สัญญาณบวก รัสเซียพร้อมคุย-ยูเครนยันไม่เข้านาโต-เปิดออสเตรียโมเดล

17 มี.ค. 2565 | 05:32 น.

วิกฤตยูเครนเริ่มมีสัญญาณเชิงบวกที่อาจจะนำไปสู่การยุติความขัดแย้ง เมื่อปธน.ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศชัดว่า รัสเซียพร้อมที่จะหารือเกี่ยวกับสถานะที่เป็นกลางของยูเครนในการเจรจาที่มีจุดประสงค์เพื่อยุติสงคราม ขณะที่ยูเครนขานรับว่า ไม่มีความประสงค์จะเข้านาโตแล้ว

สัญญาณเชิงบวก สู่การคลี่คลายความขัดแย้งมีขึ้นเมื่อ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศวานนี้ (16 มี.ค.) ว่า รัสเซีย พร้อมนั่งโต๊ะเจรจาเกี่ยวกับ "สถานะความเป็นกลาง" ของ ยูเครน แม้ว่าขณะที่การเจรจาดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น รัสเซียจะยังคงเดินหน้าใช้ปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครนต่อไปเพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งจนถึงขณะนี้ ผู้นำรัสเซียเห็นว่า ปฏิบัติการดังกล่าวกำลังเป็นไปตามแผน

 

ด้าน นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เปิดเผยถึงสิ่งที่อาจจะเป็นข่าวดีว่า ขณะนี้รัสเซียและยูเครนใกล้ที่จะบรรลุข้อตกลงบางส่วนในการเจรจาสันติภาพ หลังจากที่ยูเครนยอมตกลงที่จะหารือเกี่ยวกับสถานะประเทศเป็นกลาง

 

คำกล่าวของนายลาฟรอฟได้เพิ่มความหวังว่ารัสเซียจะยุติการทำสงครามในยูเครน ซึ่งเป็นการทำสงครามครั้งใหญ่ที่สุดของยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

 

 "เรากำลังหารือกันอย่างจริงจังเกี่ยวกับสถานะประเทศเป็นกลาง พร้อมกับการรับประกันความมั่นคงสำหรับยูเครน โดยทั้งสองฝ่ายกำลังใกล้ได้ข้อตกลงเกี่ยวกับสูตรบางอย่างแล้ว ผมมองเห็นความหวังที่รัสเซียและยูเครนจะสามารถประนีประนอมในการเจรจาสันติภาพ" ลาฟรอฟกล่าว

การพบกันของบุคคลทั้งสอง ปธน.ปูติน และปธน.เซเลนสกี เป็นความหวังของข้อตกลงสันติภาพ

ขณะที่ ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การทำข้อตกลงกับรัสเซียในการยุติสงครามในยูเครนเริ่มใกล้ความจริงมากขึ้น "เราต่างก็ต้องการสันติภาพ และยังจำเป็นต้องใช้ความพยายามในการยุติสงคราม โดยผู้แทนการเจรจาของเราต้องใช้ความอดทนและต้องทำงานหนัก"

 

เซเลนสกีขยายความว่า "สิ่งนี้เป็นเรื่องยาก แต่มีความสำคัญ เพราะสงครามใดๆ ก็ต้องจบลงที่การทำข้อตกลง โดยการประชุมจะยังคงดำเนินไป และผมได้ยินมาว่าจุดยืนในการเจรจาเริ่มใกล้ความจริงมากขึ้น แต่เรายังต้องใช้เวลาในการตัดสินใจเพื่อผลประโยชน์ของยูเครน"

 

"เซเลนสกี" พูดชัด ยูเครนจะไม่เข้าร่วมนาโต

ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กล่าวอย่างชัดเจนวานนี้ (16 มี.ค.) ว่า ยูเครนจะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็อาจจะทำให้การเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย มีโอกาสเป็นไปได้มากขึ้น เนื่องจากรัสเซียย้ำมาตลอดว่า หนึ่งในข้อเรียกร้องของรัสเซียที่จะนำไปสู่การหยุดยิง คือ ยูเครนต้องไม่เข้าเป็นสมาชิกนาโต

"ยูเครนไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต เราเข้าใจในเรื่องนี้ดี เรา (ยูเครน)ได้ยินมานานหลายปีว่าประตูได้เปิดอยู่ แต่ก็ได้ยินมาว่า เราจะไม่สามารถเข้าร่วม มันเป็นความจริงที่เราต้องยอมรับ" ปธน.เซเลนสกีกล่าวผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ต่อเจ้าหน้าที่ทหารกลุ่มหนึ่งนำโดยอังกฤษ

ปธน.โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ประกาศว่ายูเครนจะไม่เข้าร่วมนาโต

การที่ยูเครนมีสถานะเป็นกลาง โดยไม่เข้าร่วมนาโต ถือเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญของรัสเซียในการทำข้อตกลงหยุดยิงกับยูเครน

 

ก่อนหน้านี้ นายดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน เคยประกาศไว้ชัดเจนว่า รัสเซียพร้อมยุติปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครน "โดยทันที" หากยูเครนปฏิบัติตามเงื่อนไขของรัสเซีย ดังนี้

 

  1. ยูเครนจะต้องยุติการดำเนินการทางทหาร
  2. ยูเครนจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การเป็นประเทศเป็นกลาง โดยยูเครนจะต้องปฏิเสธความตั้งใจที่จะเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรใดๆ
  3. ยูเครนจะต้องให้การรับรองว่าไครเมียเป็นดินแดนของรัสเซีย
  4. ยูเครนจะต้องให้การรับรองว่าสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์และลูฮันสก์ เป็นรัฐอิสระ

