ไทยเตรียมชงรัฐมนตรีการค้าเอเปคหนุนจัดทำแผนพัฒนา FTAAP  21-22 พ.ค.นี้

17 พ.ค. 2565 | 08:12 น.

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ไทยในฐานะเจ้าภาพเตรียมผลักดันในเวที "การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค" ระหว่างวันที่ 21-22 พ.ค.นี้ ก็คือ การขับเคลื่อนแนวคิดการจัดตั้งเขตการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP

การขับเคลื่อนแนวคิดการจัดตั้ง เขตการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP ซึ่งเป็น การร่วมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ในภูมิภาคนั้น ไทยในฐานะเจ้าภาพจัด การประชุมเอเปค ในปีนี้ มุ่งให้มีการจัดทำแผนงานการพัฒนา เตรียมความพร้อมสมาชิก และขับเคลื่อนความร่วมมือดังกล่าวออกมาอย่างเป็นรูปธรรมในลำดับต่อไป 


จากการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 2 ที่มีขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีการหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมการค้าการลงทุนที่เปิดกว้างและเสรีอันเป็นหัวใจของเอเปค รวมทั้งเป็นแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาค ภายใต้หัวข้อหลัก "เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล" นั้น คณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุนของเอเปคได้เปิดเผยถึงประเด็นสำคัญที่จะนำเสนอเข้าสู่การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ที่กำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 พฤษภาคมศกนี้

ในการประชุมดังกล่าว ที่ประชุมจะขับเคลื่อน 4 ประเด็นสำคัญ ซึ่งได้แก่ 
(1) การส่งเสริมการค้าพหุภาคี โดยรับฟังความเห็นจากภาคธุรกิจ ที่เรียกร้องให้รัฐมนตรีการค้าเอเปคร่วมกันผลักดันให้ที่ประชุม MC12 (เป็นที่ประชุมรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค) สนับสนุนการส่งเสริมการค้าพหุภาคีเพื่อรับมือผลกระทบจากโควิด-19 เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสนับสนุนความต้องการของภาคธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนเร็วตามบริบทโลก 

(2) การร่วมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเน้นหารือเพื่อพัฒนาแนวทางการทบทวนการจัดทำ เขตการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ที่คำนึงถึงบทเรียนจากโควิด-19 รวมทั้งพัฒนาการของความตกลงการค้าเสรีอื่น ๆ อันประกอบด้วยความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) 

 

(3) การอำนวยความสะดวกทางการค้า ความเชื่อมโยง การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล และนวัตกรรม 

 

(4) การส่งเสริมความครอบคลุมและความยั่งยืน 


ประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญคือ การหารือเพื่อขับเคลื่อนแนวความคิดการจัดตั้งเขตการค้าเสรีแห่งเอเชีย-แซิฟิก หรือ FTAAP โดยไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมได้ปูพื้นบทสนทนาเพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนงานการพัฒนา FTAAP และเตรียมความพร้อมสมาชิกด้วยการเพิ่มขีดความสามารถ ซึ่งไทยคาดหวังให้นำประเด็นนี้ไปสู่การหารือในที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคด้วย เพื่อขอรับการสนับสนุน และมอบหมายคณะทำงานฯ จัดทำแผนงานหลายปีเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป 

สิ่งนี้จะถือเป็นผลลัพธ์แรกในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยด้วย นอกจากนี้ ไทยยังเน้นนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและครอบคลุม มาใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ โดยไทยจะจัดการเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการใช้ประโยชน์จากโมเดล BCG สำหรับ MSMEs ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 โดยเน้นแลกเปลี่ยนแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถ องค์ความรู้ และเทคนิคที่เป็นประโยชน์แก่ MSMEs และเสนอแนะแนวทางการดำเนินนโยบายภาครัฐเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจใช้ประโยชน์โมเดล BCG มากขึ้น พร้อมทั้งจะช่วยสร้างเครือข่ายระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

 

ทั้งนี้ การส่งเสริมการค้าการลงทุนที่เปิดกว้างและเสรี โดยคำนึงถึงประเด็นความท้าทายใหม่ ๆ ของโลก จะช่วยให้เอเปคได้พัฒนารูปแบบการจัดทำเขตการค้าเสรี FTAAP ที่มีคุณภาพ และสร้างประโยชน์อย่างครอบคลุมให้ทุกกลุ่ม การมุ่งพัฒนาศักยภาพของสมาชิกอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับ FTAAP และความเปลี่ยนแปลงในอนาคต จะทำให้ไทยได้ประโยชน์ในการเรียนรู้ พัฒนา และเตรียมความพร้อมร่วมกับสมาชิกอื่น ๆ ได้โดยไม่ตกขบวน

กำหนดการประชุมเอเปคและกิจกรรมในเดือนพฤษภาคม

สำหรับกิจกรรมคู่ขนานของการประชุมที่จะมีขึ้นใน วันที่ 19 พ.ค.นี้ จะเป็น การสัมมนาเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Symposium on FTAAP) เพื่อส่งเสริมการรับรู้และการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และประชาชนไทยเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ของเอเปค 


ส่วน วันที่ 20 พ.ค.จะมีกิจกรรม งานเสวนานานาชาติ BCG Symposium ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG Economy ประกอบด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างภาครัฐ-เอกชน-วิชาการ และจัดทำข้อเสนอแนะในการส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) กับ BCG

 

นอกจากนี้ ยังจะมี กิจกรรม App Challenge ซึ่งเป็นการจัดประกวดแข่งขัน Application เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ในส่งเสริมการค้าการลงทุน โดยในปีนี้ กำหนดโจทย์การพัฒนา Application เพื่อช่วยให้เกษตรกรและผู้ประกอบการในภาคการเกษตรในเอเปคสามารถต่อยอดด้านเกษตรและอาหาร และสร้างโอกาสเข้าถึงตลาดท้องถิ่นและตลาดส่งออก 

 

ในส่วนของการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 22 พ.ค.นั้น ที่ประชุมจะร่วมกันผลักดันและกำหนดทิศทางความร่วมมือในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจการค้าของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ผ่านทางการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดถือกฎเกณฑ์ภายใต้ WTO การหารือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในเรื่องการขับเคลื่อน FTAAP ในช่วงโควิด-19 และอนาคต ซึ่งเน้นการอยู่ร่วมกับโควิด-19 และการมองไปข้างหน้า โดยใช้นโยบายการค้าเป็นเครื่องมือสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมและยั่งยืน ซึ่งจะสะท้อนหัวข้อหลักในการเป็นเจ้าภาพของไทยซึ่งก็คือ Open. Connect. Balance. หรือ "เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล" นั่นเอง