ทำได้เหรอ “เมตา” ขู่ระงับบริการ “เฟซบุ๊ก-อินสตาแกรม” ในยุโรป

08 ก.พ. 2565 | 07:39 น.

“เมตา” ขู่จะถอนตัวออกจากอียู โดยจะยกเลิกการให้บริการโซเชียลมีเดียยอดนิยมทั้ง “เฟซบุ๊ก” และ “อินสตาแกรม” หากอียูไม่ยอมให้มีการโอนถ่ายข้อมูลผู้ใช้งานมายังสหรัฐอเมริกา แต่งานนี้ถูกอียูโต้กลับว่า ถ้าปิดบริการจริง ๆ  ผู้ที่จะเสียหายหนักคือเมตาเอง

เมตา  (Meta) ซึ่งเป็นชื่อใหม่ของบริษัทเจ้าของบริการ เฟซบุ๊ก (Facebook) และ อินสตาแกรม (Instagram) ขู่ว่าจะปิดการให้บริการทั้งเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมในยุโรป หากทาง สหภาพยุโรป (อียู) ไม่ยอมให้มีการโอนถ่ายข้อมูลผู้ใช้งานในยุโรปเข้ามายังเซิร์ฟเวอร์ในสหรัฐ  เนื่องจากยุโรปมีกฎหมายปกป้องข้อมูลความเป็นส่วนตัวของประชาชนที่เรียกว่า กฎหมาย GDPR ที่เข้มงวด

 

โดยทางเมตายืนยันว่า ไม่สามารถที่จะดำเนินธุรกิจหรือให้บริการได้ หากถูกจำกัดให้ไม่สามารถโอนถ่ายข้อมูลของผู้ใช้งาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการของเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมโดยตรง เนื่องจากบริษัทต้องใช้ข้อมูลดังกล่าวในการเจาะกลุ่มผู้ใช้งาน และในการยิงแอดโฆษณาให้ตรงกับกลุ่มลูกค้า

ทำได้เหรอ “เมตา” ขู่ระงับบริการ “เฟซบุ๊ก-อินสตาแกรม” ในยุโรป

เรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้กับสมาชิกของรัฐสภายุโรปหลายคน ที่มองว่าเมตาพยายามจะขู่พวกเขาให้พยายามยกเลิกการปกป้องข้อมูลส่วนตัวของประชาชน และท้าทายเมตากลับไปว่าให้คิดดีๆ หากจะถอดเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมออกจากยุโรป ว่าใครกันแน่ที่จะเป็นฝ่ายได้ไม่คุ้มเสีย

 

จากกรณีดังกล่าว ล่าสุดทางเมตาเริ่มมีท่าทีที่อ่อนลง โดยบริษัทได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า เมตาไม่มีแผนจะถอนตัวออกจากยุโรป แต่ยังยืนยันว่า บริษัท รวมทั้งองค์กรและบริษัทอื่นๆ จำเป็นต้องพึ่งพาการโอนถ่ายข้อมูลของผู้ใช้งานระหว่างอียูและสหรัฐอเมริกา เพื่อให้บริการทั่วโลก

ขณะนี้ เฟซบุ๊กเป็นสื่อโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานทั่วโลกประมาณ 2,900 ล้านคน ซึ่งผู้ใช้งานเฟซบุ๊กราว 15% อยู่ในยุโรป  เฟซบุ๊กจำเป็นต้องรักษาผู้ใช้งานทุกกลุ่มอย่างเหนียวแน่น เนื่องจากเฟซบุ๊กกำลังค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันไปใช้แพลตฟอร์มอื่น ๆแทน อาทิ ติ๊กต่อก (TikTok)

ทำได้เหรอ “เมตา” ขู่ระงับบริการ “เฟซบุ๊ก-อินสตาแกรม” ในยุโรป

แนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้ผลประกอบการของเฟซบุ๊กในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว (2564) ไม่เป็นไปตามเป้า จนมูลค่าการตลาดของเมตาลดลงถึง 200,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 6.6 ล้านล้านบาท ทำให้บริษัทจำเป็นต้องพยายามอย่างหนักที่จะหาทางเจรจากับอียูเพื่อบรรลุข้อตกลงที่จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย