อัพเดทการติดเชื้อ “โอมิครอน” WHO ย้ำ ณ จุดนี้ "น่ากังวล" แต่อย่าตื่นตระหนก

07 ธ.ค. 2564 | 01:42 น.

6 ธ.ค. 2564 มีรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ “โอมิครอน” รายแรกในประเทศไทย การแพร่ระบาดใกล้ตัวเข้ามาทุกขณะ จนถึงขณะนี้ เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว “ฐานเศรษฐกิจ” รวบรวมไว้ให้แล้วที่นี่  

การแพร่ระบาดของ ไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ทำให้โลกต้องตระหนักว่า ถึงตอนนี้แม้จะมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างแพร่หลายมากขึ้น แต่ไวรัสกลายพันธุ์ก็ยังสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ขณะนี้มีรายงานยืนยันพบการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนในเกือบ 40 ประเทศทั่วโลก (ล่าสุดตัวเลขยืนยัน 7 ธ.ค. เพิ่มขึ้นเป็น 54 ประเทศทั่วโลก อ่านเพิ่มเติม: “โอมิครอน”ลามแล้ว 54 ประเทศทั่วโลก เช็คได้ที่นี่)

 

องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่า ในขั้นนี้ยังไม่ควรตื่นตระหนก เพราะข้อมูลเบื้องต้นชี้ว่าผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว มักมีอาการไม่รุนแรง บางรายคล้ายเป็นหวัด หลายรายก็ไม่มีอาการเจ็บป่วย และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน 

แพทย์หญิงมาร์กาเร็ต แฮร์ริส โฆษกองค์การอนามัยโลก (WHO)

แพทย์หญิงมาร์กาเร็ต แฮร์ริส โฆษกองค์การอนามัยโลก (WHO) ย้ำว่า ไวรัสโควิดโอมิครอน (Omicron) ถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล หรือ Variant of Concern ไม่ใช่ “น่าตื่นตระหนก” ประชาคมโลกควรตระหนักเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเพิ่มมาตรการระมัดระวัง แต่ไม่ควรแตกตื่นเกี่ยวกับโอมิครอนมากจนเกินไป WHO กำลังศึกษาเกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์นี้อย่างละเอียดและคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนมากขึ้นในเร็ว ๆนี้     

 

1) แพร่กระจายไว-ทำผู้ป่วยโควิดติดเชื้อซ้ำ มากกว่าเบต้า-เดลต้า 2.4 เท่า

ข้อมูลทางการของประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ชี้ว่า 74% ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 249 รายที่ตรวจพบในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา เป็นผู้ติดเชื้อโอไมครอน ซึ่งนั่นอาจหมายความว่า โอไมครอนได้กลายมาเป็นสายพันธุ์หลักของการแพร่ระบาดในแอฟริกาใต้แทนที่สายพันธุ์ “เดลต้า” แล้ว

ทีมนักวิจัยในอังกฤษนำโดยคาร์ล เพียร์สัน จาก London School of Hygiene and Tropical Medicine ได้เผยแพร่รายงานผลการศึกษาที่พบว่า โอมิครอน “อาจจะ” แพร่ระบาดได้ไวกว่าเดลต้าถึงสองเท่า แต่ก็ยังต้องศึกษาเพิ่มมากกว่านี้ นอกจากนี้ กรณีการพบผู้ติดเชื้อในฮ่องกงเมื่อเร็ว ๆ นี้ยังทำให้นักวิจัยสงสัยเกี่ยวกับความสามารถในการแพร่กระจายตัวของโอไมครอนว่าอาจอยู่ในระดับสูงมาก เนื่องจากสันนิษฐานว่าเชื้อดังกล่าวสามารถติดต่อระหว่างคนสองคนที่ต่างก็ฉีดวัคซีนป้องกันครบโดสแล้ว และกักตัวในห้องพักที่อยู่ตรงข้ามกันแม้ว่าทั้งคู่ไม่เคยออกมากจากห้องที่กักตัวเลย   

