ส่องมาตรการพลังงาน น้ำมันราคาแพง นานาประเทศรับมืออย่างไร

21 มี.ค. 2565 | 01:12 น.

นานาประเทศทั่วโลก ไม่เพียงเฉพาะประเทศไทย มีการประกาศใช้มาตรการต่างๆ ทั้งอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง ลดภาษี และอื่นๆ เพื่อแบ่งเบาภาระไม่ให้ประชาชนต้องได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นจนทำสถิติสูงที่สุดในรอบ 14 ปีเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

สภาวะการสู้รบระหว่าง รัสเซีย และ ยูเครน ตลอดจนมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียและอีกหลากเหตุปัจจัย ส่งผลให้ราคาพลังงานเชื้อเพลิง ทั่วโลกที่อยู่ในระดับสูงอยู่แล้วทะยานพุ่งขึ้นไปอีก โดย ราคาน้ำมัน ได้พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 14 ปีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้นานาประเทศต้องเร่งนำ มาตรการรับมือ มาใช้ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รวบรวม "ตัวอย่าง" มาตรการที่รัฐบาลในบางประเทศนำมาใช้รับมือกับราคาพลังงานที่พุ่งทะยานขึ้น ดังนี้

 

ญี่ปุ่น

เมื่อวันพุธ (16 มี.ค.) สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นพิจารณาโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการต่อเวลาให้เงินอุดหนุนเพื่อพยุงราคาเชื้อเพลิง จากเดิมที่มีกำหนดสิ้นสุดการอุดหนุนในปลายเดือนมี.ค.นี้ ทั้งยังพิจารณาลดภาษีน้ำมันเบนซินบางส่วน หากราคาน้ำมันสูงกว่า 160 เยน (ราว 44.8 บาท) นานติดต่อกันเกิน 3 เดือน

 

ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมญี่ปุ่นได้ประกาศใช้มาตรการฉุกเฉินชั่วคราวเพื่อชะลอการขยับขึ้นของราคาขายส่งน้ำมันเบนซินและเชื้อเพลิงอื่นๆ โดยให้เงินอุดหนุนบริษัทน้ำมันเป็นเงิน 3.4 เยน (ราว 0.95 บาท) ต่อน้ำมันหนึ่งลิตร ซึ่งนับตั้งแต่นั้นมา ทางการญี่ปุ่นเพิ่มเงินอุดหนุนบริษัทพลังงานไปอีก 4 ครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มี.ค. โดยเพิ่มไปอยู่ที่ 25 เยน (ราว 7 บาท) ต่อหนึ่งลิตร

ส่องมาตรการนานาประเทศรับมือราคาพลังงานพุ่งสูง

เกาหลีใต้

เกาหลีใต้ยืดการลดภาษีพลังงานออกไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ โดยลดภาษีน้ำมันเบนซิน 164 วอน (ราว 4.5 บาท) ต่อลิตร ลดภาษีน้ำมันดีเซล 116 วอน (ราว 3.18 บาท) ต่อลิตร และลดภาษีก๊าซหุงต้ม 40 วอน (ราว 1.1 บาท) ต่อลิตร

 

การยืดระยะเวลาลดภาษีพลังงานครั้งนี้ขึ้นเกิดหลังจากเมื่อเดือนต.ค.2564 รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศว่า จะลดภาษีภายในประเทศของผลิตภัณฑ์น้ำมันลงราว 1 ใน 5 และลดกำแพงภาษีก๊าซธรรมชาติเหลวให้เหลือศูนย์ จากเดิมที่อยู่ที่ 2%

 

ฟิลิปปินส์

รัฐบาลฟิลิปปินส์ดำเนินโครงการอุดหนุนเชื้อเพลิงสำหรับระบบคมนาคม โดยเพิ่มเงินอุดหนุน 2 เท่าเป็น 5,000 ล้านเปโซ (ราว 8,000 ล้านบาท) นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มงบออกคูปองเชื้อเพลิง จากเดิม 500 ล้านเปโซ เป็น 1,100 ล้านเปโซ (ราว 700 ล้านบาท) เพื่ออุดหนุนเกษตรกรและลดต้นทุนทางการเกษตร

