ผลศึกษาชี้ "ซิโนฟาร์ม-J&J-สปุตนิก” อาจต้าน"โอมิครอน"ไม่อยู่

18 ธ.ค. 2564 | 00:27 น.

รายงานผลการศึกษาล่าสุดจากสหรัฐอเมริกา พบว่า วัคซีน 3 ชนิด ได้แก่ "ซิโนฟาร์ม-จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน-สปุตนิก” อาจป้องกันโควิดสายพันธุ์โอไมครอนแทบไม่ได้ ขณะที่วัคซีนไฟเซอร์-โมเดอร์นา-แอสตร้าเซนเนก้า” ก็สร้างแอนติบอดีต่อโอมิครอนต่ำเช่นกัน

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานวานนี้ (17 ธ.ค.) ว่า ผลการศึกษา ของ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน และ ฮิวแมบส์ ไบโอเมด เอสเอ (Humabs Biomed SA) ซึ่งเป็นบริษัทเวชภัณฑ์ของสวิตเซอร์แลนด์ พบว่า วัคซีนซิโนฟาร์มของจีน, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันของสหรัฐ และสปุตนิกของรัสเซีย มีประสิทธิภาพต่ำในการสร้างภูมิต้านทานต่อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

 

รายงานระบุว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนฟาร์มครบโดสจำนวน 3 จาก 13 รายเท่านั้นที่ร่างกายสามารถสร้างแอนติบอดีต้านทานโอมิครอน และผู้ที่ได้รับวัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน มีเพียง 1 จาก 12 รายเท่านั้นที่มีภูมิต้านทาน ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนสปุตนิกจำนวน 11 ราย ไม่มีแม้แต่รายเดียวที่มีภูมิต้านทานไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน

 

อย่างไรก็ตาม รายงานยังระบุว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสของไฟเซอร์-บิออนเทค, โมเดอร์นา รวมทั้งแอสตร้าเซนเนก้า ต่างก็มีแอนติบอดีต่ำเช่นกัน 

ผลศึกษาชี้ "ซิโนฟาร์ม-J&J-สปุตนิก” อาจต้าน"โอมิครอน"ไม่อยู่

ทั้งนี้ การศึกษาซึ่งเผยแพร่โดยยังไม่ได้รับการตรวจสอบจากสถาบันอื่น ๆ ยังค้นพบด้วยว่า ประสิทธิภาพในการป้องกันของแอนติบอดีจะลดลงน้อยที่สุด ด้วย 2 ปัจจัยประกอบกัน ได้แก่ การติดเชื้อโควิดก่อนหน้านี้ และการฉีดวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอของไฟเซอร์ครบ 2 โดส

 

โดยผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และได้รับวัคซีนครบโดสของไฟเซอร์-บิออนเทคจะมีการลดลงของแอนติบอดีน้อยที่สุด โดยลดลงเพียง 5 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสของไฟเซอร์-บิออนเทค แต่ไม่เคยติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งจะลดลงมากถึง 44 เท่า

 

การศึกษานี้ยังชี้ด้วยว่า วัคซีนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายบางชนิดมีเกราะป้องกันโอมิครอนได้เพียงบางส่วน ซึ่งทำให้หลายรัฐบาลมีความกังวลเรื่องการเดินทาง และเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อเลี่ยงการระบาดและการล็อกดาวน์ ซึ่งจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ

องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้มีการแพร่ระบาดใน 77 ประเทศทั่วโลกแล้ว หลังจากมีการตรวจพบไวรัสดังกล่าวครั้งแรกที่แอฟริกาใต้ไม่ถึง 1 เดือน โดยโอมิครอนสามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดลตาถึง 70 เท่า

 

ข้อมูลอ้างอิง