เลือกตั้ง66 วิธีเช็ค “ชื่อผี” โผล่ในทะเบียนบ้าน แจ้งถอนก่อน 3 พ.ค. 66

23 เม.ย. 2566 | 22:00 น.

เลือกตั้ง66 ใกล้เข้ามาทุกที มีเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญนอกจากการเตรียมพร้อมเลือกตั้งเเล้ว นั่นก็คือ วิธีเช็ค “ชื่อผี” โผล่ในทะเบียนบ้าน ซึ่งสามารถแจ้งถอนก่อน 3 พ.ค. 66 เท่านั้น

เกาะติดเลือกตั้ง 2566 เหลือเวลาอีกเเค่ 2 สัปดาห์เท่านั้น สำหรับการเลือกตั้งไทย 66 หลายคนที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าเอาไว้ ก็คงเตรียมตัวเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พ.ค.2566 นี้ เข้าคูหากากบาทพรรคที่ชอบ นโยบายที่ใช่ 

 

นอกจากการเตรียมพร้อมการเข้าคูหาเลือกตั้งแล้ว ยังมีอีกเรื่องที่ควรให้ความสำคัฐ สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง66 เกี่ยวข้องกับการมีชื่อในทะเบียนบ้านเป็นอย่างมาก ข้อมูลนี้น่าสนใจจาก ilaw ระบุว่า เพื่อรู้ว่าตนเองต้องไปเลือกตั้งที่คูหาใด เลือกพรรคใด และจะเลือกใครมาเป็น ส.ส. เขต ข้อควรระวังที่กลับมาแทบในทุกการเลือกตั้ง คือ การมี "ชื่อผี" โผล่อยู่ในทะเบียนบ้านของประชาชน

ก่อนจะไปถึงวิธีการตรวจสอบ เราต้องทราบก่อนว่า "ชื่อผี" คืออะไร 

"ชื่อผี" หมายถึง ชื่อของบุคคลอื่น หรือชื่อของผู้ไม่ได้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่ปรากฎอยู่ในรายชื่อทะเบียนบ้านของเจ้าบ้าน นี่ถือเป็นความผิดปกติ และอาจจะเปิดช่องโหว่ให้มีการโกงผลคะแนนในการเลือกตั้งที่กำลังมาถึงได้

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อธิบายขั้นตอนการจัดการกับชื่อผีเอาไว้ดังนี้ กรณีที่ประชาชนตรวจพบว่า

  1. ไม่มีชื่อตนเอง ในรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
  2. ไม่มีชื่อของผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของตน ในรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
  3. พบรายชื่อของบุคคลอื่น ปรากฎอยู่ในทะเบียนบ้านของตน
  4. พบรายชื่อผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ปรากฎอยู่ในทะเบียนบ้านของตน
  5. พบรายชื่อของผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ปรากฎในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้ง

ให้รีบยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่น โดยแนบหลักฐานดังต่อไปนี้

  1. สำเนาทะเบียนบ้าน
  2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือ
  3. บัตรประจำตัวอื่นใดที่ราชการออกให้

การแจ้งเพิ่ม-ถอนชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกจากรายชื่อหรือทะเบียนบ้าน สามารถทำได้ภายในวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 เท่านั้น

อ้างอิงตามข่าวประชาสัมพันธ์ของ กกต. ระบุว่า ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อดังกล่าวได้จากแหล่งต่างๆ ดังนี้ 

  1. บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้ง
  2. บริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง (เฉพาะหน่วยเลือกตั้งที่อยู่ในเขตอำเภอ หรือในเขตการปกครองท้องถิ่น)
  3. หนังสือแจ้งเจ้าบ้าน
  4. แอปพลิเคชัน Smart Vote
  5. เว็บไซต์ สำนักบริการทะเบียน กรมการปกครอง https://boraservices.bora.dopa.go.th/election/enqelection/

การมีชื่อผีไปเลือกตั้งตามคูหาต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย เป็นปัญหาต่อการพัฒนาระบบประชาธิปไตย และจะส่งผลเสียในระยะยาวต่อสถานการณ์การเมืองไทยต่อไป