การเมืองเรื่องแพนด้า จีนว่าไง? ลุ้นสวนสัตว์เบอร์ลินตั้งชื่อแพนด้าแฝด ‘ฮ่อง’- ‘กง’

12 ก.ย. 2562 | 23:58 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

แพนด้าสาว “เมิ่ง เมิ่ง” และแพนด้าหนุ่ม “เจียวชิ่ง” เดินทางจากประเทศจีนถึงสวนสัตว์เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในฐานะ "ทูตแพนด้าสันถวไมตรี" เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2560 ในตอนนั้นเมิ่ง เมิ่ง ที่แปลว่า “ฝันหวาน” เพิ่งอายุ 4 ปี ส่วนเจียวชิ่ง ที่แปลว่า “ที่รัก”อายุ 7 ปี ทั้งคู่เดินทางด้วยเที่ยวบินคาร์โก้ของสายการบินลุฟต์ฮันซาจากเมืองเฉิงตู ในมณฑลเสฉวน ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มาถึงท่าอากาศยานนานาชาติเบอร์ลิน เชินเนอเฟลด์พร้อมกับผู้ดูแลที่เป็นชาวจีน 2 คน ท่ามกลางการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากนายมิชาเอล มุลเลอร์ นายกเทศมนตรีกรุงเบอร์ลิน นายฉี หมิงเต๋อ เอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงเบอร์ลิน และประชาชนจำนวนมาก

เมิ่ง เมิ่ง

นายฉี หมิงเต๋อ เอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงเบอร์ลิน กล่าวว่าแพนด้าถือเป็น “สมบัติแห่งชาติ” ของชาวจีน เมื่อได้รับการแต่งตั้งให้รับหน้าที่ทูตสันถวไมตรีเช่นนี้ จึงต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ทั้งเมิ่งเมิ่งและเจียวชิ่งจะอาศัยอยู่ที่สวนสัตว์เบอร์ลินเป็นเวลา 15 ปีตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศ ซึ่งเยอรมนีจะชำระค่าธรรมเนียมให้แก่รัฐบาลปักกิ่งปีละ 1 ล้านยูโร (ราว 38.5 ล้านบาท) เพื่อที่ทางฝ่ายจีนจะนำไปใช้เป็นทุนวิจัยเพื่อการอนุรักษ์แพนด้าในประเทศจีนต่อไป


 

ในช่วงแรกๆที่มาถึง แพนด้าทั้งสองตัวดำรงชีวิตด้วยการกินต้นไผ่ที่ทางการจีนมอบให้นำติดมาด้วยจำนวน 1 เมตริกตัน และเมื่อต้นไผ่ส่วนนี้หมดลง ก็มีการนำเข้าต้นไผ่พันธุ์ดีจากเนเธอร์แลนด์มาเลี้ยงแพนด้าแทน  เมิ่งเมิ่งและเจียวชิ่งได้ต้อนรับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ที่เดินทางมาเยือนเยอรมนีอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 เพื่อเฉลิมฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศที่ครบ 45 ปีในปีนั้น โดยมีนางอันเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีให้การต้อนรับและรับมอบแพนด้าทั้งสองอย่างเป็นทางการด้วย

ภาพเมิ่ง เมิ่ง ให้กำเนิดลูกน้อยฝาแฝดที่เผยแพร่โดยสวนสัตว์เบอร์ลิน

ปีนี้ 2562 ช่างประจวบเหมาะเมื่อนางอันเกลา แมร์เคิล มีกำหนดการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน (6-7 ก.ย.) อย่างเป็นทางการเพื่อกำชับสัมพันธไมตรีอันดีกับจีน สวนสัตว์เบอร์ลินก็เพิ่งได้ต้อนรับสมาชิกใหม่เป็นแพนด้าฝาแฝด! ลูกของแม่เมิ่งเมิ่งกับพ่อเจียวชิ่ง ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่สัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างแพนด้าจะให้ลูกแฝด นอกจากนี้ แพนด้าน้อยยังเป็นแพนด้าคู่แรกที่ถือกำเนิดในประเทศเยอรมนี ทางสวนสัตว์จึงเปิดให้ประชาชนทั่วไปมีโอกาสร่วมแสดงความยินดีกับครอบครัวแพนด้าด้วยการประกวดตั้งชื่อแพนด้าน้อย

การเมืองเรื่องแพนด้า จีนว่าไง? ลุ้นสวนสัตว์เบอร์ลินตั้งชื่อแพนด้าแฝด ‘ฮ่อง’- ‘กง’
 

ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติทั่วไปก็คงมีการส่งชื่อน่ารักๆความหมายดีๆ ที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนและเยอรมนีเข้ามาให้เลือกมากมายอย่างเช่นที่เมืองไทยก็เคยประสบมาแล้วเมื่อครั้งตั้งชื่อแพนด้าน้อย ‘หลินปิง’ ขวัญใจชาวเชียงใหม่และคนไทยทั้งประเทศ แต่สำหรับสวนสัตว์เบอร์ลินในช่วงเวลานี้ ผู้คนไม่เพียงให้ความสนใจกับการเดินทางเยือนปักกิ่งอย่างเป็นทางการของนางแมร์เคิล ซึ่งเป็นการเยือนท่ามกลางบริบทที่เยอรมนีกำลังถูกกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลในฮ่องกงเรียกร้องให้ยื่นมือเข้ามาแสดงจุดยืนเคียงข้างผู้ชุมนุม แต่พวกเขายังสนใจด้วยว่ารัฐบาลเยอรมนีมีท่าทีอย่างไรต่อประเด็นฮ่องกง ดังนั้น ชื่อของแพนด้าน้อยฝาแฝดแห่งสวนสัตว์เบอร์ลินที่มีผู้ส่งเข้าประกวดในเวลานี้ จึงมีชื่อที่สะท้อนบรรยากาศการเมืองเข้าไปเต็มๆ

การเมืองเรื่องแพนด้า จีนว่าไง? ลุ้นสวนสัตว์เบอร์ลินตั้งชื่อแพนด้าแฝด ‘ฮ่อง’- ‘กง’

 และชื่อที่ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างล้นหลามเป็นอันดับต้นๆก็คือ “ฮ่อง” กับ “กง” ซึ่งเมื่อแพนด้าน้อยถูกเรียกพร้อมๆกันก็จะกลายเป็น “ฮ่องกง” แม้กระทั่งสื่อใหญ่ท้องถิ่นยังออกมาร่วมรณรงณ์ของให้ทางสวนสัตว์ตั้งชื่อหมีน้อยว่า “ฮ่อง-กง”

 

หนังสือพิมพ์แทบลอยด์ “บิลด์” สื่อยักษ์ใหญ่รายหนึ่งของเยอรมนี ออกมาร่วมเรียกร้องให้ชาวเบอร์ลินช่วยกันสนับสนุนชื่อนี้เพื่อแสดงพลังเคียงข้างกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงที่ยืดเยื้อมากว่า 3 เดือนแล้ว ขณะที่หนังสือพิมพ์รายวัน “แดร์ ท้ากเกสชปีเกิล” ก็ขานรับไปในทิศทางเดียวกัน โดยระบุว่า ผู้อ่านส่วนใหญ่เห็นด้วยกับชื่อ “ฮ่อง-กง” สำหรับหมีแพนด้าแฝด ส่วนชื่ออื่นๆที่ได้รับเสียงสนับสนุนน้อยกว่าได้แก่ “หยิน-หยาง” “ปิง-ปอง” บางคนเสนอชื่อ “เทียนเทียน” กับ “อันเหมิน” ที่ก็สะท้อนการเรียกร้องประชาธิปไตยในจีนอยู่ดี ส่วนชื่อที่เป็นภาษาเยอรมันก็มี อาทิ “พลิช-พลุม” และ “มักซ์-โมริทซ์” ซึ่งเป็นชื่อจากนิทานพื้นบ้านสำหรับเด็กๆ 

การเมืองเรื่องแพนด้า จีนว่าไง? ลุ้นสวนสัตว์เบอร์ลินตั้งชื่อแพนด้าแฝด ‘ฮ่อง’- ‘กง’

เชื่อว่าสุดท้ายแล้ว ผลการตั้งชื่อก็คงไม่น่าจะออกมาแบบที่หลายคนคาดหวังเพราะมันคงจะระคายหูและไม่น่าพึงพอใจสำหรับรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ที่เป็นผู้มอบหมีแพนด้ามาเป็นทูตสันถวไมตรีให้กับเยอรมนีเท่าไรนัก แต่แน่นอนว่าหลายคนที่ลุ้นเอาใจช่วยการชุมนุมในฮ่องกง ก็คงจะตั้งชื่อแพนด้าน้อยฝาแฝดเอาไว้ในใจว่า “ฮ่อง-กง” กันไปแล้วเพราะความสนใจในประเด็นการเมืองกำลังร้อนระอุ อย่างไรก็ตาม ถ้ามาดูรายละเอียดของข้อตกลงในการมอบหมีแพนด้าระหว่างจีนและเยอรมนีกันอย่างจริงจัง เราอาจจะพบว่า จริงๆแล้วอย่าไปตั้งชื่อแพนด้าแฝดว่า “ฮ่อง-กง” เลยจะดีกว่า เพราะตามสัญญาที่ทำกันไว้ ถ้าหาก “เมิ่ง เมิ่ง” ให้กำเนิดลูกแพนด้าในเยอรมนี ลูกหมีก็ต้องถูกส่งคืนกลับประเทศจีนเมื่อมันอายุราวๆ 4 ปีซึ่งเป็นวัยที่ลูกแพนด้าโตพอที่จะถูกแยกออกจากแม่ของมัน ซึ่งนั่นก็จะหมายความว่า ถ้าแพนด้าน้อยชื่อ “ฮ่อง-กง” สุดท้ายแล้ว มันก็ต้องถูกส่งกลับมาตุภูมิติคืนสู่อาณัติการดูแลของจีนแผ่นดินใหญ่อยู่ดี