เปิดประวัติ ว่าที่ 4 รมต.พรรคพลังประชารัฐ

28 ส.ค. 2566 | 11:25 น.

มัดรวมประวัติ ว่าที่ 4 รมต.พรรคพลังประชารัฐ “พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ” นั่งรองนายกฯ ควบ รมว.ทส. “ธรรมนัส พรหมเผ่า”ผงาดรมว.เกษตรฯ “สันติ พร้อมพัฒน์” รมช.สาธารณสุข “ไผ่ ลิกค์” รมช.พาณิชย์

วันนี้ (28 ส.ค. 66) มีรายงานข่าวจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่า รายชื่อแคนดิเดตรัฐมนตรีตามโควตาของ พรรคพลังประชารัฐ ที่ได้รับจัดสรร 2 รมว. และ 2 รมช.นั้น ขณะนี้นิ่งหมดแล้ว และพรรคได้ส่งรายชื่อทั้ง 4 คน ไปให้ทางพรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว

โดย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ประธานที่ปรึกษาพรรค จะนั่งรองนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)

 

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรค จะนั่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ 

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรค มีชื่อนั่ง รมช.สาธารณสุข 

และ นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร ในฐานะกรรมการบริหารพรรค มีชื่อนั่ง รมช.พาณิชย์ 

                               พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ

 

+ประวัติ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ 

สำหรับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ มีชื่อเล่นว่า “ป๊อด” เกิดวันที่ 22 มี.ค. 2492 ปัจจุบันอายุ 74 ปี เป็นชาวบางกะปิ กรุงเทพมหนาคร โดยกำเนิดเป็นบุตรคนที่ 3 ของ พลตรี ประเสริฐ วงษ์สุวรรณ กับ นางสายสนี วงษ์สุวรรณ

มีพี่น้อง 4 คน คือ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พลเรือเอก ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ, พงษ์พันธุ์ วงษ์สุวรรณ และ พันธุ์พงษ์ วงษ์สุวรรณ ที่ปรึกษารองประธาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่สอง 

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เคยเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) คนแรก ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรีทั้งหมด 3 คน ได้แก่ สมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ท่ามกลางวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553 

การศึกษา-

– มัธยมศึกษา โรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนเตรียมทหาร 

– ปริญญาตรี โรงเรียนนายร้อยตำรวจ 

– ปริญญาโท ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เส้นทางความรัก- 

สมรสกับนางสมถวิล วงษ์สุวรรณ มีธิดา 2 คน ได้แก่ พ.ต.อ.ภญ. พัชรา วงษ์สุวรรณ เภสัชกรประจำโรงพยาบาลตำรวจ (สมรสกับ พ.ต.อ. ดวงโชติ สุวรรณจรัส) และ ร.ต.อ.หญิง นวพร วงษ์สุวรรณ ผู้ช่วย นว.(สบ.1) ผบช.สตม. 

การรับราชการ-

 – รอง สว. กองบังคับการการสนับสุนนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน

– รอง สว. กองทะเบียน แล้วย้ายมาดูงานกำลังพลที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(บช.ก.)

– สว. ธุรการ กองกำกับการกำลังพล กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการสอบสวนกลาง

– ผกก.5 และ ผกก. 3 กองบังคับการตำรวจทางหลวง

– ผู้บังคับการกองพลาธิการ กรมตำรวจ

– ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

– รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3

– ผู้บัญชาการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ทนท.ประสานงานกระทรวงมหาดไทย)

– ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล

– ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

– รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

– ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

– 13 ตุลาคม 2549 ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

– 13 ตุลาคม  2549 ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี

ด้านการเมือง  ปี 2557 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ยังดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียนหลายบริษัท อาทิ 

– กรรมการ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

– กรรมการอิสระ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) 

– ประธานกรรมการกำหนดค่าตอบแทนและสรรหากรรมการ/กรรมการกำกับดูแลความยั่งยืนและบรรษัทภิบาล/กรรมการอิสระ บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน)

                          ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

 

+ประวัติ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ว่าที่รมว.เกษตรฯ 

ร.อ.ธรรม พรหมเผ่า เกิดวันที่ 18 ส.ค. 2508 ปัจจุบันอายุ 58ปี  เกิดที่ อ.ภูกามยาว จ.พะเยา 

สำเร็จการศึกษา-

-โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 25 (รวมเหล่ารุ่นที่ 2) 

-ปริญญาตรีวิทยาศาสตรบัณฑิต โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 36 รุ่นเดียวกับพลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม 

-ปริญญาโทพุทธศาสนมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พระพุทธศาสนา) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 

-ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง 

-ปริญญาเอกปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เอฟซีอี ประเทศสหรัฐ

การทำงาน-

เคยเป็น ประธานกรรมการบริษัทในเครือธรรมนัสกรุ๊ป ดำเนินธุรกิจหลากหลาย ที่สำคัญคือการถือหุ้นใน บจก.รักษาความปลอดภัย ที.พี.การ์ด ซึ่งมี พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต อดีตที่ปรึกษานายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เป็นหนึ่งในกรรมการบริษัท  และ หจก.ขวัญฤดี ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลรายใหญ่ นอกจากนี้ ร.อ.ธรรมนัส ยังเคยเป็นประธานสโมสรฟุตบอลจังหวัดพะเยา

เส้นทางการเมือง-

ร.อ.ธรรมนัส เริ่มงานการเมืองกับพรรคไทยรักไทย ปี 2542 ต่อมาในปี  2557 ได้ลงสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคเพื่อไทย  แต่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

ต่อมาเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้ายึดอำนาจ ร.อ.ธรรมนัส เป็นหนึ่งในบุคคลที่ คสช. มีคำสั่งเรียกมารายงานตัว

ขณะที่ ในปี 2561 ได้เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ โดยได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ภาคเหนือของพรรค และได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.พะเยา เขต 1ในการเลือกตั้งปี 2562

ดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ ระหว่างวันที่ 10 ก.ค.2562 – 8 ก.ย. 2564

ในปี 2564 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

วันที่ 19 ม.ค. 2565 คณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ มีมติขับร.อ.ธรรมนัส และ ส.ส. อีก 21 ออกจากพรรค 
ในวันที่ 10 มิ.ย. 2565 ด้รับการเลือกจากสมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทย ให้เป็นหัวหน้าพรรค ต่อจาก พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่ลาออกไป 

ชีวิตส่วนตัว-

สมรสกับนางอริสรา (หรือธนสร) พรหมเผ่า และใช้ชีวิตคู่ร่วมกับ ธนพร ศรีวิราช เหรัญญิกพรรคเศรษฐกิจไทย และ นางสาวไทยประจำปี 2559 มีบุตร 7 คน ก่อนดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี มีทรัพย์สินรวม 866 ล้านบาทและหลังพ้นจากตำแหน่งมีทรัพย์สินรวม 702.92 ล้านบาท

                                        สันติ พร้อมพัฒน์

 

+ประวัติ สันติ พร้อมพัฒน์ ว่าที่รมช.สาธารณสุข

สันติ พร้อมพัฒน์ เกิดเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2495 ปัจจุบันอายุ 71 ปี เป็นบุตรของ นายโซกเฮี้ยง แซ่เล้า กับ นางซิวแฮ้ แซ่ลิ้ม สมรสกับ นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ (สกุลเดิม ทองแถม) มีบุตรด้วยกัน 2 คน

การศึกษา

สันติ พร้อมพัฒน์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง (2545) ระดับปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง (2547) และผ่านการอบรมหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) รุ่นที่ 11 (2549-2550)

สันติ ได้รับปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ในปี 2552

การทำงาน

สันติ พร้อมพัฒน์ ประกอบธุรกิจ เป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัท นวพัฒนาธานี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจประเภท พัฒนาที่ดิน อสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรม ผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักร และชิ้นส่วนรถยนต์ 

ต่อมาได้เข้ามาทำงานการเมืองโดยการเป็นที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย (พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ) ในปี 2537 และเป็นกรรมการบริหารพรรคความหวังใหม่ จากนั้นได้สมัครเข้ารับเลือกตั้งและเป็น ส.ส.เพชรบูรณ์ 2 สมัย คือ ในปี  2538 และ  2539

วันที่ 6 ต.ค. 2542 เป็นผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการมูลนิธิ สันติ พร้อมพัฒน์

จากนั้น ได้ย้ายเข้ามาร่วมกิจกรรมกับพรรคไทยรักไทย และลงสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ในปี 2548 และระบบสัดส่วน พรรคพลังประชาชน ในปี 2550 

จนกระทั่งได้รับตำแหน่ง รมว.คมนาคม ในรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

สันติ พร้อมพัฒน์ เป็นหนึ่งในแนวร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.  และเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ต่อมาได้ลาออกจากการเป็น ส.ส. เพื่อเปิดทางให้มีการเลื่อนบุคคลอื่นขึ้นมาเป็น ส.ส.แทน กระทั่งในเดือน มิ.ย. 2556 ได้ถูกปรับไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ในการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2557 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 15 แต่การเลือกตั้งถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้เป็นโมฆะ เนื่องจากไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งทั้งราชอาณาจักรในวันเดียวกันได้ ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญ
 

7 พ.ค. 2557 สันติ พร้อมพัฒน์ ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องในการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรีจากตำแหน่งเลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยขาดความชอบธรรม

18 พ.ย.2561 สันติ ได้ย้ายมาสังกัด พรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับสมาชิกกลุ่มสามมิตรกว่า 60 คน

ในปี 2562 สันติ พร้อมพัฒน์ ได้รับแต่งตั้งเป็น รมช.คลัง ในรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

3 เม.ย. 2565 ได้รับตำแหน่งเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ต่อมาในวันที่ 29 ก.ค. 2566 ได้รับแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ 

                               ไผ่ ลิกค์
+ไผ่ ลิกค์ ว่าที่ รมช.พาณิชย์

ไผ่ ลิกค์ เกิดวันที่ 20 เม.ย. 2521 ปัจุบันอายุ 45 ปี เป็นบุตรของนายเรืองวิทย์ ลิกค์ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวงและสมาชิกบ้านเลขที่ 111 กับนางปราณี โชติรัชต์กุล มีน้องชาย คือ นายภูผา ลิกค์ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการ รมว.เกษตรและสหกรณ์ 

การศึกษา จบปริญญาตรีนิเทศศาสตรบัณฑิต คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม 

หลังสำเร็จการศึกษา ได้กลับมาสานต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัว แต่ด้วยความที่ชอบเครื่องจักรและยานยนต์มาตั้งแต่เด็ก จึงได้คิดเริ่มขยายธุรกิจมายังแวดวงรถยนต์และเต๊นท์รถมือสอง

ที่มาของชื่อ "ไผ่ วันพอยท์" นั้น ปรากฏชื่อเข้าร่วมแข่งขันอยู่ในวงการมอเตอร์สปอร์ตมากหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นรายการแข่งเซอร์กิต, แดร๊ก, ดริฟท์หรือยิมคาน่า โดยนายไผ่เป็นหนึ่งในนักแข่งของทีมวันพอยท์ จึงเป็นที่มาของฉายา ไผ่ วันพอยท์

ด้านงานการเมือง

หลังจากที่บิดาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองพร้อมกับกลุ่มบ้านเลขที่ 111 ไผ่ จึงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ครั้งแรก ในปี 2550 สังกัดพรรคพลังประชาชน แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง 

ต่อมาปี 2554 ลงสมัครอีกครั้ง และได้รับการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก โดยเอาชนะ นายสุขวิชชาญ มุสิกุล บุตรชาย นายปรีชา มุสิกุล จากพรรคประชาธิปัตย์ และเข้าดำรงตำแหน่งโฆษกคณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร

24 พ.ย. 2561 ไผ่ ได้ย้ายมาสังกัด พรรคพลังประชารัฐ และได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 

กระทั่ง 21 ธ.ค. 2562 ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ

ไผ่ ลิกค์ ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.กำแพงเพชร มาแล้ว 3 สมัย คือ

การเลือกตั้งในปี 2554 สังกัดพรรคเพื่อไทย

การเลือกตั้งปี 2562   สังกัดพรรคพลังประชารัฐ

การเลือกตั้ง ปี 2566 สังกัดพรรคพลังประชารัฐ

*ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก วิกิพีเดีย