 

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ประเด็น ข้อมูลจากการติดตามสายพันธุ์โอไมครอนที่ระบาดในแอฟริกาใต้ของ GISAID (ซึ่งเป็นฐานข้อมูลกลางโควิดโลก www.gisaid.org ) สะท้อนภาพที่ชัดเจนว่า Omicron นั้นครองการระบาดแทนที่เดลต้าอย่างรวดเร็ว

 

การติดตามลักษณะการติดเชื้อนั้นชี้ให้เห็นสอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ว่า มีการติดเชื้อโอไมครอนในผู้ที่เคยมีประวัติติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อน หรือที่เรียกว่า การติดเชื้อซ้ำ (Reinfection) มากกว่าการระบาดของสายพันธุ์ก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นเบต้า หรือเดลต้าก็ตาม ถึงประมาณ 2.4 เท่า

อัพเดทการติดเชื้อ “โอมิครอน” WHO ย้ำ ณ จุดนี้ "น่ากังวล" แต่อย่าตื่นตระหนก

ข้อมูลจาก Trevor Bedford, FHCRC และทีมนักวิชาการอื่น ๆ ชี้ให้เห็นว่า การระบาดในแอฟริกาใต้ของโอไมครอนนั้น เดิมเดลต้าครองพื้นที่อยู่แต่อยู่ในช่วงขาลงก็จริง แต่การที่ Omicron ระบาดขยายวงอย่างรวดเร็วก็แสดงถึงศักยภาพการแพร่เชื้อของมันที่เหนือกว่าเดลต้า โดยจะเกิดจากคุณสมบัติในการแพร่ง่ายขึ้น (R0 มากขึ้น) หรือจะมาจากความสามารถในการดื้อต่อภูมิคุ้มกัน (ไม่ว่าจะจากวัคซีน และ/หรือจากที่เคยติดเชื้อมาก่อน) ก็ตาม ซึ่งคงต้องรอผลการวิจัยว่าจะมาจากเหตุใดกันแน่ และเหตุใดมากว่ากัน

 

2) ผู้ติดเชื้อโอไมครอนมีอายุเฉลี่ยน้อยกว่าเดิม

รายงานล่าสุดจาก Medical Research Council ของประเทศแอฟริกาใต้ พยายามสรุปลักษณะผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน ในช่วงสองสัปดาห์แรกของการระบาด (14-29 พ.ย. 2564) ในอำเภอ Tshwane ซึ่งอยู่ในจังหวัด Gauteng ที่มีการระบาดมาก ชี้ให้เห็นข้อมูลว่า คนติดเชื้อมีอายุเฉลี่ยน้อยกว่าเดิม โดยร้อยละ 80 อายุน้อยกว่า 50 ปี และมีถึง 19% (ราวหนึ่งในห้าของทั้งหมด) ที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี

 

3) อาการไม่หนัก นอนโรงพยาบาลน้อยลง

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโอไมครอนส่วนใหญ่มีระยะเวลาในการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลค่อนข้างสั้นคือเฉลี่ย 2.8 วัน ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 8.5 วันจากระลอกก่อนๆ ในรอบ 18 เดือนที่ผ่านมา และมีอัตราการป่วยโดยต้องการใช้ออกซิเจนราวร้อยละ 21 ซึ่งลดลงกว่าเดิม

 

 นอกจากนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่พบว่าโอไมครอนทำให้มีอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นจะต้องติดตามดูต่อไป เนื่องจากที่กล่าวมานี้เป็นเพียงภาพโดยคร่าวแค่สองสัปดาห์แรกของการระบาด และการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตนั้นอาจต้องใช้เวลาประเมินหลังจากนี้ไปอีกหลายสัปดาห์

 

4) อาการน้อย-ไม่แสดงอาการ ยิ่งต้องไม่ประมาท

ข้อมูลจาก Medical Research Council ของประเทศแอฟริกาใต้ซึ่งเก็บข้อมูลผู้ติดเชื้อโอไมครอนจากโรงพยาบาลในพื้นที่แพร่ระบาด (Steve Biko and Tshwane District Hospital complex) พบว่า ในระหว่างวันที่ 14-29 พ.ย.มีการรับผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 166 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับ 2 สัปดาห์ก่อนหน้า รายงานพบว่า ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาถูกตรวจพบ “โดยบังเอิญ” ว่าติดเชื้อ เนื่องจากพวกเขาไม่มีอาการพื้นฐานของผู้ป่วยโควิดแสดงออกมาแต่อย่างใด และที่ถูกตรวจพบก็เพราะว่าเป็นมาตรการพื้นฐานของโรงพยาบาลที่จะต้องตรวจหาเชื้อโควิดให้กับผู้ป่วยทุกคนที่มาเข้ารับการรักษา

 

ต่อมาวันที่ 2 ธ.ค. ทางโรงพยาบาลรับผู้ป่วยโควิดเข้ามาเพิ่มอีก 38 ราย ในจำนวนนี้ 6 รายฉีดวัคซีนแล้ว 24 รายยังไม่เคยฉีดวัคซีนโควิดมาก่อน และ 8 รายไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน ในจำนวนทั้งหมดนี้ มีเพียงรายเดียวที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจซึ่งแพทย์ระบุว่าไม่เกี่ยวกับอาการโควิด

อัพเดทการติดเชื้อ “โอมิครอน” WHO ย้ำ ณ จุดนี้ "น่ากังวล" แต่อย่าตื่นตระหนก

เรื่องดังกล่าวทำให้เห็นว่า แม้จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก แต่ผู้ป่วยก็ไม่ได้มีอาการหนัก และหากไม่มีการตรวจหาเชื้อโควิด พวกเขาส่วนใหญ่ก็ไม่ได้แสดงอาการเจ็บป่วยออกมา ซึ่งเรื่องนี้นายแพทย์ แอนโทนี เฟาชี แพทย์ใหญ่ที่ปรึกษาทำเนียบขาว ให้ความเห็นเตือนว่า แม้ข้อมูลที่ได้รับจะทำให้เบาใจว่าผู้ป่วยอาการไม่หนัก แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลให้ชะล่าใจ เพราะยังเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปจากข้อมูลในช่วงเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังการแพร่ระบาด

 

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในแอฟริกาใต้กล่าวว่าอาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนที่จะสรุปได้ชัดเจนมากขึ้นว่า โอไมครอนนั้นมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด

 

บทสรุปล่าสุดจาก ศบค.  

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. สรุปข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. พร้อมแนะนำวิธีการป้องกันตัวเองจากเชื้อไวรัสดังกล่าว ไว้ดังนี้

 

อัพเดท เชื้อโควิดกลายพันธุ์ (Omicron)

  • แพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์ที่ผ่านมา 2-5 เท่า
  • ผู้ติดเชื้อ Omicron ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อยคล้ายโรคไข้หวัด
  • (ผู้ติดเชื้อในต่างประเทศส่วนใหญ่ไม่ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล)
  • ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ Omicron เสียชีวิต

มาตรการป้องกัน

  • ฉีดวัคซีนโควิดให้ครอบคลุมมากที่สุด
  • ใช้มาตรการป้องกันส่วนบุคคลที่เข้มงวด เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง และ VUCA
  • ยกระดับการเฝ้าระวัง ณ ช่องทางเข้าออกประเทศ และสถานที่ท่องเที่ยว
  • ทำการสุ่มตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง และผู้ป่วยไข้หวัดที่เป็นกลุ่มก้อน (Cluster)
  • ส่งตัวอย่างเชื้อที่พบจากผู้เดินทางหรือรายที่น่าสงสัยไปตรวจหาสายพันธุ์ Omicron ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

 

ข้อมูลอ้างอิง