โครงการอุดหนุนเชื้อเพลิงนี้จะดำเนินไปจนถึงเดือนหน้า (เม.ย.) โดยกระทรวงพลังงานระบุว่า กำลังพิจารณามาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น เพิ่มปริมาณน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลที่กักตุนสำรองไว้ จากเดิมที่กักตุนสำรองพอสำหรับ 30 วัน จะเพิ่มปริมาณเป็น 45 วัน และเพิ่มปริมาณสำรองก๊าซหุงต้ม จากเดิม 7 วัน เพิ่มเป็น 15 วัน

 

นอกจากนี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์ยังวางแผนเพิ่มปริมาณถ่านหินเพื่อผลิตพลังงานและระงับกำแพงภาษีเชื้อเพลิงเป็นการชั่วคราว

 

มาเลเซีย

รัฐมนตรีคลังมาเลเซียเปิดเผยว่า ในปีนี้(2565) มาเลเซียอาจใช้งบ 28,000 ล้านริงกิต (ราว 221,000 ล้านบาท) เพื่ออุดหนุนปิโตรเลียม นับเป็นงบที่เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า หากราคาน้ำมันยังคงสูงอยู่ โดยมาเลเซียอาจต้องใช้งบเดือนละ 2,500 ล้านริงกิต (ราว 20,000 ล้านบาท) ถ้าหากราคาน้ำมันยังคงอยู่เหนือ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

รายงานข่าวระบุว่า งบอุดหนุนพลังงานทั้งน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล และก๊าซหุงต้มของมาเลเซียเมื่อเดือนม.ค.เดือนเดียวอยู่ที่ 2,000 ล้านริงกิต (ราว 16,000 ล้านบาท) โดยเป็นงบที่เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้ว (2564) งบอุดหนุนปิโตรเลียมทั้งปีของมาเลเซียอยู่ที่ 11,000 ล้านริงกิต (ราว 87,000 ล้านบาท)

ส่องมาตรการนานาประเทศรับมือราคาพลังงานพุ่งสูง

ฝรั่งเศส

ฝรั่งเศสประกาศแผนลดภาษีค่าใช้จ่ายด้านคมนาคมสำหรับผู้สัญจรลงอีก 10% ตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา และก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนเม.ย. ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ประกาศว่าจะใช้มาตรการต่าง ๆช่วยให้ประชาชนรับมือราคาพลังงานเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ฝรั่งเศสใช้งบปีละ 20,000 ล้านยูโร (ราว 737,000 ล้านบาท) เพื่อรับมือกับราคาพลังงาน

 

และนับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. บริษัทโททาล อิเนอร์จีส์ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของฝรั่งเศส จะลดราคาน้ำมันตามสถานีบริการน้ำมันในฝรั่งเศสลงลิตรละ 10 เซนต์

 

บราซิล

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว วุฒิสภาบราซิลผ่านกฎหมาย 2 ฉบับเพื่อควบคุมราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูง โดยการให้เงินอุดหนุนและการยกเว้นภาษี โดยมาตรการดังกล่าวจะส่งผลดีต่อบริษัทน้ำมันของรัฐ แต่รายได้ของรัฐจากการจัดเก็บภาษีก็จะลดลงด้วยเช่นกัน

 

กฎหมายฉบับแรก กำหนดให้รัฐบาลให้เงินชดเชยบริษัทเชื้อเพลิง หากราคาเชื้อเพลิงในต่างประเทศพุ่งสูงกว่าราคาที่ควรจะเป็นในประเทศ ส่วนกฎหมายฉบับที่สอง เป็นการผ่อนปรนมาตรการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มระดับรัฐของน้ำมันเบนซิน เอทานอล ไบโอดีเซล และก๊าซหุงต้ม

 

ข้อมูลอ้างอิง