริ่มใช้มาตรการปรับลดขนาดงบดุล (QT) ในเดือนมิ.ย. ตามมติในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 4 พ.ค. โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. เฟดจะลดขนาดงบดุลในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน และตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. เฟดจะเพิ่มวงเงินในการลดขนาดงบดุลเป็น 2 เท่า สู่ระดับ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน