เปิดกระบวนการจัดการเลือกตั้งปกติที่ “กกต.” ไม่เคยอธิบาย

13 พ.ค. 2566 | 11:13 น.

เปิดกระบวนการจัดการเลือกตั้งปกติ ที่ กกต. ไม่เคยอธิบาย ทั้งเรื่องการกระจายบัตรเลือกตั้ง การเก็บรักษา การรับมอบบัตร การส่งบัตร การนับคะแนน และ การโกงเลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ทางโลกโซเชียลมีเดีย ได้มีการเผยแพร่บทความที่เขียนโดย “ปลัดน้อย” ซึ่งเป็นการตั้งข้อสังเกตการทำงานของ เจ้าหน้าที่ กกต. ได้อย่างน่าสนใจ โดยใช้หัวข้อเรื่อง “กระบวนการจัดการเลือกตั้งปกติ ที่ กกต.ไม่เคยอธิบาย” มีเนื้อหาระบุว่า  

1.กกต. ตั้ง กกต.เขต  3 คน และ ผอ.กกต.เขตเกิดจากการทาบทาม (ส่วนมากก็มาจากฝ่ายปกครอง ตำรวจ ข้าราชการอื่น) มีลักษณะเป็นเฉพาะกิจ ให้อำนาจแต่งตั้ง อนุกรรมการ ผู้ช่วยต่างๆ (ปกติก็บุคลากรของอำเภอ) มีหน้าที่ในการขับเคลื่อนทุกอย่างเกี่ยวกับการเลือกตั้งในพื้นที่ ไม่ว่าหาคน หาของ จัดซื้อจัดจ้าง จัดอบรม และแต่งตั้งกรรมการประจำหน่วย เพื่อดำเนินการจัดการลงคะแนนในหน่วยต่างๆ 

2.กกต.จัดส่งบัตรเลือกตั้งจากโรงพิมพ์โดยไปรษณีย์มาให้ กกต.เขต (ปกครองอำเภอเป็นส่วนใหญ่) ส่งเป็นกล่องๆ ละ 50 เล่มๆ ละ 20 ใบ  (ระบุเลขชัดเจนทุกกล่อง ทุกเล่ม ทุกฉบับ) กรรมการระดับเขตตรวจรับตามบัญชีที่ไปรษณีย์นำส่งมา

3. กกต. เขต ส่งบัตรกระจายให้ อนุกรรมการอำเภอในเขตเก็บ รักษา/แจกจ่าย (กรณีรวมหลายอำเภอ) 

4. กรรมการที่ได้รับมอบหมาย ลงนามมอบบัตร (หน้าเล่ม) จัดบัตรเลือก (รันตามเลข) เพื่อมอบให้ กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง จำนวน 9 คน หรือมากกว่าตามสัดส่วนผู้มีสิทธิ (ส่วนใหญ่ก็ เป็น ข้าราชการ/ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน / ครู / อบต. / ชาวบ้าน ที่ได้รับแต่งตั้ง) และ รปภ. 2 คน

5.กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) มารับบัตร พร้อมวัสดุ อุปกรณ์และบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ ตรวจนับและลงนามรับไปรักษาก่อนวันเลือกหนึ่งวัน (13 พ.ค. 66) สำหรับบัตรรับไปตามจำนวนผู้มีสิทธิรายหน่วย หากมีเศษไม่เต็ม 1 เล่ม (20ใบ) ก็จะจ่ายให้เต็มเล่มไป (ที่ถามหาว่าบัตรที่พิมพ์เกินไปไหน ก็อยู่ตรงนี้เป็นส่วนใหญ่) 

6.วันเลือก (14 พ.ค.66) กรรมการประจำหน่วยก็จะนำทุกอย่างที่ได้รับไปเปิดหน่วย ขั้นตอนคร่าวๆ  ก็ตรวจรายชื่อผู้มีสิทธิ => เอกสารยืนยันตัว => ลงนามใช้สิทธิ  => รับบัตร => ลงคะแนน => หย่อนลงหีบตามสีที่ระบุ

7.หมดเวลา (17.00 น.)  กรรมการประจำหน่วยนับคะแนนที่หน่วยโดยเปิดเผย สรุปผลคะแนน ติดหน้าหน่วย แล้วนำผลคะแนนพร้อมบัตรที่ใช้แล้ว ต้นขั้ว บัตรที่เหลือ อุปกรณ์  มาส่งที่เขตเลือกตั้ง หรือ อ.ที่รวมคะแนน (มืดแน่นอน)

8.เจ้าหน้าที่รับหีบตรวจเช็ค ผลคะแนนยอดบัตร ยอดมาใช้สิทธิ สัมพันธ์กันหรือไม่ ถ้าถูกต้องก็จะรับเอกสารดังกล่าว พร้อมอุปกรณ์มาเก็บรักษา ส่งผลคะแนนให้เจ้าหน้าที่รวมคะแนน

9.เจ้าหน้าที่รวมคะแนน บันทึกข้อมูลผลคะแนน เพื่อออกผลไม่เป็นทางการ และผลอย่างเป็นทางการ

10.เมื่อส่งหีบครบ (ไม่ต่ำกว่าสามถึงสี่ทุ่ม) เจ้าหน้าที่จะยุบรวมหีบ เข้าด้วยกัน  แล้วทำบันทึกรายละเอียดติดข้างหีบไว้  เพื่อง่ายต่อการเคลื่อนย้ายส่งมอบ กกต.จังหวัด ต่อไป

11.เขตเลือกตั้งรายงานผลคะแนนอย่างเป็นทางการ ให้ กกต. แล้วประกาศหรือขึ้นบอร์ดที่เขตเลือกตั้งต่อไป 
#ความเป็นไปได้ในการที่อาจจะโกงเลือกตั้ง ที่ กกต. ไม่เคยอธิบายเช่นกัน

เมื่อดูขั้นตอนแล้ว ลองมาคิดเล่นๆ กันว่า จะมีวิธีไหนบ้างเอื้อให้เกิดการทุจริตได้ โดยเจ้าหน้าที่ได้บ้าง

1.โอกาสที่จะทุจริตในหน่วยเลือกตั้ง

(1) กรรมการ กาบัตรเพิ่มเอง หย่อนเอง อันนี้เห็นชัดว่า ต้องเกิดขึ้นจากความพร้อมใจกันทุกคน  เพราะเหตุว่า คงไม่อาจหงุบหงิบทำกันเองได้ จึงทำได้ยาก คิดแบบเลวร้ายถึงขั้นซื้อทั้งหน่วย ซึ่งปกติก็มีผู้มีสิทธิเฉลี่ยแค่ 800 คน  คงเพิ่มคะแนนได้ไม่มาก  และการเบิกบัตรออกมาใช้ก็ต้องลงชื่อในบัญชีใช้สิทธิ  โอกาสจะโป๊ะว่า ไม่มา แต่มีชื่อใช้สิทธิ ซึ่งตรวจสอบได้ง่ายมาก ครั้นจะเอาบัตรไปใช้กาเฉยๆ  ตัวเลขมันก็ไม่สัมพันธ์กับผู้มาใช้สิทธิในบัญชีอยู่ดี  ใครหนอจะมาเสี่ยงคุกโง่ๆ

(2)  ขานผิดเบอร์ / ขีดคะแนนผิดเบอร์   ถ้าใครเคยไปลุ้นคะแนนคงเห็นว่า ต้องแสดงบัตรเลือก และให้ประชาชนไปดูได้ แถมคัดค้านได้  เดี๋ยวนี้จึงไม่ง่ายแล้ว

(3)  เปลี่ยนผลคะแนนระหว่างทาง  สามารถทำได้  แต่กรรมการก็ต้องมีสรุปผลติดหน้าหน่วยอยู่ดี และมีสักขีพยานรับทราบผลอยู่ดีตั้งแต่ตอนนับเสร็จ  (ปีนี้มีแสกนลงเว็บรายหน่วยด้วย) จึงเป็นไปได้ยาก

2.โอกาสที่จะทุจริตในระดับเขตเลือกตั้ง

1) เปลี่ยนผลคะแนนรายหน่วยที่เอามาส่ง ก็คงเช่นเดียวกับข้อก่อนหน้า ใครจะกล้าเปลี่ยน เพราะหลักฐานการส่ง-รับ ผลคะแนนรายหน่วยมันมีอยู่

2) จะกาบัตรเพิ่มที่เขต อันนี้ยิ่งเป็นไปไม่ได้  เพราะกาเสร็จจะให้ใครนับให้  เพราะคะแนนเกิดที่หน่วยเลือกตั้ง จะยัดไปตอนไหนก็คงไม่มีผล ย้อนดูข้อ 1 ได้

#สุดท้ายจะบอกว่า เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจริงๆ ไม่มีเจ้าหน้าที่ที่สังกัดสำนักงาน กกต.เลยสักคน จะผิดจะพลาดก็คงมีบ้าง เพราะปกติก็นานๆ ทำที  ขนาดคนรับผิดชอบโดยตรง 4 ปี ทำงานที ยังผิดพลาดเลย นับประสาอะไรกับคนมาอบรมห้าหกชั่วโมง 

ดังนั้น จะไปใส่ความว่าเขาทุจริต ก็คงจะกล่าวร้ายกันเกินไป ทั้งที่เค้าเสียสละมาทำงานนี้ ถึงจะมีค่าตอบแทนก็เล็กน้อยมากเทียบกับเนื้องาน ถ้าใครอยากรู้ ต้องลองมารับผิดชอบเสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางดูครับ  ท่านจะเข้าใจเอง 

ปล. ผู้ที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าและขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกเขตจังหวัดไปแล้ว และเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ไม่ได้ไปเลือก วันพรุ่งนี้ บุคคลเหล่านี้ไม่สามารถมาใช้สิทธิ์ที่หน่วยเลือกตั้ง เดิมของตนเองได้นะจ๊ะ

#โค้งสุดท้าย

#คนใช้ปากทำงานไม่มีทางรู้เท่าคนใช้แรงทำงานหรอก

#การเมืองอย่าไปอินมากนักมันก็โลกมายาโลกนึง