“เจ้าหญิงมาโกะ” กับตำนาน “เด็ดดอกฟ้า” ในราชวงศ์ญี่ปุ่น

27 ต.ค. 2564 | 07:08 น.

การเสกสมรสของเจ้าหญิงมาโกะ พระราชนัดดาองค์โตของสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ เมื่อวันอังคาร (26 ต.ค.) กับนายเคอิ โคมูโระ คู่หมั้นวัย 30 ปี ทำให้จำนวนสมาชิกราชวงศ์ของญี่ปุ่นลดลงไปอีก 1 พระองค์ เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประวัติศาสตร์ราชวงศ์แดนอาทิตย์อุทัย

ตาม กฎมณเฑียรบาลและธรรมเนียมโบราณราชประเพณีของญี่ปุ่น ซึ่งใช้มาตั้งแต่ค.ศ. 1947 (พ.ศ.2490) สมาชิกฝ่ายหญิงของราชวงศ์จะต้อง สละฐานันดรศักดิ์ หากเสกสมรสกับสามัญชน การเสกสมรสของ เจ้าหญิงมาโกะ พระราชนัดดา (หลานสาว) องค์โตของสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ เมื่อวันอังคาร (26 ต.ค.) กับ นายเคอิ โคมูโระ คู่หมั้นวัย 30 ปี จึงเป็นเหตุให้พระองค์ต้องสละความเป็น “เจ้าหญิง” และกลายเป็นเพียง “นางมาโกะ โคมูโระ” ที่กำลังจะย้ายตามสามีไปพำนักในสหรัฐอเมริกาหลังจากที่ทั้งคู่ได้จดทะเบียนสมรสเป็นสามี-ภรรยาตามกฎหมาย  

เจ้าหญิงมาโกะ และเคอิ โคมูโระ

เรื่องราวของเจ้าหญิงมาโกะที่ฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการเพื่อให้ได้แต่งงานกับคนรักที่เป็นสามัญชน หลังจากที่ทั้งคู่ประกาศหมั้นกันเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2560 ตอกย้ำถึงความยากลำบากของสมาชิกราชวงศ์ฝ่ายหญิงกรณีที่พบรักกับชายสามัญชน แต่พระองค์ก็ไม่ใช่เจ้าหญิงพระองค์แรกของราชวงศ์ญี่ปุ่นที่กล้าหาญเด็ดเดี่ยวพอที่จะแหวกม่านประเพณีออกมาเพื่อแต่งงานกับชายคนรัก

 

ในอดีตที่ผ่านมานั้น มีเจ้าหญิงญี่ปุ่นที่ยอมทิ้งฐานันดรศักดิ์และอภิสิทธิ์ ตลอดจนความสะดวกสบายของชีวิตในวัง มาใช้ชีวิตเยี่ยงสามัญชน 9 พระองค์ด้วยกัน โดยย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ไล่เรียงมายังปัจจุบัน ได้ดังนี้     

 

1.เจ้าหญิงคะซุโกะ เจ้าทะกะ

เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่สามในสมเด็จพระจักรพรรดิโชวะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีโคจุง และทรงเป็นพระเชษฐภคินี (พี่สาว) ในสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ พระประมุของค์ก่อนของญี่ปุ่น(พระบิดาของสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน)  ทรงเสกสมรสกับนายโทะชิมิชิ ทะกะสึกะซะ  เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เจ้าหญิงแห่งราชวงศ์ทรงอภิเษกสมรสกับสามัญชน ทำให้ต้องลาออกจากฐานันดรศักดิ์ตามกฎมณเฑียรบาลญี่ปุ่น ที่ถูกประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. 2490

เจ้าหญิงญี่ปุ่นพระองค์แรกที่สละฐานันดรศักดิ์

2.เจ้าหญิงอะยะโกะ แห่งทะเกะดะ

พระธิดาในเจ้าชายสึเนะฮิซะ กับเจ้าหญิงมะซะโกะ ทะเกะดะ และเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อสยุมพรกับเคานต์สึเนะมิสึ ซะโนะ มีบุตรด้วยกันสี่คน และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2546 สิริพระชันษาได้ 92 ปี

 

3.เจ้าหญิงอะสึโกะ เจ้าโยะริ

พระราชธิดาองค์ที่ 4 ในสมเด็จพระจักรพรรดิโชวะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีโคจุง หนึ่งในพระภคินี(น้องต่างมารดา)ในสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ พระจักรพรรดิพระองค์ก่อน โดยพระองค์ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อเสกสมรสกับนายทะกะมะซะ อิเกะดะ บุตรคนโตของเจ้าผู้ครองแคว้นโนะบุมะซะ อิเกะดะ ไดเมียวคนสุดท้ายแห่งโอะคะยะมะ แต่มิได้มีบุตร-ธิดาด้วยกัน กระทั่งปี พ.ศ. 2531 ทรงตัดสินพระทัยเข้าเป็นนักบวชหญิง (Saishu) ของศาลเจ้าอิเซะในจังหวัดมิเอะ และใช้ชีวิตอยู่ที่ศาลเจ้าแห่งนั้นมาจนถึงปัจจุบัน

 

4.เจ้าหญิงทะกะโกะ เจ้าซุงะ

พระราชธิดาพระองค์เล็กในสมเด็จพระจักรพรรดิโชวะ กับสมเด็จพระจักรพรรดินีโคจุง และเป็นพระขนิษฐา(น้องสาว)ในสมเด็จพระจักรพรรดิหลวงอะกิฮิโตะ ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อเสกสมรสกับนายฮิซะนะงะ ชิมะซุ บุตรชายของเคานต์ฮิซะโนะริ ชิมะซุ และมีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือ โยะชิฮิซะ ชิมะซุ

 

5.เจ้าหญิงยะซุโกะ แห่งมิกะซะ

พระธิดาพระองค์ใหญ่ในเจ้าชายทะกะฮิโตะ เจ้ามิกะซะ กับเจ้าหญิงยุริโกะ พระชายา ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์เพื่อสยุมพรกับนายทะดะเตะรุ โคะโนะเอะ น้องชายของโมะริฮิโระ โฮะโซะกะวะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2509 และมีบุตรชายด้วยกันเพียงคนเดียวคือ ทะดะฮิโระ โคะโนะเอะ

 6.เจ้าหญิงมะซะโกะ แห่งมิกะซะ

พระธิดาในเจ้าชายทะกะฮิโตะ เจ้ามิกะซะ กับเจ้าหญิงยุริโกะ พระชายา โดยพระองค์ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อสยุมพรกับนายทะซะยุกิ เซน ในปีพ.ศ. 2526 มีบุตรชาย 2 คน และธิดา 1 คนคือ อะกิฟุมิ เซน ทะกะฟุมิ เซน และมะกิโกะ เซน

 

7.เจ้าหญิงซะยะโกะ เจ้าหญิงโนะริ

พระราชธิดาองค์เล็กในสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะกับสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ และเป็นพระขนิษฐา (น้องสาว) ของสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน ทรงเสกสมรสกับนายโยะชิกิ คุโระดะ นักวางผังเมืองโตเกียว พระสหายคนสนิทของเจ้าชายอะกิชิโนะ พระเชษฐาของเจ้าหญิง โดยทั้งคู่เจอกันตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ผ่านไปหลายปี เมื่อเจ้าชายอะกิชิโนะทรงจัดงานเลี้ยงพระกระยาหารในพระราชวัง เจ้าหญิงซะยะโกะก็ได้พบกับนายโยชิกิอีกครั้ง ทำให้ได้สานความสัมพันธ์จนก่อเกิดเป็นความรัก และนำไปสู่การเสกสมรสและการสละฐานันดรศักดิ์

 

ทรงได้รับบำเหน็จจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเงิน 150 ล้านเยนสำหรับดำรงชีพ ซึ่งพระองค์ก็ได้ลาออกจากการเป็นนักวิจัยประจำสถาบันปักษีวิทยาเพื่อใช้ชีวิตเป็นแม่บ้าน ข่าวระบุว่าเมื่อเป็นสามัญชน ซะยะโกะขับรถและออกไปจับจ่ายซื้อของด้วยตัวเอง และหากราชวงศ์ญี่ปุ่นมีงานพระราชพิธีสำคัญๆ เธอก็ยังปรากฏกายร่วมด้วยอยู่เสมอ

 

8.เจ้าหญิงโนริโกะ แห่งทะกะมะโดะ

พระธิดาองค์กลางในเจ้าชายโนะริฮิโตะ เจ้าทะกะมะโดะ และเจ้าหญิงฮิซะโกะ พระชายา  ทรงพบรักขณะมีพระชันษาเพียง 19 ปีเท่านั้น คือในปีพ.ศ. 2550 เมื่อตามเสด็จพระมารดาไปสักการะศาลเจ้าอิซุโมะในจังหวัดชิมะเนะ ทำให้ได้พบกับนายคุนิมะโระ เซ็งเงะ วัย 41 ปี บุตรชายของทะกะมะซะ เซ็งเงะ เจ้าอาวาสของศาลเจ้าแห่งนั้น ทั้งคู่ติดต่อกันเรื่อยมา จนนำไปสู่การหมั้น เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 และการแต่งงานในวันที่ 5 ตุลาคมปีเดียวกัน

 

9.เจ้าหญิงอายาโกะ แห่งทะกะมะโดะ

พระธิดาในเจ้าชายโนริฮิโตะ เจ้าทะกะมะโดะ กับเจ้าหญิงฮิซาโกะ พระชายา ทรงเป็นเจ้าหญิงองค์ล่าสุด (ก่อนกรณีเจ้าหญิงมาโกะ) ที่เสกสมรสกับสามัญชนในปี 2561  โดยเจ้าหญิงอายาโกะในตอนนั้นพบรักกับนักธุรกิจหนุ่มซึ่งทำงานอยู่ในบริษัทชิปปิ้งรายใหญ่ของญี่ปุ่น ทั้งคู่ได้เข้าพิธีสยุมพรตามประเพณีของญี่ปุ่น ณ ศาลเจ้าเมจิ กรุงโตเกียว และหลังจากจบพิธีเสกสมรส เจ้าหญิงอายาโกะก็สละฐานันดรศักดิ์โดยทันที

 

เจ้าชายอะกิชิโนะ กับเจ้าหญิงคิโกะ พระบิดาและพระมารดาของเจ้าหญิงมาโกะ

ล่าสุด การเสกสมรสของ เจ้าหญิงมาโกะ แห่งอะกิชิโนะ พระธิดาพระองค์โตในเจ้าชายอะกิชิโนะ กับเจ้าหญิงคิโกะ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564 จึงทำให้พระองค์เป็นเจ้าหญิงพระองค์ที่ 10 แห่งราชวงศ์ญี่ปุ่นที่สละฐานันดรศักดิ์เพื่อความรัก

 

สมาชิกราชวงศ์ที่ลดลงและการสืบราชบัลลังก์

เดอะ ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮอรัลด์ สื่อใหญ่ของออสเตรเลียรายงานเมื่อวานนี้ (26 ต.ค.)ว่า การสมรสของเจ้าหญิงมาโกะ จะทำให้สถาบันกษัตริย์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอย่างราชวงศ์ญี่ปุ่นมีความเสี่ยง ด้วยจำนวนสมาชิกราชวงศ์ที่ลดลง รวมถึงการผลักดันให้สตรีสืบราชบัลลังก์ที่ไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

 

