แบงก์ชาติเลบานอนโต้ข่าวล้มละลาย หลังรองนายกฯปูดกำลังขอความช่วยเหลือ IMF  

04 เม.ย. 2565 | 21:57 น.

หลังจากที่มีข่าวธนาคารกลางเลบานอนประสบภาวะล้มละลายวานนี้ (4 เม.ย.) ล่าสุด นายไรอัด ซาลาเมห์ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติเลบานอน ออกแถลงการณ์ปฏิเสธข่าวดังกล่าวแล้ว ระบุธนาคารกลางยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่รักษาความน่าเชื่อถือของสกุลเงินและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

นายไรอัด ซาลาเมห์ ผู้ว่าการธนาคารกลางเลบานอน ออกแถลงการณ์วานนี้ (4 เม.ย.) ปฏิเสธข่าวที่นายซาอัด ชามิ รองนายกรัฐมนตรีเลบานอนเป็นผู้ออกมาให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า ธนาคารกลางเลบานอน ประสบภาวะล้มละลาย แล้ว โดยเขาระบุว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

 

“ธนาคารกลางยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่ภายใต้มาตรา 70 ของกฎหมายการเงิน ซึ่งระบุว่าธนาคารกลางมีหน้าที่รักษาความน่าเชื่อถือของสกุลเงินเลบานอน และรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ” นายซาลาเมห์ระบุ

ไรอัด ซาลาเมห์ ผู้ว่าการธนาคารกลางเลบานอน

แถลงการณ์ของเขามีขึ้น หลังจากที่นายชามิ รองนายกฯ ออกมาให้ข่าวว่า สาธารณรัฐเลบานอนและธนาคารกลางเลบานอนได้ล้มละลายแล้ว และรัฐบาลกำลังเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อออกมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ และลดผลกระทบต่อประชาชน

นายชามิยังเปิดเผยว่า การเจรจากับ IMF ครั้งนี้รวมถึงการปรับโครงสร้างระบบธนาคาร แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การอนุมัติงบประมาณ และการออกกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมเงินทุน

 

สภาพความเป็นจริง : วิกฤตการเงินครั้งใหญ่

ก่อนหน้านี้ เลบานอนได้เผชิญวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ ส่งผลให้ประเทศขาดแคลนสกุลเงินตราต่างประเทศอย่างหนัก

 

ทางด้านผู้เชี่ยวชาญทางการเงินได้กล่าวหาธนาคารพาณิชย์ของเลบานอนว่าได้นำเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศของลูกค้าไปฝากไว้ที่ธนาคารกลางเพื่อแลกกับการได้รับอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง ขณะที่ธนาคารกลางเลบานอนก็ได้นำเงินฝากดังกล่าวไปหนุนค่าเงินปอนด์ของเลบานอน และชดเชยการขาดดุลงบประมาณของประเทศ

ประชาชนแห่ถอนเงิน

ทั้งนี้ เลบานอนเผชิญวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจนับตั้งแต่ปี 2562 ส่งผลให้ประเทศประสบภาวะขาดแคลนพลังงานและเวชภัณฑ์ ขณะเดียวกันค่าเงินปอนด์เลบานอนได้ทรุดตัวลงถึง 90% ซึ่งได้บั่นทอนความสามารถของประชาชนในการเข้าถึงสินค้าพื้นฐาน รวมทั้งอาหาร น้ำ ระบบสาธารณสุข และการศึกษา รวมทั้งเกิดกระแสไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง อันเป็นผลจากการขาดแคลนเชื้อเพลิง

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จำกัดการถอนสกุลเงินต่างประเทศนับตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งมีสาเหตุจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

 

ธนาคารโลกประเมินว่า เศรษฐกิจเลบานอนได้หดตัวลงเกือบ 60% ระหว่างปี 2562-2564 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในวิกฤตการเงินครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่

 

ข้อมูลอ้างอิง