ข้อควรรู้ก่อนเจาะตลาดสินค้าเกษตรจีน

19 ต.ค. 2559 | 12:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ (ประมาณ 9.60 ล้านตารางกิโลเมตร) โดยแบ่งออกเป็นหลายมณฑล โดยแต่ละมณฑลก็มีขนาดใหญ่และมีจำนวนประชากรจำนวนมาก มีความแตกต่างของระดับรายได้ กำลังซื้อ รสนิยม พฤติกรรมการบริโภค รูปแบบการจับจ่ายใช้สอย เป็นต้น ดังนั้น ตลาดจีนในแต่ละภูมิภาคจึงมีลักษณะแตกต่างหลากหลาย อาทิ ผักและผลไม้ ทางภาคใต้ของจีนจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับไทย และมีบางส่วนไม่ว่าจะเป็น มะม่วง ชมพู่ ฝรั่ง ได้มีการนำเข้าโดยปราศจากภาษีนำเข้าจากไต้หวันอยู่แล้ว ผลไม้ไทยที่จะเจาะตลาดบริเวณนี้ได้จึงต้องเป็นผลไม้ที่มีศักยภาพสูงเหนือกว่าผลไม้ที่ผลิตได้ในท้องถิ่น อาทิ มังคุด ทุเรียน

ข้อควรรู้เพื่อการเตรียมตัวก่อนเจาะตลาดสินค้าเกษตรในประเทศจีน จึงมีดังนี้

1. ศึกษาลักษณะเฉพาะของมณฑล

นักธุรกิจไทยที่ต้องการเข้ามาเจาะตลาดจีนเพื่อแสวงหาโอกาสและช่องทางการค้า จำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจสภาพแวดล้อม ลักษณะสำคัญ เช่น สินค้าใดที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค การเจาะตลาดโดยการแบ่งกลุ่มตามความต้องการเป็นระดับต่าง ๆ ตามระดับรายได้ ตลอดจนต้องพร้อมปฏิบัติตามกฎระเบียบทางการค้าของจีนในระดับมณฑลด้วย

2. ระบบการกระจายสินค้า

นอกจากอุปสรรคด้านการนำเข้าแล้ว การกระจายสินค้าจากไทยเข้าสู่ตลาดภายในของจีนยังคงมีปัญหาเรื่องกระจายสินค้า โดยเฉพาะระบบขนส่งและโลจิสติกส์ภายในประเทศจีนที่ยังคงควบคุมโดยรัฐไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งระบบค้าปลีกและค้าส่ง

ปัจจุบันพบว่าแหล่งรวบรวมและกระจายสินค้าของไทย ปัจจุบันยังขาดผู้ขายส่งสินค้า (Distributors) ของไทยในตลาดจีน ที่ทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมสินค้าที่นำเข้าจากไทยและกระจายสินค้าของไทยไปยังตลาดในมณฑลต่าง ๆ ในจีน ดังนั้น ในการส่งสินค้าเกษตรไทยเพื่อไปวางจำหน่าย นอกจากจะกระจายไปยังตลาดค้าผลไม้โดยตรงแล้ว นักธุรกิจไทยยังต้องเลือกช่องทางขนส่งหรือกระจายสินค้าที่เหมาะสมกับลักษณะของสินค้าที่จะส่งไปขายในจีน รวมทั้งต้องชัดเจนว่ากลุ่มลูกค้านั้นอยู่ที่มณฑลไหน เมืองใด และจะเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางใด

3. กฎระเบียบต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับมณฑล

ในปัจจุบัน แม้ไทยและจีนได้มีความพยายามเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างกันมากขึ้นเพื่อลดกำแพงภาษีและขจัดอุปสรรคทางการค้า โดยปัจจุบันได้บรรลุข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน - จีน ส่งผลให้การหลั่งไหลเข้ามาของกองทัพสินค้าราคาถูกจากประเทศต้นกำเนิดที่มีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (comparative advantage) ในการผลิตเหนือสินค้าของจีนมีแนวโน้มว่าจะมีปริมาณมาก ซึ่งจีนจำเป็นต้องรีบหาทางปกป้องโดยด่วน แต่ในเมื่อระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO) ปิดโอกาสการใช้มาตรการทางภาษีในการกีดกันสินค้าจากภายนอก ดังนั้นจีนจึงหันมาใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTMs) เพื่อปกป้องภาคการผลิตภายในประเทศบางประเภทเพื่อปกป้องภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมภายในประเทศ ปกป้องผู้ผลิตหรือผู้บริโภคของตนแทนการกีดกันโดยใช้ภาษีหรือใช้การกำหนดปริมาณนำเข้าเช่นในอดีต ดังนั้น ทิศทางการค้าที่เริ่มมีการเปิดเสรีแบบทวิภาคีเพิ่มขึ้นก็มีความเป็นไปได้สูงที่ NTMs จะถูกใช้มากและจะมีผลครอบคลุมในวงกว้างมากขึ้น มีการนำประเด็นทางสังคมต่าง ๆ มากำหนดเป็นมาตรฐานทางการค้าระหว่างประเทศ เช่น กำหนดเงื่อนไขการตรวจสอบสินค้า ณ ด่านศุลกากร โดยเฉพาะในการนำเข้าสินค้าเกษตรกลุ่มผลไม้ ทางการจีนยังคงมีเงื่อนไขด้านสุขอนามัยที่เข้มงวด อาทิ