ทั้งนี้ เพื่อเริ่มชีวิตคู่กับสามัญชน เจ้าหญิงมาโกะทรงสละฐานันดรศักดิ์ตามกฎมณเฑียรบาล ทำให้ราชวงศ์ญี่ปุ่นในปัจจุบันเหลือสมาชิกราชวงศ์เพียง 17 พระองค์เท่านั้น โดยเป็นฝ่ายหญิงเพียง 12 พระองค์ และสมาชิกราชวงศ์ฝ่ายชาย 5 พระองค์ นับว่าลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งราชวงศ์ญี่ปุ่นมีสมาชิกมากถึง 67 พระองค์

 

ในจำนวนสมาชิกราชวงศ์ 17 พระองค์เท่านั้น มีเพียง 3 พระองค์ ที่มีสิทธิสืบทอดราชบัลลังก์ดอกเบญจมาศ ซึ่งได้แก่

  • เจ้าชายมาซาฮิโตะ ฮิตาจิโนะมิยะ พระชนมายุ 85 พรรษา พระปิตุลาในสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ
  • เจ้าชายอากิชิโนะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น พระชนมายุ 55 พรรษา พระอนุชาในสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ
  • เจ้าชายฮิซะฮิโตะแห่งอากิชิโนะ พระชนมายุ 15 พรรษา พระราชนัดดาชายเพียงพระองค์เดียวในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ นอกจากนี้ พระองค์ทรงเป็นพระอนุชาของเจ้าหญิงมาโกะด้วย

 

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ใช้การปกครองระบอบราชาธิปไตยสมัยใหม่ ซึ่งให้สิทธิการสืบทอดราชบัลลังก์แก่สมาชิกราชวงศ์ “ชายเท่านั้น” เช่นเดียวกับซาอุดีอาระเบีย โอมาน และโมร็อกโก โดยญี่ปุ่นมีประวัติการสืบทอดราชบัลลังก์ติดต่อกันมายาวนานที่สุดในโลก ตั้งแต่การก่อตั้งประเทศในช่วง 660 ปีก่อนคริสตกาล

 

แม้แต่สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะเอง ขณะนี้ทรงมีเพียงเจ้าหญิงไอโกะ โทชิโนะมิยะ เป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวเท่านั้น ทรงไร้รัชทายาทฝ่ายชายสืบราชบัลลังก์ดอกเบญจมาศ ส่งผลให้เจ้าชายฟุมิฮิโตะ อากิชิโนะโนะมิยะ พระอนุชา (น้องชาย ซึ่งเป็นพระบิดาของเจ้าหญิงมาโกะ หรือนางมาโกะ โคมูโระ ในปัจจุบัน) ทรงดำรงตำแหน่งรัชทายาทลำดับที่ 1 แห่งราชวงศ์แดนอาทิตย์อุทัย

 

ในสังคมญี่ปุ่นปัจจุบันนั้น แนวคิดการให้ผู้หญิงสามารถสืบราชบัลลังก์ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จากการสำรวจของเกียวโด นิวส์ เมื่อเดือนมีนาคมและเมษายนที่ผ่านมา ผู้ตอบแบบสอบถาม 85% ระบุว่า พวกเขาชื่นชอบจักรพรรดินี (การมีผู้หญิงครองบัลลังก์) ขณะที่ 79% ระบุว่า พวกเขาสนับสนุนให้จักรพรรดิส่งมอบราชบัลลังก์ให้กับพระโอรสหรือพระธิดาของพระองค์

 

ถึงแม้ในปี 2549 เคยมีการเสนอกฎหมายที่ให้ผู้หญิงสามารถเป็นรัชทายาทได้ แต่กฎหมายดังกล่าวก็ถูกเลื่อนการพิจารณาออกไปไม่มีกำหนด หลังการประสูติของเจ้าชายฮิซะฮิโตะ ซึ่งเป็นพระโอรสองค์แรกของราชวงศ์ญี่ปุ่นในรอบเกือบ 4 ทศวรรษ

 

ข้อมูลอ้างอิง