จีนหวั่นผู้เสียหายปลุกม็อบ หลังเอเวอร์แกรนด์เบี้ยวหนี้ตามคาด

29 ก.ย. 2564 | 18:28 น.

ปฏิกิริยาหลังเอเวอร์แกรนด์เบี้ยวหนี้รอบสอง แบงก์ชาติสิงคโปร์เรียกธนาคารพาณิชย์สำรวจความเสี่ยง ขณะที่ WeChat ปิดชั่วคราวบัญชีผู้ใช้ที่เป็นกลุ่มผู้เสียหาย หวั่นชักชวนกันปลุกม็อบสร้างความวุ่นวาย

ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป หรือ "เอเวอร์แกรนด์" บริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่อันดับ 2 ของจีน ผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 สัปดาห์ตามคาด โดยล่าสุด บริษัทได้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้วงเงิน 47.5 ล้านดอลลาร์ซึ่งเป็นดอกเบี้ยของหุ้นกู้สกุลดอลลาร์ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนมี.ค.2567 และมีกำหนดชำระดอกเบี้ยเมื่อวันพุธ (29 ก.ย.) ที่ผ่านมา

 

ผู้ถือหุ้นกู้ดังกล่าวยืนยันว่ายังไม่ได้รับการชำระหนี้จากบริษัทจนถึงขณะนี้ หลังจากที่ผ่านพ้นช่วงเวลาทำการในวันพุธ  แม้มีข่าวว่าเอเวอร์แกรนด์สามารถขายหุ้นมูลค่า 9.99 พันล้านหยวน (1.5 พันล้านดอลลาร์) ที่ทางบริษัทถือครองอยู่ในธนาคารเสิ้งจิงให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐบาลจีน

 

อย่างไรก็ตาม เอเวอร์แกรนด์ยังคงมีระยะเวลาผ่อนผันอีก 30 วันเพื่อหาทางระดมทุน ก่อนที่จะถูกประกาศอย่างเป็นทางการว่าบริษัทผิดนัดชำระหนี้

จีนหวั่นผู้เสียหายปลุกม็อบ หลังเอเวอร์แกรนด์เบี้ยวหนี้ตามคาด

และเช่นเดียวกับการผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ครั้งที่ผ่านมา ผู้บริหารของเอเวอร์แกรนด์ยังคงเก็บตัวเงียบ ไม่มีการออกแถลงการณ์ใดๆต่อผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัท รวมทั้งไม่ได้ยื่นหนังสือชี้แจงต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของฮ่องกงด้วย

ทางด้านธนาคารเสิ้งจิง ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าหนี้รายใหญ่ของเอเวอร์แกรนด์ ได้ทำข้อตกลงกับบริษัท โดยระบุเงื่อนไขว่า เอเวอร์แกรนด์จะต้องนำเงินได้สุทธิทั้งหมดที่ได้รับจากการขายหุ้นมูลค่า 9.99 พันล้านหยวน ใช้ในการชำระหนี้ที่เอเวอร์แกรนด์ค้างจ่ายต่อทางธนาคารเท่านั้น ทำให้เอเวอร์แกรนด์ไม่สามารถนำเงินดังกล่าวไปชำระหนี้หุ้นกู้ของเจ้าหนี้รายอื่น

 

รายงานระบุว่า หากพิจารณาข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย.2563 ธนาคารเสิ้งจิงได้ปล่อยเงินกู้ให้แก่เอเวอร์แกรนด์มากถึง 7 พันล้านหยวน

 

ก่อนหน้านี้ เอเวอร์แกรนด์ผิดนัดชำระดอกเบี้ยเงินกู้ต่อธนาคารเจ้าหนี้อย่างน้อย 2 แห่งเมื่อวันที่ 20 ก.ย. และต่อมาในวันที่ 23 ก.ย. ก็ผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้วงเงิน 83.5 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นหุ้นกู้สกุลดอลลาร์ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนมี.ค.2565

 

หลังจากนี้ไปทุก ๆเดือนจนถึงสิ้นปี 2564 เอเวอร์แกรนด์ยังมีกำหนดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ ซึ่งได้แก่เดือนต.ค.,พ.ย. และธ.ค.

