เหตุผลที่แอฟริกาใต้แบนวัคซีนต้านโควิด “สปุตนิก วี” ของรัสเซีย

19 ต.ค. 2564 | 05:00 น.

“สปุตนิก วี” (Sputnik V) วัคซีนป้องกันโควิด-19 จากรัสเซีย มีการอนุมัติใช้แล้วใน 45 ประเทศทั่วโลก แต่กลับถูกแบน ห้ามใช้ในประเทศแอฟริกาใต้ เรื่องนี้มีที่มาเกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัส HIV

สำนักงานควบคุมกฎระเบียบผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพของแอฟริกาใต้ (SAHPRA) แถลงในวันนี้ (19 ต.ค.) ว่า ทางสำนักงานจะไม่อนุมัติการใช้ วัคซีนสปุตนิก วี (Sputnik V) ซึ่งเป็น วัคซีนต้านโควิด-19 ของรัสเซีย เนื่องจากกังวลว่า วัคซีนดังกล่าวจะเพิ่มความเสี่ยงใน การติดเชื้อไวรัส HIV ได้มากขึ้นในผู้ชาย

 

SAHPRA ระบุว่า บริษัทที่สนับสนุนการใช้วัคซีนสปุตนิก วี ในแอฟริกาใต้ไม่สามารถแสดงหลักฐานว่า สูตรในการผลิตวัคซีนดังกล่าวจะมีความปลอดภัยในแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส HIV (ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคเอดส์) สูงที่สุดในโลก

 

ทั้งนี้ วัคซีนสปุตนิก วี มีส่วนประกอบของ adenovirus (อะดีโนไวรัส) ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เป็นที่รู้จักกันในชื่อไวรัส Ad5

 

มีผลการศึกษาก่อนหน้านี้ว่า วัคซีนประเภทไวรัลเวคเตอร์ชนิดที่ใช้อะดีโนไวรัส Ad5 (Adenovirus Type 5 (Ad5) vector vaccine) ซึ่งเป็นการนำไวรัสที่ทำให้อ่อนแอลงแล้วและไม่ก่อให้เกิดโรค มาตัดต่อใส่สารพันธุกรรมของโคโรนาไวรัสลงไป เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันนั้น สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส HIV ได้มากขึ้นในผู้ชาย

เหตุผลที่แอฟริกาใต้แบนวัคซีนต้านโควิด “สปุตนิก วี” ของรัสเซีย

ปัจจุบัน ประเทศแอฟริกาใต้ให้การอนุมัติการใช้วัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์/บิออนเทค และซิโนแวค รวมทั้งวัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันแล้ว ซึ่งแม้มีส่วนประกอบของ adenovirus แต่ก็เป็นคนละสายพันธุ์กับที่พบในวัคซีนสปุตนิก วี

 

 

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ได้ให้การอนุมัติการใช้วัคซีนสปุตนิก วี เช่นกัน แม้ว่า วัคซีนดังกล่าวมีการอนุมัติใช้แล้วใน 45 ประเทศทั่วโลก

 

อย่างไรก็ตาม สถาบันกามาลายาแห่งรัสเซีย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่วิจัยและพัฒนาวัคซีนสปุตนิก วี ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า ทางสถาบันยินดีให้ข้อมูลที่จะคลี่คลายข้อสงสัย และแสดงให้เห็นว่า ความวิตกกังวลของ SAHPRA นั้นไม่มีหลักฐานใด ๆมายืนยันได้เลย

 

แถลงการณ์ของสถาบันกามาลายาระบุในตอนหนึ่งว่า การคาดเดาเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนชนิดที่ใช้อะดีโนไวรัสประเภทที่ 5 เป็นส่วนประกอบ (อย่างเช่นวัคซีนสปุตนิก วี) กับการติดเชื้อไวรัส HIV ในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูงนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการทดลองที่มีขนาดกลุ่มตัวอย่างเล็ก

เหตุผลที่แอฟริกาใต้แบนวัคซีนต้านโควิด “สปุตนิก วี” ของรัสเซีย

แอฟริกาใต้เป็นทั้งประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุดในทวีปแอฟริกา อีกทั้งยังเป็นประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อไวรัส HIV มากที่สุดในโลกอีกด้วย ประชาชนยังให้ความร่วมมือในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดน้อยมาก โดยรัฐบาลตั้งเป้าฉีดวัคซีนโควิดครบโดสเอาไว้ที่ 40 ล้านคนภายในช่วงต้นปีหน้า (2565) แต่ตอนนี้ยังเพิ่งฉีดไปได้เพียง 1 ใน 4 ของจำนวนดังกล่าว

 

ข่าวระบุว่า ในช่วงสัปดาห์นี้ แอฟริกาใต้เพิ่งจะเริ่มฉีดวัคซีนโควิดให้เด็กนักเรียนวัย 12 ปีขึ้นไป และเริ่มฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่ประชากรกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องบางประเภท โดยวัคซีนที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และไฟเซอร์-บิออนเทค นอกจากนี้ ยังใช้วัคซีนของซิโนแวค ที่เพิ่งได้รับการอนุมัติใช้เมื่อเร็ว ๆนี้   

 

ข้อมูลอ้างอิง