- การขอใบรับรองการตรวจโรคพืชและแมลง โดยต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ของรัฐด้านสุขอนามัยพืช ณ ด่านกักกันพืช ที่ท่าอากาศยาน และท่าเรือ เช่น ในการนำเข้าลำไยกำหนดให้ หากสุ่มตรวจพบโรคและแมลงต้องนำไปรมควันด้วย Methyl Bromide ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น รวมทั้งต้องมีใบรับรองตรวจสอบสารตกค้าง จากกรมวิชาการเกษตร ไม่ให้มีสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างที่เนื้อลำไยเกินกว่า 300 ppm และไม่มีสารตกค้างเมทามิโดฟอส สำหรับผลไม้ประเภทอื่น เช่น มะม่วงและทุเรียนที่จะส่งมายังจีนนั้นต้องมาจากสวนที่ผ่านการตรวจสอบและจดทะเบียนแล้วจากกรมวิชาการเกษตร ส่งผลให้สวนที่ไม่ได้ผ่านการรับรองไม่สามารถส่งเข้าไปในด่านหรือมณฑลที่มีการตรวจสอบเข้มงวดได้

- การขอตรวจสอบหนังสือรับรองถิ่นกำเนิด (Certificate of Origin) “Form E” ซึ่งออกเพื่อรับรองว่าสินค้านั้นมีกำเนิดหรือผ่านกระบวนการผลิตในประเทศของตน ระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนและประเทศจีน โดยหนังสือนี้จะใช้เพื่อขอสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากร ในบางกรณีผู้นำเข้าผลไม้ไทยก็มักถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด ส่งผลต่อคุณภาพของสินค้าที่อาจจะถูกกักตรวจ

- การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มภายในประเทศจีน แม้ภายใต้กรอบข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน - จีน อัตราภาษีนำเข้าจะลดเหลือศูนย์แล้วก็ตาม แต่จีนยังมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้นำเข้า ในอัตรา 13% สำหรับผลไม้สด และ 17% สำหรับผลไม้แปรรูป ทำให้ผู้นำเข้าผลักภาระไปให้พ่อค้าขายส่ง ขายปลีก ส่งผลให้ราคาผลไม้ของไทยสูงกว่าผลไม้ที่ผลิตในจีน

ดังนั้น ในการนำเข้าสินค้า เมื่อสินค้าต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมักใช้เวลาหลายวัน การตรวจสอบที่เข้มงวดจากด่านนำเข้าสินค้าย่อมมีผลโดยตรงต่อคุณภาพของผลไม้สด ซึ่งเป็นสินค้าที่เน่าเสียง่ายและมีระยะเวลาเก็บรักษาจำกัด นักธุรกิจไทยจึงจำเป็นต้องศึกษากฎระเบียบในการนำเข้าในแต่ละด่านนำเข้าอย่างละเอียด เพื่อหลีกเลี่ยงข้อพิพาทกับหน่วยงานจีน

4. การเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมการทำธุรกิจในจีน

เมื่อทำธุรกิจกับจีน ภาษาหลักที่ใช้ในการติดต่อสื่อสาร คือ ภาษาจีนกลาง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีความรู้ภาษาจีนในระดับดี หากไม่สามารถพูดสื่อสารภาษาจีนได้ ก็ควรใช้ล่ามที่มีความรู้และความเข้าใจพื้นฐานในประเด็นการเจรจาธุรกิจ นอกจากนี้ยังต้องศึกษาวัฒนธรรมการทำธุรกิจแบบจีนด้วย เนื่องจากการทำธุรกิจในจีนถือได้ว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะ ดังนั้น การสร้างสายสัมพันธ์หรือกวนซี่ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการอำนวยความสะดวกกับการติดต่อฝ่ายจีน เนื่องจากการทำงานติดต่อค้าขายธุรกิจกับชาวจีน ไมว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือพ่อค้าเอกชน

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับลู่ทางการค้าลงทุน และความเคลื่อนไหวล่าสุดของเศรษฐกิจจีนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (บีไอซี) www.thaibizchina.com/ หรือช่องทางใหม่ www.facebook.com/thaibizchina

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,201 วันที่ 16 - 19 ตุลาคม พ.ศ. 2559