 

แนวโน้มการไร้ความสามารถในการชำระหนี้ตามกำหนดของเอเวอร์แกรนด์ ทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศเป็นห่วงเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเป็นลูกโซ่จากการปล่อยกู้ให้กับเอเวอร์แกรนด์ โดยล่าสุดเมื่อวานนี้ (29 ก.ย.) แบงก์ชาติสิงคโปร์ ได้แจ้งธนาคารพาณิชย์ยักษ์ใหญ่เข้าชี้แจงการลงทุนในเอเวอร์แกรนด์ โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้แจ้งให้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 3 แห่ง ซึ่งได้แก่ DBS Group Holdings, Oversea-Chinese Banking Corp และ United Overseas Bank ที่ต่างก็มีการดำเนินงานในจีนและฮ่องกง เข้าชี้แจงเกี่ยวกับการลงทุนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป

จีนหวั่นผู้เสียหายปลุกม็อบ หลังเอเวอร์แกรนด์เบี้ยวหนี้ตามคาด

นอกจากธนาคารกลางสิงคโปร์แล้ว ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางฮ่องกง และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็ได้แจ้งให้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เข้าชี้แจงเกี่ยวกับการลงทุนรวมทั้งการปล่อยกู้ให้แก่เอเวอร์แกรนด์เช่นกัน

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากบริษัทวิจัยมอร์นิงสตาร์ ไดเร็คท์ (Morningstar Direct) ระบุว่า กองทุนขนาดใหญ่นานาชาติที่ได้เข้าซื้อหุ้นกู้จำนวนมากของเอเวอร์แกรนด์ ได้แก่

  • Fidelity Asian High-Yield Fund
  • UBS (Lux) BS Asian High Yield (USD)
  • HSBC Global Investment Funds - Asia High Yield Bond X
  • Pimco GIS Asia High Yield Bond Fund
  • Blackrock BGF Asian High Yield Bond Fund
  • Allianz Dynamic Asian High Yield Bond

 

นอกจากนี้ Ashmore Group และ BlueBay Asset จากประเทศอังกฤษ ก็ได้ถือครองหุ้นกู้ของเอเวอร์แกรนด์เช่นกัน

 

ปฏิกิริยาของผู้เสียหายรายย่อย  

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า WeChat ซึ่งเป็นบริการส่งข้อความที่ได้รับความนิยมในจีน ได้บล็อกบัญชีผู้ใช้ของกลุ่มผู้เสียหาย หรือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการลงทุนในบริษัทไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป เพราะหวั่นเกรงว่าจะมีการปลุกม็อบสร้างความวุ่นวายขึ้นได้

 

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการลงทุนในบริษัทเอเวอร์แกรนด์ เปิดเผยว่า WeChat ได้บล็อกกลุ่มสนทนาของพวกเขาอย่างน้อย 8 กลุ่ม โดยอ้างว่าทางกลุ่มได้ละเมิดข้อตกลงในการใช้บริการ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ใช้บริการ WeChat ที่ถูกบล็อกการใช้งาน ต่างก็เป็นผู้ซื้อบ้านในโครงการของเอเวอร์แกรนด์ที่ยังสร้างไม่เสร็จ หรือเป็นนักลงทุนรายย่อยที่สูญเงินไปกับการลงทุนในบริษัท

 

ที่ผ่านมา ผู้เสียหายเหล่านี้ใช้กลุ่มสนทนาใน WeChat เป็นช่องทางในการระบายความไม่พอใจที่มีต่อเอเวอร์แกรนด์ ทั้งยังได้นัดกันทำการประท้วงบริษัท รวมทั้งแชร์ข้อความและภาพเหตุการณ์เกี่ยวกับการจัดการชุมนุมหน้าอาคารบริษัทสาขาของเอเวอร์แกรนด์ในมณฑลต่าง ๆ ด้วย

  กลุ่มผู้เสียหายเคยรวมตัวประท้วงที่สำนักงานใหญ่เอเวอร์แกรนด์เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา

ท่ามกลางการอารักขาของเจ้าหน้าที่กว่า 60 นาย

ข่าวระบุว่า WeChat ได้ระงับการให้บริการต่อกลุ่มดังกล่าวตั้งแต่เมื่อวันอังคาร (28 ก.ย.) ทำให้ไม่สามารถส่งข้อความใดๆ โดย WeChat แจ้งแต่เพียงว่า "กลุ่มสนทนานี้ได้ถูกจำกัดการให้บริการ เนื่องจากได้ละเมิดกฎระเบียบของบริษัท"

 

แต่ฝ่ายผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการลงทุนในเอเวอร์แกรนด์ต่างก็มีเหตุผลว่า พวกเขาพากันใช้บริการของ WeChat เป็นช่องทางการสื่อสารในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากข่าวการผิดนัดชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์แทบไม่ได้รับการเผยแพร่ในสื่อกระแสหลักของจีนเลย ขณะที่รัฐบาลจีนเองก็ไม่ได้ออกมากล่าวถึงเรื่องดังกล่าว

 

ทั้งนี้ สื่อต่างประเทศระบุว่า บริษัทผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียของจีน ต่างก็ถูกทางการจีนควบคุมอย่างเข้มงวด โดยถูกกำหนดให้ทำการเซ็นเซอร์เนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล รวมทั้งเนื้อหาที่เข้าข่ายว่า"บ่อนทำลายเสถียรภาพทางสังคม"