svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม thansettakij

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
thansettakij

แคนแคน อดีต BNK48 สู่การเมือง ชู“GAP Year” แก้ปัญหา First jobber

02 เมษายน 2566

แคนแคน นายิกา ศรีเนียน อดีตสมาชิกวง BNK48 ในวันอาสาพัฒนาสังคม เปลี่ยนแปลงประเทศอย่างเต็มตัว ในวัย 25 ปี ชูไอเดีย “GAP Year” แก้ปัญหา First jobber ดันซอฟต์พาวเวอร์ หยุดแช่แข็งวัฒนธรรม

หากพูดถึงวงเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังอย่าง BNK48 หลายคนคงนึกภาพกลุ่มศิลปินหญิงที่มีแต่ความน่ารักสดใส แต่1ในอดีตสมาชิกวง BNK48 ที่เรียกว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เธอเป็นลูกสาวของ นายภูวกร ศรีเนียน อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป็นผู้ก่อตั้งพรรค และผู้ก่อตั้งกลุ่ม "เส้นด้าย" นั่นคือ แคนแคน นายิกา ศรีเนียน ที่วันนี้ก้าวขาเข้าสู่การเมืองอย่างเต็มตัว

แคนแคน เล่าเส้นทางของเธอให้กับฐานเศรษฐกิจได้ฟังว่า เริ่มจากมีความชอบในงานกิจกรรมมาตั้งแต่สมัยเรียน และด้วยความชอบดูหนัง ฟังเพลง สนใจงานศิลปะจึงทำให้ได้ออดิชั่นวง BNK และผ่านการคัดเลือกเป็นศิลปินในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งหลังจากได้ออกจากวง BNK มาแล้ว ก็ได้เริ่มเข้าไปสัมผัสการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยกลุ่มนักศึกษา ในช่วงหลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกตัดสินยุบพรรค

แคนแคน นายิกา ศรีเนียน

นอกจากนั้นการที่เป็นลูกสาว ของนายภูวกร ศรีเนียน  ทำให้ได้มีโอกาสติดตามคุณพ่อลงพื้นที่ทำกิจกรรมกับทางพรรคต่อเนื่องเรื่อยมา และยังได้ทำกิจกรรมทางสังคมให้กับครอบครัวกลุ่มผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองอีกด้วย

จากจุดนี้ แคนแคนเล่าให้ฟังว่า พบปัญหาชาวบ้านมีอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ การศึกษา ในขณะเดียวกันก็ได้รับความรู้ทางการเมืองจากพี่ๆในพรรคหลายๆคน ได้เริ่มรู้ใจตัวเองว่า ต้องการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศนี้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ โดยเริ่มจากการเป็นอาสาก้าวไกล ลงพื้นที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง

แคนแคน นายิกา ศรีเนียน

เมื่อถึงวันที่พรรคก้าวไกลเปิดรับสมัครผู้ประสงค์ลงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) แคนแคนจึงได้สมัครเข้าไปตามระบบ พร้อมผ่านการสัมภาษณ์จนไปเป็น ว่าที่ผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขต แต่เนื่องจากการแบ่งเขตใหม่โดย กกต. ทำให้ท้ายที่สุดแคนแคน จึงได้เปลี่ยนมาเป็นผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 

แคนแคน จบการศึกษาระดับ ปริญญาตรีจากคณะวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันกำลังศึกษาในระดับปริญญาโท คณะรัฐประศาสนศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง และยังเคยนั่งเป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการศึกษาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกม (Software Game) และอีสปอร์ต (E-Sport) และ ที่ปรึกษาะคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยจากขยะที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน

“เด็กยุคนี้ วัยเริ่มทำงาน(first jobber) ต้องประสบปัญหาหลายด้าน ในยุคที่เศรษฐกิจ และระบบการศึกษาไม่เอื้อต่อการเข้าถึงงานที่ต้องการทำจริงๆ”

นี่คือเสียงสะท้อนจากแคนแคน ต่อปัญหาของคนในช่วงวัยเดียวกัน เป็นเหตุผลที่ทำให้เธอต้องการเข้าไปเป็นกระบอกเสียง ในการแก้ปัญหาให้กับเด็กวัยเรียน และวัยเริ่มทำงาน เพื่อที่จะกำหนดทิศทางพัฒนาประเทศในอนาคต

“GAP Year” คือแนวคิดที่แคนแคนนำเสนอต่อพรรคเพื่อบรรจุสู่นโยบายต่อไป แคนแคนเล่าถึงปัญหาในระบบการศึกษาไทยว่า หนึ่งในนั้นคือการที่เด็กจบมาไม่ตรงกับอาชีพที่สนใจ หรือการทำงานไม่ตรงกับวิชาที่เรียนมา 

“GAP Year จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เยาวชนทุกคนจะค้นหา ทดลองทำกิจกรรม อาชีพที่ชอบ หรือสาขาที่อยากเรียนต่อ โดยต้องมีการประสานกับหน่วยงานภายนอกที่จะรับนักเรียน นักศึกษาเพื่อทดลองทำงานในช่วงดังกล่าว โดยได้รับการสนับสนุนแรงจูงใจจากภาครัฐ การเทียบคุณวุฒิ เพื่อให้ ผลงานที่ทำในระหว่าง GAP Year และช่วงเวลาปิดเทอม สามารถใช้ในการสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัย และการศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยได้”


"ซอฟต์เพาเวอร์" คืออีกหนึ่งเรื่องที่แคนแคนต้องการนำประสบการณ์ของเธอ เข้ามาขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริงกับประเทศไทย ต้องการให้ปรับมุมมองด้านศิลปะ รวมถึงหลักสูตรในการเรียนให้เห็นถึงความสำคัญ และโอกาสในการพัฒนาได้ แก้ปัญหาเรื่องการแช่แข็งวัฒนธรรม หรือด้อยค่าศิลปะในสังคมไทย

รัฐต้องไม่ผูกขาดการตีความวัฒนธรรม แต่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถดัดแปลงวัฒนธรรมต่างๆให้เข้ากับยุคสมัยได้ นี่คือสิ่งที่แคนแคนทิ้งท้าย กับเป้าหมายแรกขแงงานการเมือง ในวันที่ได้เข้าไปเป็นตัวแทนในสภา และสามารถใช้อำนาจนิติบัญญัติ รวมถึงกรรมาธิการ เพื่อขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงให้ประเทศนี้ดีขึ้นจากเดิม