 

ศาลโลกตัดสินให้รัสเซียหยุดยิง

ในวันเดียวกัน (16 มี.ค.) อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวคือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ  (ICJ) หรือ ศาลโลก มีมติด้วยคะแนนเสียง 13-2 ให้รัสเซียยุติปฏิบัติการทางทหารในยูเครนโดยทันที โดยศาลระบุว่ารัสเซียจะต้องสั่งให้กองกำลังอื่นๆ ภายใต้การนำของรัสเซีย ยุติปฏิบัติการทางทหารเช่นกัน

 

ความเป็นมาก่อนหน้านี้ ยูเครนได้ร้องขอให้ศาลโลกตีความสนธิสัญญาปี 1948 ว่าด้วยการป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยคำฟ้องของยูเครนระบุว่ารัสเซียได้ตีความสนธิสัญญาดังกล่าวไม่ถูกต้อง แต่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย อ้างว่าการที่รัสเซียใช้ “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ต่อยูเครนเป็นไปด้วยความชอบธรรมเพื่อปกป้องประชาชนในยูเครนตะวันออกจากการถูกกองทัพยูเครนกดขี่ข่มเหงและถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยาวนานถึง 8 ปี

 

 ขณะที่ยูเครนปฏิเสธข้อกล่าวหาของรัสเซีย และระบุว่า ไม่มีหลักฐานที่แสดงว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นในยูเครนตะวันออก ดังนั้น ยูเครนร้องขอต่อศาลโลกเพื่อให้มีคำวินิจฉัยว่ารัสเซีย “ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย” ที่จะทำการโจมตียูเครนโดยอ้างเหตุผลเพื่อป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

 

แม้ว่าที่ผ่านมา ICJ มักใช้เวลาหลายปีก่อนที่จะมีการตัดสินคดีถึงที่สุดระหว่างรัฐที่เป็นคู่ขัดแย้ง แต่ ICJ ก็มีกระบวนการเร่งรัดพิจารณาคดี และมีอำนาจในการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อป้องกันมิให้สถานการณ์เลวร้ายลง ก่อนที่จะทำการวินิจฉัยในประเด็นพื้นฐานอื่นๆ

 

... แต่อำนาจของศาลโลกมีขอบเขตจำกัด

คำตัดสินของ ICJ มีผลผูกพันทางกฎหมายที่ประเทศต่างๆต้องปฏิบัติตาม แต่ส่วนที่เป็นปัญหาก็คือ ICJ ไม่มีอำนาจบังคับใช้โดยตรง และที่ผ่านมาก็มีบางประเทศไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินของ ICJ ซึ่งหากเกิดกรณีดังกล่าว ICJ ก็จะส่งเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) โดยในกรณีของยูเครน รัสเซียซึ่งเป็นคู่ขัดแย้ง สามารถใช้อำนาจในฐานะสมาชิกถาวรของ UNSCR ใช้สิทธิวีโตต่อมติของ UNSC ทำให้คำตัดสินของ ICJ ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อรัสเซีย หากรัสเซียเมินเฉยต่อคำสั่งดังกล่าว

 

เปิด "ออสเตรียโมเดล" ที่อาจเป็นทางออก ปิดฉากสงคราม

อีกทางออกที่น่าสนใจ เปิดเผยโดยนายวลาดิเมียร์ เมดินสกี หัวหน้าคณะเจรจาของรัสเซียเมื่อวานนี้ (16 มี.ค.) ว่า รัสเซียและยูเครนกำลังหารือกันเกี่ยวกับสถานะความเป็นกลางของยูเครน โดยอาจจะใช้รูปแบบของ “ออสเตรีย” พร้อมกับการมีกำลังทหารในจำนวนจำกัด เพื่อเป็นแนวทางประนีประนอมในการทำข้อตกลงสันติภาพ

 

รูปแบบของออสเตรียเป็นอย่างไร? รัฐธรรมนูญของออสเตรียได้ระบุให้ประเทศออสเตรียดำรงสถานะเป็นกลาง โดยห้ามการเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรด้านการทหารใดๆ และห้ามให้ต่างชาติเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศออสเตรีย

 

"ยูเครนได้เสนอรูปแบบของออสเตรียหรือสวีเดนของการเป็นประเทศเป็นกลาง แต่ยูเครนก็ขอมีกำลังทหารในกองทัพบกและกองทัพเรือของตนเอง" นายเมดินสกีกล่าว

 

นายดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ข้อเสนอดังกล่าว (ออสเตรียโมเดล) อาจถือเป็นแนวทางประนีประนอมของทั้งสองฝ่าย

         

นอกจากนี้ นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รมว.ต่างประเทศรัสเซีย ยังกล่าวด้วยว่า ทั้งสองฝ่ายยังหารือกันเกี่ยวกับสิทธิของชาวยูเครนที่พูดภาษารัสเซีย ซึ่งได้แสดงความไม่พอใจเนื่องจากถูกมองว่าเป็นพลเมืองชั้นสองในยูเครน เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข เนื่องจากเป็นข้ออ้างสำคัญที่รัสเซียใช้ในการเปิดฉากใช้ปฏิบัติการพิเศษทางการทหารกับยูเครน